xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ : บทบาท TFII ต่อภาคการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: สุนันทา อักขระกิจ

ดร.มิกาแอล  โชแว็ง
การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้านั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจและร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้เจริญรุดหน้า ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ วิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการผลิตในงานอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก

สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย - ฝรั่งเศส (Thai – French Innovation Institute หรือ TFII) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันมี ดร.มิกาแอล โชแว็ง เป็นผู้อำนวยการบริหาร

สถาบันฯ ก่อตั้งขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส ผ่านทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้อุตสาหกรรมของประเทศมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น

นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ในการเผยแพร่เทคโนโลยีสมัยใหม่สู่สถานศึกษาและสถานประกอบการให้ประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือและความช่วยเหลือที่ผู้แทนของรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามในข้อตกลงไว้

             “สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย - ฝรั่งเศส
      เกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส
               เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต
      และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ในช่วง 3 ปีแรก รัฐบาลฝรั่งเศสโดยความร่วมมือของ L’AIR LIQUIDE Group, Federation of French Mechanical Industries และ France DIDAC ได้ให้การสนับสนุนในด้านเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ มีการให้ทุนศึกษาต่อและฝึกอบรมกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจำนวน 68 ทุน ซึ่งในข้อตกลงดังกล่าวนี้รัฐบาลไทยจะต้องจัดสรรบุคลากรสนับสนุนโครงการ และจัดสรรงบประมาณดำเนินการ เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ “ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส” ความสูง 8 ชั้น โดยมีพื้นที่ใช้สอย 3,200 ตารางเมตร

ศูนย์ฯ ดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 และในวันที่ 5 มิถุนายน 2535 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการ เครื่องจักรและอุปกรณ์ทันสมัย ที่รัฐบาลฝรั่งเศสมอบให้ตามโครงการความร่วมมือดังกล่าว

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 พระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 124 ตอนที่ 98ก และสภามหาวิทยาลัยได้มีประกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนงานในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2551 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ข้อ 4 ให้มีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก ดังนั้น “ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส” จึงได้รับการจัดตั้งเป็นส่วนงานระดับคณะในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีชื่อว่า “สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551

สถาบันฯ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถาบันฝึกปฏิบัติงานและวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นสูง สำหรับนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นสถาบันฝึกอบรมช่างเทคนิค วิศวกร ครูช่าง และนักศึกษาสถาบันอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยและประเทศในภูมิภาคอินโดจีน เป็นสถาบันส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีนำสมัย โดยการฝึกอบรม วิจัย และสาธิต รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคกับภาคอุตสาหกรรม

สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนของประเทศฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุน ในการก่อตั้งสถาบันฯ ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก คือ L’AIR LIQUIDE Group, Federation of French Mechanical Industries, France DIDAC และบริษัทต่างๆ เช่น INSTITUT DE SOUDURE, CETIM, MECAFORM, AFMA ROBOTS, LOG’IN, MULTISOFT ROBOTIQUE, REALMECA, ROLL, SERETE, THOMSON CONSUMER, TELEMECANIQUE, EDF-GDF, CORYS, F.I.A.S ฯลฯ

นอกจากนี้สถาบันฯ ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกหลายหน่วยงานดังนี้

- โครงการความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิจัยไทย – ฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจำนวน 5 โครงการ

- โครงการอนุรักษ์และปฏิสังขรณ์ด้านวัฒนธรรมและโบราณวัตถุ โดยสถาบันฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ประสานงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อรวบรวมเทคนิควิธีการบูรณะสิ่งก่อสร้างโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย โดยการวิเคราะห์หาส่วนประกอบของโครงสร้างวัสดุเดิม เพื่อนำไปสร้างและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้มีส่วนประกอบคงเดิม

- โครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ หลายหน่วยงาน

- โครงการ TFIC Excellence scholarship Program สถาบันฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 เพื่อดำเนินงานโครงการ TFIC Excellence scholarship Program ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2551-2554) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ให้มีคุณวุฒิสูง มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ

- โครงการความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้จัดประชุมร่วมกับผู้แทนรัฐบาลของกัมพูชา เวียดนาม และลาว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 เพื่อดำเนินงานโครงการความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี (ปี 2551-2553) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของวิศวกรและอาจารย์ในระดับต่างๆ ให้กับประเทศดังกล่าว

โดยสถาบันฯ จะให้การสนับสนุน และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศฝรั่งเศส ทั้งในด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้

สถาบันฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยฯ บรรลุวิสัยทัศน์ โดยมีผลการดำเนินงานดังนี้

1. บทความวิจัยที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยและสถาบันฯ ได้ดำเนินงานวิจัยโดยใช้อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการสถาบันฯ และทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในปี 2551 นี้มีจำนวน 23 บทความ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 3 บทความ นำเสนอในการประชุมระดับนานาชาติ 8 บทความ และระดับชาติอีก 12 บทความ

2. สถาบันฯ ได้จัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) จำนวน 6 หลักสูตร รวม 21 วัน มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 26 คน จากพม่า 6 คน กัมพูชา 6 คน เวียดนาม 6 คน และลาว 8 คน

3. สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับ Institut National Polytechnique de Toulous (INPT) โดยบุคลากรของมหาวิทยาลัย เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และร่วมมือในการทำวิจัยด้าน Corrosion นอกจากนั้นยังได้รับนักศึกษาฝึกงาน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการเรียนระดับปริญญาโทจำนวน 3 คน

4. ฝ่ายเทคโนโลยีการกัดกร่อนยังได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินงานวิจัยในการแก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่

สถาบันฯ มีนโยบายด้านต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต เช่น การพัฒนากิจกรรมด้านงานวิจัยของทุกๆ ฝ่าย ในรูปแบบของงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทางการศึกษาประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ พัฒนาโครงการใหม่ๆ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายของการบูรณาการร่วมระหว่างงานวิจัย งานพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาและฝึกอบรม โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถและความพร้อมเป็นสำคัญ

สำหรับกิจกรรมที่สถาบันฯ ได้ดำเนินมาจะส่งผลทำให้ความรู้ และการศึกษาในภาพรวมได้รับการยกระดับให้สูงขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมทั้งเน้นความร่วมมือด้านวิชาการและเทคโนโลยีกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (GMS) ในการจัดตั้งเครือข่ายการวิจัย และการศึกษา ในภูมิภาคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สถาบันฯ มีความภาคภูมิใจที่ผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย ได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ทำให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยงาน ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นอย่างดีและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตลอดไป

นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ว่า ในการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น