xs
xsm
sm
md
lg

มาร์ครับมือวันยึดทรัพย์ วอนสื่อเผยแพร่คำตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อเช้าวานนี้ (14 ก.พ.) เป็นการเชิญพิธีกรคุยข่าวจากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง จำนวน 35 คน ร่วมพูดคุยซักถามสถานการณ์ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวนำในตอนต้นว่า เป็นโอกาสที่เชิญผู้ที่บทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน เนื่องจากรัฐบาลทำงานมา 1 ปีเศษ ก็เป็นโอกาสดีที่จะทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นตลอดระยะที่ผ่านมา และในสถานการณ์ในช่วง 1 เดือนนี้ ที่ประชาชนจำนวนมากวิตกกังวลอยู่ ในเรื่องสถานการณ์การเมือง เป็นช่วงที่ข่าวสารเยอะไปหมด ทำให้เกิดความสับสนบ้าง ความตื่นตระหนกบ้าง ก็จะมาแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างรัฐบาลกับคนทำงานสื่อ ว่าสถานการณ์จริงๆเป็นอย่างไร จุดยืนท่าทีของรัฐบาล ในการที่รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นอย่างไร เพื่อความเข้าใจที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องจดหมายขู่ทำร้าย หรือข้อมูลต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนในช่วงนี้ จะบอกประชาชนอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากบอกว่า ตนให้ความมั่นใจว่าวันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ได้บอกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำงานให้กับคนทุกคน ฉะนั้นไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตน ตนมีความตั้งใจที่จะทำงานให้ แต่มีเรื่องใดที่คับข้องใจ ไม่เห็นด้วย ขอให้แสดงออกมาในรูปแบบที่เหมาะสม แล้วเราจะพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกัน อย่างมากที่สุดเราควรจะตกลงกันว่า บางเรื่องเราเห็นไม่ตรงกัน แต่ไม่ควรที่จะมีการใช้ความรุนแรง และทำอะไรนอกกฎหมาย
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะมีความเข้มแข็งพอที่จะจัดการรับมือกลุ่มการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวได้อย่างไร โดยเฉพาะช่วงนี้วิกฤตมาก หลายคนก็กังวลใจก่อนจะถึงวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เสียสมาธิ จนลืมแก้ปัญหาปากท้อง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อะไรก็ตามซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่บางเรื่องต้องให้ตำรวจ อัยการ และ ศาลเป็นผู้ชี้ ไม่ใช่รัฐบาลไปชี้เอง อันนี้เป็นสิ่งซึ่งบางครั้งตนก็เข้าใจ เพราะบางคนมีความรู้สึกว่า มันผิดชัด ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้เลย ข้อเท็จจริง คือ มันต้องไปมีกระบวนการ เช่น ต้องไปขอหมายศาล ไปขอให้ศาลตัดสิน การถอนประกัน หรืออะไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่ใช่ไม่ทำ มีการทำ แต่หลายกรณีศาลท่านตัดสินว่าไม่อนุญาต หรือไม่ให้ตามขอ เราต้องเคารพการตัดสินของศาล แต่มาตรการที่เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ ยืนยันว่า รัฐบาลมี
เมื่อถามว่า ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ ถูกประเมินว่าจะเป็นวิกฤตวิการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "เอาเป็นรูปธรรมเลยว่า มีความกังวล และโยงไปถึงเรื่องของคดีที่จะตัดสินวันที่ 26 ก.พ. ผมประชุมสมช.ไปแล้ว ซักซ้อมกันหมดแล้ว ถึงขั้นที่บอกว่า ไม่ต้องมาประชุมด้วยกันอีกแล้ว ทุกคนรู้แล้วว่าต้องทำอะไร ถ้าจำเป็นต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษเมื่อไร ก็จะต้องทำ รู้ขั้นตอนซักซ้อมว่าตำรวจ ทหาร ฝ่ายต่างๆ จะทำหน้าที่ตรงไหนอย่างไร ทีนี้บางส่วนที่มันรุนแรงในขณะนี้ ที่ผมเห็นว่าจะต้องเข้าไปดู เช่น มีข่าวเรื่องการคุกคามผู้พิพากษา เราก็เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้ มีการประสานงานตลอดเวลา ประเด็นคือ เราจะปล่อยให้คนที่เป็นผู้พิพากษา หรือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่ได้
" ผมได้พบประธานศาลฎีกา ก็ได้เรียนกับท่านว่า รัฐบาลไม่ยุ่งแน่นอนเรื่องการตัดสินคดี แต่รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลให้ท่านตัดสินคดี โดยเที่ยงธรรมได้ ฉะนั้นถ้ามีความกังวลว่าผู้พิพากษา ตุลาการ อยู่ในภาวะอันตราย ถูกคุกคามให้แจ้งมา ขณะเดียวกันพฤติกรรมซึ่งคาบลูกคาบดอก ผิดกฎหมายหรือไม่ไม่รู้ ประเภทที่พูดว่า คนนั้นคนนี้จะตาย ผมทายแม่นอะไรอย่างนี้ ผมก็บอกว่า เราก็ให้ทางเจ้าหน้าที่เสนอไปที่อัยการ เสนอไปที่ศาล เพื่อดูว่าคำพูดในลักษณะเข้าข่ายหรือไม่ แต่เราไปวินิจฉัยเองไม่ได้ ฉะนั้นถ้าศาล อัยการ หรือศาลเห็นว่าผิดมีโทษ ก็ดำเนินการตามนั้น แต่ถ้าอัยการ ศาล บอกว่าไม่ผิด เราก็ทำเท่าที่เราทำได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**วอนสื่อเผยแพร่คำตัดสินของศาล
เมื่อถามว่า หากคำพิพากษาออกมา เช่น ยึดทรัพย์ทั้งหมด ไม่ยึดเลย หรือยึดเฉพาะหลังรับตำแหน่ง รัฐบาลประเมินผลที่จะตามมาอย่างไร หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมาโดยอ้างเรื่องสองมาตรฐาน ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม นายกฯ กล่าวว่า ผู้ตัดสินคือศาล รัฐบาลนี้ยืนยันไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลยในเนื้อหาของคดี และกระบวนการพิจารณาคดี ยกเว้นคือหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้พิพากษา ทุกคดีมันมีคนไม่พอใจแน่ เมื่อตัดสินออกมา สิ่งที่เราต้องเรียกร้องกันในสังคม คือ เราต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมจริง เช่น ศาลไปรับสินบน ก็มีกลไกในการที่จะเล่นงานผู้พิพากษาที่เข้าไปเกี่ยวข้อง สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะบอกว่า ตัดสินมาแล้วไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม มันสองมาตรฐานหรือไม่ ใจตนก็คือ ช่วยกันเผยแพร่เหตุผลของศาล นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ เพื่อช่วยทำให้คนเข้าใจว่า เหตุผลที่ตัดสินคืออะไร
" คนที่พูดสองมาตรฐาน ไม่เคยเอาเหตุผลของศาลมาหักล้าง มาอธิบาย สิ่งที่สำคัญ คือ ในฐานะที่สื่อมีหน้าที่ในการสื่อสารกับประชาชน เอาข้อเท็จจริงตรงนี้ออกมา นั่นคือ ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดที่จะมี ในแง่ของการยอมรับคำตัดสินของศาล" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**ย้ำรัฐบาลไม่เล่นกีฬาสี
เมื่อถามว่าเปรียบเหมือนเล่นกีฬ่าสี จำเป็นต้องมีคนกลางมาทำหน้าที่กรรมการหรือไม่ เพื่อให้มีการพูดคุยกัน ตามที่น.พ.ประเวศ วะสี ราษรอาวุโสเคยเสนอ นายกฯ กล่าวว่า อันที่หนึ่ง คือรัฐบาลไม่เล่นกีฬาสีด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ว่าใครจะเล่นกีฬาสี เล่นแล้วอยู่ในกติกา แข่งขันแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐบาลอย่าไปเล่นกีฬาสีด้วย แล้วก็การแข่งขันนี้หรือการที่แต่ละคนจะประกาศว่า ฉันอยู่กลุ่มนี้ หรือสีนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
“ทีนี้ในสังคมที่จะเดินต่อไปข้างหน้านี้ ถ้าใครยังฝันว่าจะมีสังคมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน เห็นดีเห็นงามด้วยกันทุกเรื่องนี้ มันจะไม่ได้สังคมนั้น แต่สังคมไทยที่ต้องเติบโต แล้วก้าวพ้นภาวะตรงนี้ไปได้ ข้อยุติว่านโยบายทิศทางประเทศจะเป็นอย่างไร เราก็มีกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการการเลือกตั้ง กระบวนการของรัฐสภา เช่น รัฐบาลนี้มีนโยบายอย่างนี้ ถ้าสภาฯ ถึงวันหนึ่งบอกว่าไม่ได้ต้องการทิศทางนี้แล้ว เสียงข้างมากสภาฯ ก็ต้องตัดสินใจเป็นอย่างอื่น แล้วก็ที่สุดสภาฯ ก็มีอายุของมัน ไม่ได้มีตลอดไป แล้วก็อาจจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด ก็เป็นไปได้ ก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่ถ้าขัดแย้งเถียงกันว่าถูก หรือผิด ถ้าเป็นเสียงข้างมาก แปลว่าไม่ผิด ไม่ใช่ ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราแยกได้ว่าประเด็นไหนตัดสินโดยกระบวนการทางการเมือง ระบบสภา การเลือกตั้ง ประเด็นไหนตัดสินกันด้วยกฎหมาย ระบบศาล แล้วเราเคารพกระบวนการอย่างนี้ บ้านเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**ไม่เจรจานอกกรอบกฎหมาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนสนใจในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ที่พิสูจน์ได้ หลังจากเดือนเม.ย. 52 ตน เป็นฝ่ายบอกว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่เห็นว่ามีเสียงเรียกร้องเรื่องนี้ ตนก็บอกว่าให้สภาไปตกลงกันว่า อยากจะเอาอย่างไร ที่สุดก็บอกมี 6 ประเด็น แล้วถ้าถามตน ส่วนตัวใน 6 ว่าเห็นด้วยกี่ประเด็น ต้องบอกว่าเห็นด้วยน้อยในทุกประเด็น ไม่เห็นด้วยมากกว่า ให้ประชาชนลงประชามติ เอาอันไหน ไม่เอาอันไหน แล้วเราเอาตามนั้น แต่ปรากฏว่า พรรคการเมืองบางพรรคบอกไม่สนใจแล้ว ฉะนั้นตนก็ต้องไปหาวิธีการอื่น
“แต่ถ้าจะพูดคุยแล้วเริ่มต้นจากการที่บอกว่า ขอไม่ยอมรับกฎหมาย ไม่ยอมรับคำพิพากษา ผมว่ามันคุยกันไม่ได้ หรือว่าถ้าจะบอกว่าต้องคุยนะ ไม่อย่างนั้นผมจะใช้ความรุนแรง อย่างนั้นผมก็คุยไม่ได้ ผมนี่สบายนะ ถ้าอยากจะปัดเรื่องให้พ้นตัวให้มันสงบๆ ผ่านไป แต่ถ้าผมทำอย่างนั้น 1. วันข้างหน้าระบบกฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ กระบวนการสถาบันหลักต่างๆ จะถูกสั่นคลอน และ 2. จะเป็นตัวอย่างในวันข้างหน้าต่อไปว่า พวกมาก หรือมีความรุนแรงแล้วสามารถเรียกร้องอะไรก็ได้ ผมยินดี ขอให้ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ยอมรับกฎหมาย แล้วพูดคุยกัน ผมมาคุยได้ แล้วผมคิดว่าสังคมไทยก็พร้อมในการที่จะเปิดใจ พูดคุยให้อภัย แต่การให้อภัยนี้ มันต้องมีการยอมรับผิดก่อน ไม่มีที่ไหน ให้อภัยคนที่บอกว่าไม่ผิด แล้วมาเรียกร้องบอกว่าต้องไม่ผิด และไม่ใช่เรื่องการให้อภัย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า สถานการณ์ต่อจากนี้ อาจมีบางช่วงที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเข้าควบคุมสถานการณ์ จะบอกสังคมอย่างไรเมื่อถึงเวลานั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลไม่มีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเดือนเม.ย.52 ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการใช้กำลังทหารเข้ามา ก็ได้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลจะใช้กำลังต่างๆตามวิธีการที่เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ และในครั้งนั้นที่ปฏิบัติการ ก็นำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่มีใครเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของรัฐเลย
"แล้วคลิปที่ไปตัดต่อเสียงผม ก็ขอความกรุณาว่า เลิกใช้ได้แล้ว เพราะมันพิสูจน์กันไปแล้วว่าเป็นคลิปตัดต่อ และไม่เป็นความจริง มีถ้อยคำที่ผมบอกได้หมดว่า หยิบมาจากการพูดเมื่อไหร่ เอามาต่อกับคำพูดเวลาไหน อย่างไร ยืนยันว่ารัฐบาลที่ผมเป็นหัวหน้าอยู่ ไม่มีความคิดเรื่องการใช้ความรุนแรง แต่ถ้าจะเข้าไปควบคุมการจลาจล มีการใช้กำลัง ก็จะใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด แต่หวังว่าไม่ถึงจุดนั้น เพราะแนวที่เราพยายามทำขณะนี้ คือ ป้องกัน และป้องปราม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ก่อน เวลาที่เราใช้กฎหมายความมั่นคง ไม่อยากให้ผู้ที่เคลื่อนไหวชุมนุม มองว่าอันนี้เป็นปฏิปักษ์ ในทางตรงข้าม การที่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง จะช่วยไม่ให้มีใครเป็นมือแทรกซ้อน มือที่ 3 หรือกลุ่มที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่อยากจะใช้ความรุนแรงเข้ามา เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่มาเคลื่อนไหวชุมนุม ไม่ได้ต้องการความรุนแรง ฉะนั้นก็ไม่ควรจะเป็นเหยื่อ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่าหลายครั้งที่เวลาไม่ว่าจะกลุ่มไหนออกมาเคลื่อนไหว ก็ จะเห็นมีข้อมูลจากรัฐบาลที่ออกมาเหมือนเป็นการลดเครดิตกลุ่มนั้น อย่างเรื่องท่อน้ำเลี้ยงที่ส่งให้กลุ่มเสื้อแดง หลายคนสงสัยว่า ทำไมถึงมามีข้อมูลในช่วงที่กำลังจะมีการตัดสินคดี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็มีเบาะแสรายงานข่าวเข้ามา การพูดถึงเรื่องนี้ ก็พูดตามข่าวสาร และเบาะแสที่ได้รับมา ไม่ก่อนไม่หลัง และก็เป็นเรื่องที่กำลังมีการตรวจสอบกันอยู่

**ยันกอดคอพรรคร่วม ไม่เขี่ยทิ้ง
เมื่อถามถึงการเมืองในสภา ที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มีการมองว่าพ้นการอภิปรายไปแล้วนายกฯอาจตัดสินใจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจจะมีการขอโควตารัฐมนตรีในกระทรวงเกรดเอ คืนจากพรรคร่วม ไม่ว่าจะเป็น คมนาคม พาณิชย์ มหาดไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ที่ลำดับมา ไม่มีหรอก ผมกับพรรคร่วมตัดสินใจมาทำงานร่วมกัน เราพูดกันชัดเจนว่า เป้าหมายที่เราจะมาทำคืออะไร คือ 1. ฟื้นเศรษฐกิจ 2. พาการเมืองให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไปมีความคิดฉวยโอกาสในเอาเขาออกจากรัฐบาล ไม่มีเด็ดขาด สิ่ง ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คือ เราคงต้องมานั่งประเมินกันดูว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านเขานำเสนอในสภา รวมทั้งกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เราจะมาปรับในส่วนของรัฐบาลให้ดีขึ้นได้อย่างไร มีเท่านั้น”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการเมือง บ้านเมือง โดยเฉพาะวิเคราะห์เจาะลึกอะไรต่าง ๆ จริงๆ ทุกคนมีสิทธิ์คิดและวิเคราะห์ แต่บางทีก็แปลกใจเพราะสื่อวิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องการเมืองอย่างนั้น อย่างนี้เสร็จ แถมวิพากษ์วิจารณ์ตนต่ออีกว่า สนใจแต่เรื่องการเมือง ยืนยันเลยว่า เรื่องทุกเรื่อง ตนดำเนินการตามเนื้อผ้า ถ้าเป็นเรื่องการร้องเรียนทุจริต ก็ดูตามข้อเท็จจริง ดูว่า กลไกไหนมีความเหมาะสมที่จะเข้าไปดำเนินการสอบสวน เรื่องไหนเป็นเรื่องนโยบาย ตนมุ่งเรื่องงาน เวลาตัดสินใจแต่ละครั้ง ก็มีทั้งคนพอใจ ไม่พอใจ อยู่พรรคเดียวกันก็มี พออยู่พรรคเดียวกันก็บอกพรรคแตก พออยู่คนละพรรค ก็บอกต่อรองระหว่างพรรค ดังนั้นอยากบอกว่า ดีที่สุดอยากจะวิเคาะห์วิจารณ์ตนในเรื่องใดก็ตาม ทำได้อยู่แล้ว เป็นเสรีภาพ ดูว่าการตัดสินใจของตนเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองหรือไม่ ตนอยากฟังตรงนั้น ถ้าเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง แล้วไปมีเรื่องกระทบคนนั้นคนนี้ ก็อย่าไปคิดมันมาก ช่วยสนับสนุนหน่อย ว่าถ้ามันเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ทำเลย ถ้าเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ วิจารณ์มา ตนจะได้รับฟังมาปรับมาแก้
"คำถามที่ผมไม่ชอบตอบ คือ คำถามที่อยู่บนข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เลยมีความรู้สึกว่า มันเป็นการเสียเวลาของทั้งผู้ถาม และผู้ตอบ แต่เราต้องตอบทุกคำถามให้ได้ ผมก็พยายามยิ้มตลอด และอยากจะบอกกับประชาชนว่า ความห่วงใยต่อบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ต้องเครียด บ้านเมืองทุกบ้านเมือง สังคมทุกสังคม มีปัญหาทั้งนั้น แม้แต่ประเทศที่เราชอบบอกว่าเขาเจริญแล้ว เขาสุดยอด มหาอำนาจ เศรษฐกิจโต ดีทุกอย่าง ไปดูเถอะข่าวสารในบ้านเขา ก็มีเรื่องที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา มันเป็นของคู่กัน อยากให้สบายใจอย่างหนึ่งว่า ผมเชื่อมั่นว่า มีคนในประเทศส่วนใหญ่ ที่ปรารถนาจะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ขอให้มั่นใจว่า คนส่วนใหญ่ส่วนนั้นจะสามารถนำพาบ้านเมืองไปได้ จะได้ไม่เครียด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**วิพากษ์"คุยข่าว"มักชี้นำ
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงความคาดหมายต่อบทบาทของสื่อว่า ระยะหลังนี้การเสนอข่าวสารของสื่อ ใช้รูปแบบการคุยข่าวมากขึ้น ข้อดีคงทำให้คนสนใจดูข่าวมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนคุยข่าวมีใครเป็นกลาง ถอดความคิดของตัวเองออกไปในช่วงการสนทนา ตนไม่เชื่อว่ามี ตนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า รายการคุยข่าวมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง ว่าบางทีคนนำการสนทนา อาจจะชี้นำได้ เลือกประเด็นได้ เลยคิดว่าน่าจะมาลองคุยเหมือนกัน เพราะต้องยอมรับสารภาพว่า แทบไม่ได้มีเวลาดูข่าว แต่เวลามีข่าวอะไรซึ่งคนชอบ ไม่ชอบ ก็จะบอกตนมา เลยคิดว่าบางทีบางเรื่องนี้ บางประเด็นที่ยังมีการนำเสนอ อาจจะยังเข้าใจไม่ตรงกันก็มาพูดคุยกันเสีย จะได้ทราบรัฐบาลคิดอย่างไร ไม่ได้แปลว่า รัฐบาลจะต้องถูกเสมอไป แต่อย่างน้อยได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับมุมมองและการทำงานของรัฐบาล
“ผมก็คิดว่า ให้ครบถ้วนทุกแง่มุมทุกด้าน แต่แค่ไหนอย่างไร ก็เป็นเรื่องซึ่งอาจจะต้องมาถกเถียงกันพอสมควร ประเทศที่พัฒนาแล้วนี้ค่อนข้างที่จะเชี่ยวชาญในการทำตรงนี้ ทีวีอาจจะไม่ชัดเท่ากับหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ผมเห็นชัดเลย ในต่างประเทศเราไม่ค่อยเห็นลักษณะของการเอาข่าวมาเรียงกัน หน้า 1 ต่อหน้า 16 ต่อหน้า 17 แล้วก็เริ่มตั้งแต่เช้าว่าใครพูดอะไร เสร็จแล้วก็ไปถามว่า คนนี้พูดอย่างนี้ อีกคนพูดอย่างไร ที่เป็นสากลจริงๆ จะเสนอเรื่องนั้นแล้วมีการ พูดง่ายๆ คือการเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาสังเคราะห์แล้วนำเสนอให้มันครบถ้วนทุกด้าน บางทีก็ต้องบอกว่าการทำงานกับสื่อทุกวันนี้ การสื่อสารแล้วคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ใช่โดยเจตนา บางทีคนถามคำถามหนึ่ง คนตอบเข้าใจคำถามอีกแบบหนึ่ง ตอบไปแล้วคนถามก็เข้าใจคำตอบไม่ตรงกับคนที่ตอบ" นายกฯกล่าว

**อยากให้สื่อควบคุมกันเอง
ส่วนการควบคุมสื่อที่ใช้ปลุกระดมทางการเมือง โดยเฉพาะเคบิลทีวี และทีวีดาวเทียม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรา ต้องแสวงหาความพอดี เราต้องการให้สื่อมีเสรีภาพ แต่เราก็ต้องการเห็นสื่อที่มีความรับผิดชอบ แนวที่รัฐบาลพยายามทำ คือถ้าหากสื่อกำกับดูแลกันเองได้ดีที่สุด เพราะว่าเมื่อใดตามที่เริ่มให้รัฐบาลเข้าไปควบคุม จะอันตรายมาก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ก็เป็นปัญหา ตอนนี้ก็คือภาระหน้าที่หลักจะต้องอยู่ที่ กทช. ซึ่งกำลังต้องเปลี่ยนไปเป็น กสทช. ต่อไป เป็นหน่วยงานองค์กรอิสระ แต่ตนและนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก็ได้หารือไปแล้วว่า จะต้องช่วยดูแลด้วย อะไรที่ผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินการ
“ ยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งที่แตกต่างจากรัฐบาลนี้ ควรจะมีเสรีภาพที่ทำได้ แต่การแสดงความคิดเห็นที่ผิดกฎหมาย เช่น ชักชวนคนให้ไปก่อเหตุรุนแรง หรือเป็นการละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง อย่างนี้ต้องไม่ให้ทำ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น