xs
xsm
sm
md
lg

การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การจัดทำสถานการณ์จำลองของอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ (Scenario of plausible futures) ทางการเมืองของประเทศไทยในห้วงยามนี้คงไม่มีใดดีไปกว่าการครุ่นคำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่เลวร้ายสุด (Worst-case scenario) เพื่อเตรียมการป้องกันที่ดีที่สุด เพราะการชุมนุมสาธารณะซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้โดยไม่สอดคล้องหลักสากล (Universal) กระทั่งสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นมา ด้วยไม่รู้ว่าเมื่อใดจะจลาจลวุ่นวาย

เมื่อการชุมนุมส่วนหนึ่งตกอยู่ใต้ครรลองของอำนาจนิยมเพราะผู้นำและเข้าร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งเชื่อว่าความรุนแรงเป็นทางออกของวิกฤต การสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงทุกวิถีทางจึงคู่เคียงมากับความกลัวในใจผู้คน ทั้งๆ ควรปีติที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นพลเมืองกระตือรือร้น (Active citizen)

หากทว่าข้อเท็จจริงกลับตรงข้าม เมื่อการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนทางการเมืองของผู้คนที่มีเจตจำนงร่วมกันบางคราได้กลายเป็นปฏิบัติการความรุนแรงรูปแบบต่างๆ นานาเพราะผู้นำและร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งชื่นชมอำนาจนิยม จนผู้คนในสังคมเครียดขึ้งถึงขั้นบางคราวครั้งขาดผึง ลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้เสรีภาพที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมนี้อย่างเข้มแข็ง กระทั่งปะทะบาดเจ็บล้มตายไม่น้อย โดยส่วนมากความสูญเสียจะอยู่ในหมู่ผู้ปกป้องสิทธิเสรีภาพตนเอง

สุดท้ายปลายทางของการใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยไปในครรลองของความรุนแรงคือหายนะทั้งในส่วนของผู้ชุมนุมและประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมหากแต่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน กระทั่งถูกประชาชนเหมารวมว่าการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนทุกครั้งคืออันตรายที่ต้องขจัด

ซ้ำร้ายกว่านั้นการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นมาด้วยเครื่องมือประชาธิปไตยที่ถูกใช้ไปในทางรุนแรงละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้คนในสังคมเช่นนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชนจากความเกลียดกลัวการชุมนุมด้วยวิธีการเฉียบขาดรุนแรง ลุแก่อำนาจขนาดทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุมได้โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนท่วมท้น

ระยะยาวการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่ไม่สงบและปราศจากอาวุธตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 ที่คงเดิมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 ที่ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัตรตั้งแต่ปี 2539 และมีผลบังคับเมื่อ 30 มกราคม 2540 จึงทำลายเสรีภาพตนเอง ดุจเดียวกับ ‘สนิมเกิดแต่เนื้อในตน’ กร่อนกัดพลานุภาพการเจรจาต่อรองเรียกร้องของตนเองลงจนสิ้น

สนิมเกิดแต่เนื้อในตนฉันใด เสรีภาพการชุมนุมที่ถูกทอนลดลงจนเกือบสูญสิ้นก็เกิดจากจลาจลวุ่นวายและพกพาอาวุธฉันนั้น ซึ่งเหตุปัจจัยนี้ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากประเทศไทยไม่มีกรอบกติกากำกับควบคุมการชุมนุมที่เคร่งครัดเข้มข้นเหมือนนานาอารยประเทศประชาธิปไตยที่ฟากรัฐบาลไม่อาจลิดรอนจำกัดเสรีภาพการชุมนุมประท้วงเดินขบวนเรียกร้องของประชาชนได้ โดยอาศัยเหตุผลใดๆ ที่นอกเหนือจากเหตุผลอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ขณะฝั่งผู้ชุมนุมเองก็ไม่สามารถสร้างความรุนแรง ละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่นอย่างร้ายแรงเพราะมีกติกาว่าด้วยการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธควบคุมกำกับชัดเจนแน่นอน รู้ว่าเคลื่อนไหวได้แค่ไหนอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย

ในประเทศเหล่านี้ เสรีภาพการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนที่พัฒนาต่อยอดจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลแต่ละคนมาสู่การแสดงความคิดเห็นแบบกลุ่ม (Collective) จึงได้รับการคุ้มครองจากรัฐและได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากเพราะเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธตามหลักการใช้เสรีภาพนี้ และที่สำคัญทุกภาคส่วนยอมรับว่าการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนของพลเมืองคือดัชนีวัดพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รวมถึงสะท้อนประสิทธิภาพการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาด้วย

ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยมายาวนานจึงต่างมีกฎหมายรับรองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ (Public assembly) ที่เป็นไปโดยสงบโดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ห้ามการแทรกแซงขัดขวางการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนห้ามสลายการชุมนุมด้วยมาตรการที่รุนแรงไม่ได้สัดส่วนพอควรแก่กรณี และไม่เป็นไปตามขั้นตอนจากระดับเบาไปหนักอันเป็นวิธีที่ยอมรับกันทั่วไป

ในขณะเดียวกันกฎหมายฉบับเดียวกันก็ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม คุ้มครองการสาธารณสุข หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่สามด้วย

ด้านประเทศไทยที่มีสายธารประชาธิปไตยนานกว่า 7 ทศวรรษและรับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นั้น แต่เดิมประชาชน โดยเฉพาะระดับล่างจะใช้เครื่องมือนี้ไปเพื่อเรียกร้องและสะท้อนวิกฤตความเดือดร้อนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตนไปถึงรัฐบาล หากทว่าปัจจุบันกลับถูกใช้ไปในฐานะเครื่องมือสื่อสารความคิดเห็นทางการเมือง เรียกร้อง คัดค้าน ต่อต้านรัฐบาล เป็นหลักมากสุด ซึ่งกระจายตัวสู่พลเมืองทุกระดับชนชั้นมากขึ้นด้วย

โดยที่สำคัญการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนทางการเมืองได้ทวีแนวโน้มความรุนแรงไร้สันติอหิงสาขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพื่อจะบรรลุความต้องการของผู้จัดการชุมนุม/ผู้นำชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุม

การตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในการใช้เครื่องมือสื่อสารความคิดเห็นและเรียกร้องต้องการทางการเมืองจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยที่ต้องการศานติสุข สมานฉันท์ ยุติธรรม เท่าเทียม ไม่สองมาตรฐาน หรือเลือกปฏิบัติ

ด้วยถึงที่สุดแล้ว พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวน พ.ศ. ... ที่มุ่งสร้างสมดุล 3 ฝ่ายระหว่างเสรีภาพของผู้ชุมนุมในที่สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ประโยชน์สาธารณะและความสงบเรียบร้อยมั่นคงของบ้านเมือง และสิทธิเสรีภาพของบุคคลผู้ได้รับผลร้ายจากการชุมนุมในที่สาธารณะ

โดยสาระสำคัญจะกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน กำหนดอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม จัดสรรการใช้พื้นที่สาธารณะ วางหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขในกรณีต้องระงับหรือยุติการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ อันจะป้องปรามไม่ให้รัฐบาลใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามสลายชุมนุมจนสูญเสียทรัพย์สินชีวิตและสูญหายมากมาย ดัง 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, 17-20 พฤษภา 35 และ 7 ตุลา 51

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ถูกโทษทัณฑ์ทางวินัยและอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายหรือคำสั่งการผู้บังคับบัญชาที่ส่วนมากเสพติดอำนาจนิยม ขณะเดียวกันผู้นำและร่วมชุมนุมก็จะจัดตั้งและเคลื่อนไหวในท่วงทำนองที่เคารพสิทธิประชาชนทั่วไปและรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมยิ่งขึ้น ไม่มุ่งก่อความหวาดกลัวหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยมั่นคงของรัฐโดยตรงโดยปลุกระดมฝูงชนให้ใช้ความรุนแรง ใช้กำลังคุกคามทำลายทรัพย์สิน ลอบวางเพลิง วินาศกรรม หรือกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ

โดยสรุป พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกลไกให้การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนเป็น ‘ปฏิบัติการเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม’ ยิ่งขึ้น ทั้งในฟากฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมดูแล กระทั่งอาณาจักรแห่งความกลัวที่สถาปนาจากการใช้เสรีภาพการชุมนุมไปในครรลองของความรุนแรงล่มสลายได้ ด้วยถ่องแท้แล้วกฎหมายนี้วางอยู่บนหลักการป้องกันล่วงหน้า (Precautionary principle) ที่เป็นมาตรการจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันผลกระทบจากการกระทำที่นำอันตรายร้ายแรงมาสู่สังคม

อนาคตสถานการณ์ความเป็นไปได้เลวร้ายสุดที่ประเมินอย่างหวาดหวั่นไว้ว่าอาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนที่เชื่อมั่นในอำนาจนิยมจักไม่เกิดขึ้น ด้วยมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่มุ่งคุ้มครองมากกว่าจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมเป็นกรอบกติกาการใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐที่ทุกภาคส่วนยอมรับเอกฉันท์ว่าเท่าเทียม ยุติธรรม ไม่ปฏิบัติสองมาตรฐาน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยสานสมานฉันท์สันติสุข แม้จะคงเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อเจรจาต่อรองอยู่ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น