xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเอาความรุนแรงมากดดันเพื่อเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

--การบิดเบือน ละเมิด จาบจ้วงต่อสถาบันฯ รัฐจะมีกลไกควบคุมอย่างไร
เรื่องของข่าว จะขอพูดในภาพรวมก่อน อย่าเพิ่งไปเจาะจง หลักที่พยายามทำงานกับสื่อมาตลอด ก็คือให้สื่อกำกับดูแลตัวเองให้มากที่สุด เพราะหากให้รัฐเข้าไปดูแลทุกเรื่อง เราจะมีความเสี่ยงมากในเรื่องของการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
รัฐไม่ว่าจะยุคไหนก็ตามคนบริหารเป็นนักการเมือง ไม่มียุคไหนที่ไม่ใช่นักการเมือง จะมาด้วยระบอบไหน วิธีไหน ก็ถือว่าคนมานั่งตรงนี้เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น เมื่อเป็นนักการเมืองแล้วใช้อำนาจ มันมีความเสี่ยงในการที่จะให้ไปชี้ว่า คุณพูดอะไรได้ พูดอะไรไม่ได้ อันนั้นเรื่องประการแรกนะครับว่า ดีที่สุดนี้ สื่อต้องใช้สิทธิเสรีภาพได้เต็มที่ แต่ต้องกำกับดูแลตัวเองด้วย
อันที่สองก็คือว่า ขอบเขตมันมี ซึ่งขอบเขตก็คือเรื่องของกฎหมาย เราจะไปบอกแต่ว่า กฎหมายหมิ่นประมาทมีอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเราก็ทราบว่าเวลาใครถูกหมิ่นประมาทไปฟ้องคดี กว่าจะตัดสินดีไม่ดี 3 ศาล อาจจะใช้เวลาถึง 10 ปี จนคนลืมไปแล้ว ซึ่งคนได้รับความเสียหายก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับเขา เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องดู แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องหมิ่นประมาท ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลไป
ส่วนกรณีของการจาบจ้วงสถาบันฯ เราก็มีกฎหมายชัดเจน เป็นประมวลกฎหมายอาญา เพราะว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักของชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง เราไม่ได้มีกฎหมายพิเศษ บางคนชอบไปพูดเหมือนกับเรามีกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญา แล้วก็เป็นหลักเดียวกัน เรื่องของการที่ไปละเมิดบุคคลอื่น แต่ว่าเนื่องจากว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นจะต้องกำหนดเอาไว้เป็นความผิดในด้านความมั่นคง ก็คือความผิดต่อแผ่นดิน แล้วก็มีการดำเนินการ แต่ตอนหลังนี้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สืบเนื่องมาจากว่า ปัญหาเรื่องการจาบจ้วง ทำให้เกิดความหวาดกลัวของเจ้าหน้าที่ ว่าไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เข้าข่าย ไม่เข้าข่าย เพราะมักจะเหมาว่าเข้าไว้ก่อน ก็เลยนำไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ความจริงตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหา
ขณะนี้ได้แก้ปัญหานี้ไปแล้ว โดยการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา จะเรียกว่าเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย จะมีปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามา และก็เน้นย้ำว่า ขอให้ดูเรื่องเจตนา บางทีการแสดงความคิดเห็น แม้กระทั่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ ผมถือว่าสามารถทำได้ แต่ว่าถ้าแสดงการอาฆาตมาดร้าย มีเจตนาในการที่จะกระทบกระเทือนถึงสถาบันความมั่นคงก็ผิดกฎหมาย และเราก็ต้องดูข้อเท็จจริงด้วย บางครั้งไปเกี่ยวกับคนต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจประเพณีวัฒนธรรมของประเทศไทย ก็ขอให้ดูความเป็นจริง ดูตามเจตนา แล้วก็ต้องกล้าที่จะตัดสินตรงไปตรงมา คือหลายคนไปกลัวว่า ถ้าก้ำกึ่ง หรือไม่แน่ใจเข้าข่ายหรือเปล่า ก็รับเข้ามาก่อน ตำรวจก็ส่งอัยการ อัยการก็ส่งศาลไปก่อน มันก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกความขัดแย้ง บางทีก็บอกความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ผมกำลังคลี่คลายโดยการมีคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งเริ่มทำงานไปตั้งแต่ประมาณปลายปีที่แล้ว และตอนนี้ก็กำลังไล่ดู และจะวางแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่เขาอาจจะสับสนอยู่ว่าอะไรเป็นอะไรมีความชัดเจนมากขึ้น

--ในช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุทางการเมือง คดีลักษณะนี้มีมากขึ้นหรือไม่
มีมากขึ้น และเหตุผลหนึ่งที่เป็นปัญหาจากสภาพหลายๆ อย่างก็คือว่า พอมันเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ก็หมายความว่าใครก็ไปร้องทุกข์ใครก็ได้ เพราะฉะนั้นพอใครไปร้องทุกข์ใครก็ได้ นี้มันก็ไม่เป็นไร ถ้าเจ้าหน้าที่มีความชัดเจน บอกนี่ร้องมาอย่างนี้มันชัดเจนว่ามันไม่ใช่ จะมาพยายามสร้างเป็นประเด็นเป็นเงื่อนไขขึ้นมา ก็ตัดไป แต่เพราะความที่คนมองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็เลยทำให้รับทุกอย่างเข้าไว้ มันก็เลยเป็นปัญหา
แต่ว่าที่มันยากกว่าก็คือว่าหลายเว็บไซต์ เขาเปิดกระดานแสดงความคิดเห็น ก็จะมีคนส่งความเห็นเข้าไป ซึ่งบางทีผิดกฎหมายชัดเจน ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะควบคุมกันได้ง่าย ๆ เราก็วางกติกาให้ดี ไม่ใช่พอมีอะไรปั๊บก็บอกไปปิดเว็บไซต์เขา มันไม่ถูกต้อง แต่การวางกติกาก็คือ ถ้าข้อความไหนมันผิดกฎหมาย แล้วเจ้าของเว็บ หรือตัวผู้บริหารเว็บ ยังไม่ทราบ เบื้องต้นเราต้องพยายามแจ้งไป แล้วก็บอกว่าอันนี้ต้องไปลบออก ซึ่งหลายเว็บเขาก็จะทำ คือขอให้เขาบริหารกันเองดีที่สุด

--มีการโพสต์ข้อความไปขยายผลในสื่อของวิทยุชุมชน เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองมากขึ้น
ผมได้ทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่ หลายเรื่องเป็นเรื่องซึ่งจะบอกว่าเป็นเรื่องใหม่ก็ไม่เชิง แต่ว่าเป็นเรื่องซึ่งยังขาดความชัดเจน กรณีวิทยุชุมชนก็เหมือนกัน บังเอิญเราก็มาอยู่ในช่วงรอยต่อของกฎหมายที่จะต้องมี กสทช. และตัว กทช. ปัจจุบันก็เหมือนกับเป็นการจัดระเบียบชั่วคราวในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพื่อที่จะนำมาสู่การมีระบบใบอนุญาต แต่ประเด็นก็เป็นอย่างนี้อีก
สมมติว่ามีสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง มีผู้จัดรายการ ผมก็บอกไปแล้วว่า ถ้าผู้จัดรายการพูดข้อความที่ผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างว่าเชิญชวนไปเผาบ้านเผาเมือง เชิญชวนไปอย่างนั้นอย่างนี้ ผมบอกว่าก้าวแรกนี่จริงๆ ตัวคนพูดทำผิดอาญา อย่างนี้ควรจะดำเนินการกับตัวบุคคลก่อน เพราะว่าเรื่องสถานีก็จะเป็นกรณีคล้ายๆ กับเว็บไซต์บ้าง สถานีโทรทัศน์บ้าง ว่าบางทีตัวผู้รับใบอนุญาตเจ้าของสถานี ถ้าเป็นรายการสด ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมได้ แถมบางทีก็ไม่ใช่ตัวคนจัดรายการเสียอีก มีคนโทรศัพท์เข้ามาคุยกัน แต่ว่าเรานี้ต้องรู้จักพยายามทำให้สังคมใช้สิทธิเสรีภาพอยู่ในขอบเขตให้ได้ และการดำเนินการเรื่องนี้ก็จะไม่ละเลย แต่เวลาที่สมมติว่าสถานีไหนเริ่มมีพฤติกรรมชัดเจน ก็จะต้องเข้าไปดำเนินการ แต่เราก็จะเห็นใช่ไหมว่า เวลาเข้าไปดำเนินการก็จะมีอีกฝ่ายหนึ่งร้องขึ้นมาทันทีว่า ไปสร้างเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามเรียกร้องในสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้คือว่า ขอให้ทุกคนทำจิตใจให้เที่ยง และก็ดูว่าแต่ละเรื่องที่รัฐบาลหรือการใช้อำนาจของภาครัฐ จะเป็นอย่างไร เพราะผมเป็นคนที่ยืนยัน และผมคิดว่าได้พิสูจน์มา 1 ปีว่าผมไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพใคร แต่ผมต้องรักษากฎหมาย ไม่มีเรื่องว่าไม่ชอบดำเนินการ ไปปิดจะไม่มี คนที่ไม่ชอบ ที่ผมไม่ชอบ หรือไม่ชอบผม จัดรายการได้ แต่ถ้าคุณทำผิดกฎหมาย ละเมิดกติกาของบ้านเมือง ผมก็ไม่มีทางเลือก เพราะไม่อย่างนั้นผมก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

-วันนี้เรามาจากหลายจาน หลายสี สบายใจได้ว่านายกฯ จะไม่เข้าไปควบคุมแทรกแซงใคร
ก็ยืนยันตราบเท่าที่ไม่ทำ อย่างที่บอกคุณจะวิจารณ์ผมรุนแรงอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าคุณเริ่มบอกว่า ไปเผาทำเนียบฯ อย่างนี้ผมบอกว่า คุณไม่มีสิทธิ์ ถึงคุณจะไม่ชอบผม ไปบอกว่าไปเผาพรรคฝ่ายค้าน อันนี้ก็ไม่ได้ ผิดเหมือนกัน เราต้องเรียนรู้ว่าการใช้สื่อในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์แสดงออก แน่นอนบางทีก็ต้องออกเว็บบ้าง ก็เข้าใจ

---นายกรัฐมนตรีเพิ่งได้ตำแหน่งผู้ชายแห่งปี ขอแสดงความยินดีด้วย สำหรับการทำงานและฟันฝ่าในช่วงเวลาที่วิกฤตพอสมควร แต่ในช่วงเวลามีการชุมนุม เขาบอกนายกฯไม่อยู่ ผู้ชายแห่งปีไปไหน แล้วตกลงกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้หรือยังว่าใครจะบัญชาการในช่วงเวลานั้น
คืออย่างนี้ การมอบหมายนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะว่าโดยปกติเราจะมีตารางในเรื่องของการไปเยือนต่างประเทศ ที่จริงที่มาค่อนข้างแน่นในช่วงมีนาคมนี้ ก็เพราะว่าเดิมเรานึกว่า มกราคม กุมภาพันธ์ จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีอะไรต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ เราก็ได้ขอเลื่อนเขามาเป็นมีนาคม ความจริงเรื่องเหล่านี้คุยกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ถือว่าตราบเท่าที่สถานการณ์ยังปกติ คำว่าปกติ ต้องถือว่ามีการชุมนุมทางการเมืองต้องถือเป็นเรื่องปกตินะ เราจะไปบอกว่า มีการชุมนุมปั๊บบ้านเมืองไม่ปกติ คงไม่ได้

---ไม่ได้มีปัญหาที่จะมาชุมนุม แม้จะมีคนเป็นหมื่น เป็นแสน
ถ้าเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่แน่นอนเมื่อไรก็ตามซึ่งเราเห็นว่ามันมีความจำเป็น ซึ่งบางทีเราต้องประกาศกฎหมายพิเศษ อันนั้นต้องทบทวน ณ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศออกกฎหมายพิเศษ ยังเป็นเรื่องเหตุการณ์ตามปกติอยู่ ถ้าวันดีคืนดี ใครบอกวันนี้จะมาชุมนุม บอกโทรไปหานายกฯ เขาแล้วบอกผมมาไม่ได้แล้วนะ แล้วพออาทิตย์หน้าจะไป แต่มีคนบอกจะมาชุมนุม นายกฯไป (ต่างประเทศ) ไม่ได้แล้วนะ เขาก็จะมองประเทศไทยยังไง การชุมนุมในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายครั้งที่เดินทางไปช่วงที่มีการชุมนุม ปีแรกเข้ามานี้ไปดาวอส ก็มีการชุมนุม เดินกันมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาถึงทำเนียบฯ ผมก็ไป แต่บางช่วงพอเราประกาศกฎหมายพิเศษ ผมก็จะไม่ไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีการประกาศกฎหมายพิเศษ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

---ในช่วงอาทิตย์นี้ ยังอาจจะเปลี่ยนใจได้ว่าจะไปต่างประเทศหรือไม่
ขึ้นอยู่กับข้อมูล เรื่อง กฎหมายพิเศษก็เหมือนกัน บางคนชอบไปพูดว่า ประกาศใช้เฉพาะเวลาสีนี้ชุมนุม ไม่จริง คือเราจะดูจากการข่าว เวลาการข่าวเขารายงานมาแล้วเขาบอกว่า ถ้าไม่ประกาศ มันบริหารจัดการยาก เขาก็จะเสนอให้ประกาศ เพราะฉะนั้นยกตัวอย่างว่า อย่างกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมมาซึ่งจำไม่ได้ว่ากี่ครั้งแล้ว แต่ว่าตั้งแต่ธันวาคมมา ก็มีชุมนุมหลายครั้ง ไม่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง และก็อยากทำความเข้าใจว่า กฎหมายความมั่นคง เวลาประกาศนี้ไม่ได้ห้ามชุมนุม บางคนไปนึกว่าประกาศกฎหมายความมั่นคงไป จำกัดสิทธิ ไม่ใช่ เพียงแต่ว่ามี 2 เรื่องที่กฎหมายความมั่นคงเราใช้ก็คือ
1. เปิดโอกาสให้มีการบูรณาการเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำงานได้ เพราะปกติไม่อย่างนั้นแล้วเราก็ให้ตำรวจเขาดูไป ทหารอาจจะมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานได้ในบางสถานการณ์ แต่อันนี้ก็คือเราจะสามารถมีการนำเจ้าหน้าที่ต่างๆ มาใช้ วันจันทร์นี้ ผมจะคุยกับทางผู้ว่าฯ กับผู้อำนวยการเขต ก็มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเราจะนำมาดูว่า เขาจะมาช่วยในการดูแลความเรียบร้อยด้วย2. มีการออกข้อกำหนดบางเรื่องได้ เช่น เราอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจอาวุธ สมมติว่ามีข่าวว่าจะมีการนำเอาอาวุธเข้ามา ซึ่งย้ำนะครับ เวลาข่าวอย่างนี้มา เขาไม่ได้บอกว่า ประชาชนซึ่งมาชุมนุมส่วนใหญ่จะพกพาอาวุธกันมาคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่ ส่วนใหญ่มันเป็นคนกลุ่มเล็กๆ คนส่วนใหญ่ที่เขามานี้เขาคงไม่ได้ต้องการความรุนแรง ไม่มีใครชอบหรอกครับ อยู่ดี ๆมานั่งเอาตัวเองมาเสี่ยง แต่มันมี พอเรามีข่าวว่าคนกลุ่มเล็กๆ อาจจะมาเพื่อให้มาป่วน จะฝ่ายไหนก็แล้วแต่ เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีความเข้มงวดกวดขันมากขึ้นว่า เส้นทางบางเส้นทางเราต้องขอตรวจตราเป็นพิเศษ อันนี้คือเหตุผลที่เราใช้กฎหมายความมั่นคง เพราะฉะนั้นเราก็จะรอดู ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนอนุมัติการใช้กฎหมายความมั่นคง ก็ จะรอฟังวันจันทร์อีกครั้งหนึ่งว่าเขาจะว่าอย่างไร

--ที่ท่านนายกฯบอกว่า ต้องมีการดูสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ก่อน ถ้าเกิดว่า ณ วันนี้แล้วเรามองดูสถานการณ์ หรือว่าข้อมูลที่ท่านนายกฯรับทราบมานี้ แนวโน้มที่มันจะไปสู่ความรุนแรง มันมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่
ต้องบอกตรงๆ ว่ามันมีคนบางกลุ่มประกาศชัดว่า แรง แต่ว่าเราก็ต้องดูว่าเขาพูดเฉย ๆ หรือว่าอย่างไร แต่ว่าการพูดบางอย่างขณะนี้ก็หมิ่นเหม่ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็จะต้องไปดูแล อย่างเช่นที่ผมยกตัวอย่าง ไปปราศรัยว่าจะจับคนนี้ไปแขวนคออะไรต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ก็คงจะต้องไปดูว่า ถ้อยคำว่าเป็นอย่างไร มีท่าทีอะไรหรือเปล่า แต่ว่าก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องดูแลไป
ทีนี้ความรุนแรงถามว่ามันมีโอกาสจะมีไหม ก็มีโอกาสที่จะมี เราก็พยายาม เหมือนกับที่ผ่านมานี้ ตอนที่มีการคำพิพากษาตัดสิน ก็มีการคาดการณ์ มีการข่าวอยู่เหมือนกันว่าอาจจะมีการสร้างความวุ่นวายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก็มีระเบิด 3 – 4 ลูกที่ว่า ลักษณะอย่างนั้นเราไม่ประมาท และเราพยายามที่จะดูแล มันก็เป็นสิ่งที่ผมพยายามย้ำว่า ไม่คิดว่าการมีระเบิด การก่อเหตุรุนแรง การจลาจล การจะไปฆ่าใครสังหารใคร จะเป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์กับใครทั้งสิ้น เพราะว่าการที่บ้านเมืองถลำเข้าไปสู่ความรุนแรง มันจะไม่มีวันจบ
เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะบอกกับประชาชนทุกคน รวมทั้งประชาชนที่กำลังจะมาชุมนุมว่า รัฐบาลไม่ต้องการความรุนแรง และรัฐบาลนี้พิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่า ไม่มีความคิด ไม่เคยที่จะไปใช้ความรุนแรง เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือ การรักษากฎหมาย ซึ่งต้องขอถือโอกาสพูดย้ำอีกครั้งว่าที่ไม่สบายใจก็คือ ยังคงมีการเอาคลิปเสียงตัดต่อ ไปเผยแพร่ ซึ่งหาว่าผมเคยสั่งการฆ่า เขาพิสูจน์กันหมดแล้ว กองพิสูจน์หลักฐาน คุณหมอพรทิพย์ฯ ใครต่อใครเอาคลื่นเสียงมาให้ดูเลยว่าตัดมาจากรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ แล้วก็ไปใส่ อย่างนี้เราก็บอกว่า ผม ก็ไม่เข้าใจว่าคนที่ทำนี้จะทำไปทำไม การที่เกิดความรุนแรงขึ้น ท่านก็บอกว่านำไปสู่ชัยชนะอะไรก็ไม่ทราบ ไม่มีชัยชนะอะไรหรอกที่ได้มาด้วยความรุนแรงแล้วจะยั่งยืน มีแต่จะทำให้เกิดวงจรของความเกลียดชัง แล้วสุดท้ายถามว่าใครแพ้ คือใครชนะไม่รู้ แต่ที่แพ้แน่ๆ คือประชาชนไทย สังคมไทย

---ที่นายกฯ ย้ำเรื่องรักษากฎหมาย เราได้ยินมาโดยตลอด แต่ว่าภาพของความขัดแย้งมันยังอยู่ ต่างประเทศก็ว่ามา ในประเทศก็มีความเคลื่อนไหว จะมีการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ ที่จะทำให้มันคลายความขัดแย้งลงมาได้
เราต้องเข้าใจอย่างนี้นะ การพูดว่าเรายึดหลักกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำอย่างอื่น การพูดว่าเรายึดหลักกฎหมาย ไม่ได้ได้หมายความว่าเราคับแคบ แต่อยากจะบอกว่าในทุกสังคมที่เขาอยู่ได้ เขาเจริญได้ เขาล้วนแล้วแต่ยึดหลักกฎหมายทั้งสิ้น แต่การยึดหลักกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำในเรื่องรัฐศาสตร์ ไม่ทำในเรื่องเศรษฐศาสตร์ ไม่ทำในเรื่องจิตวิทยา ไม่ทำในเรื่องอื่นๆ เราก็ทำ แต่ว่าเราจะบอกว่าการยึดหลักรัฐศาสตร์ แปลว่าไม่เคารพกฎหมาย ไม่ใช่ ไม่มีที่ไหนพูดอย่างนั้น
ก็ยืนยันมาตลอดว่า เราก็เป็นสังคมที่ให้อภัย เราก็เป็นสังคมซึ่งปกติก็มีความเอื้ออารี มีความเมตตาต่อกัน ไม่อย่างนั้นคนเขาคงไม่มาเที่ยวประเทศไทยเยอะแยะไปหมด ทุกคนที่มาเที่ยวประเทศไทยส่วนใหญ่กลับไป ถ้าถามว่าประทับใจอะไร เขาไม่ได้พูดเรื่องอื่น คือ เราหาดทรายสวย อาหารอร่อย มีสถานที่สวยงามทั้งโบราณสถานอะไร แต่สิ่งแรกที่เขามักจะพูดถึง เขาประทับใจน้ำใจน้ำใสของคนไทย มันก็น่าเสียดายว่าทำไมขณะนี้สิ่งที่เราดังไปทั่วโลกว่าเป็นน้ำใจของเรา เรากลับไม่ค่อยมีให้ต่อกัน แต่การที่จะมีการให้อภัย มีการพูดคุยกันนี้มันต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับกติกา ไม่ใช่มาพูดคุยกันเพราะว่าฝ่ายหนึ่งข่มขู่จะใช้กำลัง เลยต้องไปพูดกัน เพราะถ้าทำอย่างนั้น ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการที่จะส่งเสริมให้เกิดการข่มขู่ ความรุนแรง การวางอำนาจบาตรใหญ่กันมากขึ้น

-- ทาง Around the world ไม่พอใจกับคำตัดสินของศาล เรื่องยึดทรัพย์มา โดยตลอด ตอบชัดเจนว่าไม่เป็นธรรม แต่ห้อยติ่งทุกครั้งจะบอกว่าอยากเจรจา ตอนนี้อยากเจรจาอย่างเดียวเลย แต่มันไม่มีมุมในการเจรจาเกิดขึ้นเลย
เจรจาอะไร คืออย่างนี้ คำว่าเจรจาแปลว่า อะไร 1. เรื่องคดีความไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารเลย พูดตรงๆ คดีนี้เขามา พอเข้าอัยการ เขาส่งเข้าศาล แม้กระทั่งช่วงที่อยู่อัยการแล้วนี้ รัฐบาลไม่ยุ่ง เพราะอัยการเขามีความเป็นอิสระในการที่จะทำตรงนั้น แล้วก็ในส่วนของศาลนี้ ก็เป็นกระบวนการอิสระทั้งสิ้น ถามว่าเจรจา จะให้ทำอะไร

-- เจรจาโดยไม่เอาเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องเกิดขึ้น มีส่วนที่นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
ปัญหาเวลานี้ก็คือว่า คนที่เขาบอกว่าเขาอยากจะให้เจรจานี้เขามีเงื่อนไขเรื่องการไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ถูกไหม เพราะถ้าเขายอมรับกระบวนการยุติธรรม ก็บอกแล้ว อยากจะคุยนี้ผมคุยด้วย แต่ถ้าเมื่อไรยังอยู่บนสมมติฐานที่บอกว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม แล้วก็ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันหลักของประเทศ ผมบอกคุยไม่ได้


--ในระยะช่วงที่ท่านเข้ามาเป็นรัฐบาล มีจุดไหนที่เข้าใกล้การเจรจามากที่สุด
เรื่องการเจรจา ไม่ได้มีการติดต่อมาที่ผมเลย แต่ผมบอกว่า ถ้าทุกคนยอมรับกระบวนการ การพูดคุยมันย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะว่าสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมซึ่งกว้างเสียจนคนไม่รู้จักกัน รู้จักกันเกือบหมด แต่ว่าถ้าเริ่มต้นจากการบอกว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ถ้าเริ่มต้นจากการที่จะมีการทำลายสถาบันหลักของชาติ ก็คุยกันไม่ได้ เมื่อไรที่รับกติกา ผมว่าการคุยนี้ใครก็สนับสนุนให้คุย

---พอถึงทางตันบอกว่าถ้าเกิดการชุมนุมรุนแรง ตรงนั้นจะปูทางไปสู่การเจรจา
ไม่ครับ ผมยืนยันเลยครับ หลักของผมตรงกันข้าม ถ้าเมื่อไรเราบอกว่ารุนแรงถึงจะเจรจา วันข้างหน้าเราจะมีแต่ความรุนแรง เพราะใครก็ทำอะไรก็ได้ แล้วก็คิดว่าใช้ความรุนแรงเอา แล้วก็ขู่ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะให้มีการเจรจาต้องไม่มีความรุนแรง ต้องกลับมาเป็นคนไทยในสังคมไทยที่เรารู้จักกัน คือทำผิด ยอมรับผิด แล้วเขาจะให้อภัย แต่ถ้าทำผิด ไม่ยอมรับผิด แล้วก็ขู่บอกว่าจะเอากำลังมา เพื่อที่จะบอกว่าตัวเองไม่ผิด แล้วจะให้คนมาคุยด้วย ไม่มีหลักสากลนั้นใช้ไม่ได้ ความเป็นไทยก็ไม่มี


---ถ้ามีข้อเสนอที่คิดว่าน่าจะบอบช้ำต่อประเทศน้อยที่สุดในขณะนี้ ถ้าเรามอง ๆ กัน อย่างรัฐบาลอยู่ต่อไปจนครบวาระ ประคองไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ยุบสภาฯ ลาออก หรือจะสุดโต่ง อย่างปฏิวัติรัฐประหาร ในฐานะท่านเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ท่านมองว่าทางไหนบอบช้ำน้อยที่สุด
บอกได้เลย 1. ปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่ทางออก ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม และก็เป็นเรื่องแปลกในขณะนี้ว่ากลุ่มคนซึ่งอยากให้มีการปฏิวัติ คือกลุ่มซึ่งกำลังอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะมีความคาดหวังว่าการปฏิวัติจะนำไปสู่การล้มกระดาน แล้วก็จะแก้ปัญหาซึ่งตัวเองก่อไว้ในอดีตได้ แต่การปฏิวัติจะไม่มีวันเป็นทางออก และคิดว่าคนที่จะมาชุมนุมเองก็มีปัญหากับการปฏิวัติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้ามีการปฏิวัติอีกนี้แผลจะยิ่งลึก
ส่วนการจะอยู่ต่อ การจะยุบสภาฯ หรือการจะลาออกนี้ อะไรที่จะเป็นความเหมาะสมนี้เราไม่สามารถตอบได้ล่วงหน้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ผมไม่ห่วงตัวเองหรอก ถ้าบอกว่ายุบสภาฯ แล้วนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสำหรับประเทศ ก็ยุบสภาฯ ถ้าบอกว่าลาออกแล้วจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสำหรับประเทศ ก็ลาออก ถ้าบอกว่าการอยู่ครบเทอมนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสำหรับประเทศ ผมก็อยู่ครบเทอม แต่ว่าอะไรละที่จะเป็นตัวบ่งบอก มันก็มีหลายอย่าง เช่น อย่างเรื่องยุบสภาฯ นี้ชัดเจนมาก เพราะมันเกิดเรื่องในสภาฯ ใช่ไหม ตามระบอบประชาธิปไตย แล้วการยุบสภาฯ มันเป็นทางออกที่เหมาะสมก็ยุบ ถ้าหากว่าผมไปทุจริต คอร์รัปชั่น หรือไปทำผิด ก็ควรจะรับผิดชอบ ก็ควรจะลาออก
อย่างที่บอกข้อเสนอสมานฉันท์ ซึ่งก็บอกแล้วตอนนั้นว่า ตกลงทำประชามติรัฐธรรมนูญใช้เวลาสัก 6 เดือน ระหว่างนี้คุณพิสูจน์ให้เห็นไหมว่า ตอนไปประชามติกันเราไปหาเสียง ไปแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเป็นอิสระดีไหม บ้านเมืองสงบ ครบ 6 เดือน แล้วจะยุบสภาฯ เพื่อสมานฉันท์ผมก็ยินดี เพราะฉะนั้นผมเป็นคนที่ไม่ได้เอาประโยชน์ตัวเองเป็นตัวตั้ง ผมกำลังเอาประโยชน์บ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ มาคุยกัน แล้วเราก็เดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น