หลังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยการสาธยายความผิดถึงกว่า 7 ชั่วโมง สังคมไทยและสังคมโลกคงจะรู้เช่นเห็นชาตินักโทษชายหนีคดีผู้นี้ได้เป็นอย่างดีว่า มีพฤติกรรมฉ้อฉลโกงชาติโกงแผ่นดินในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ หลายคนรวมทั้งสื่อต่างชาติพากันวิเคราะห์ประเด็นที่ศาลมีคำพิพากษายึดทรัพย์เพียงบางส่วนว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องบอกว่า นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหรือจุดนับหนึ่งในการจัดการกับนช.ทักษิณและวงศ์วานว่านเครือเท่านั้น
พวกเขาลืมไปว่า ผลของคำพิพากษาดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดการ นช.ทักษิณและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกลายเป็น “อาฟเตอร์ช็อค” หรือ “ดาบ 2” ที่จะกวาดล้างผู้ที่คิดร้ายต่อบ้านเมืองอย่างไม่มีทางเป็นอื่นได้ โดยเฉพาะรัฐบาล กระทรวง ตลอดรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องนำคำพิพากษาของศาลมาขยายผลฟ้องร้องทั้ง “คดีแพ่ง” และ “คดีอาญา” มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมนช.ทักษิณและลิ่วล้อเสื้อแดงถึงแสดงอาการโมโหโกรธาต่อคำพิพากษาที่เกิดขึ้น
1.
“อ้อ-โอ๊ค-เอม” มีสิทธิ์ติดคุก
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะวิเคราะห์เจาะลึกลงไปว่า ดาบ 2 ที่จะเกิดขึ้นจะ “คืนสนอง” ใครบ้างนั้น ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้งก็คือ คำพิพากษาของศาล ซึ่งมีความชัดเจนใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
หนึ่ง-นช.ทักษิณซุกหุ้น อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
สอง-นช.ทักษิณ ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบาย 5 มาตรการเอื้อประโยชน์ทำให้รัฐเสียหาย จากกรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต การแก้ไขสัญญาอัตราจัดเก็บภาษีมือถือระบบเติมเงินหรือพรีเพด ให้กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส การแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อสัญญาณ หรือโรมมิ่งให้กับบริษัทเอไอเอส การยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมไทยคม 3 และการปล่อยกู้รัฐบาลสหภาพพม่า 4 ,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์
สำหรับในกรณีซุกหุ้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่านช.ทักษิณซุกหุ้น นั่นย่อมหมายความว่า เขาจงใจและเจตนาจะยื่นหลักฐานเท็จต่อ ป.ป.ช.ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองนับตั้งแต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนถึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย
นั่นแสดงว่า นช.ทักษิณแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เป็นเท็จมาตลอด 15 ครั้ง ซึ่งความผิดฐานแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จประกอบไปด้วยการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี พร้อมทั้งโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้คือ เมื่อเขาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ 15 ครั้ง โทษที่ได้รับก็ย่อมต้องเอา 15 คูณเข้าไป
โจทก์ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีในประเด็นนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในเดือน เม.ย.นี้จะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อจัดการได้ทันที
ส่วนอีก 5 กรณีที่เหลือก็มีโจทก์ตั้งท่ารอ “เช็กบิล” อีกมากมาย ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ป.ป.ช. สำนักงานอัยการสูงสุด ไล่เรื่อยไปจนถึงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่จะสั่งกลไกต่างๆ เข้ามาร่วมผสมโรงไล่บี้นช.ทักษิณให้ถึงที่สุด โดยมีกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นเจ้าภาพหลัก
เริ่มจากคดีแรกคือคดีเอ็กซิมแบงก์นั้น นช.ทักษิณถูกฟ้องร้องในข้อหาละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต ที่นอกจากจะถูกฟ้องในมาตรา 157 แล้ว ยังถูกฟ้องเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เมื่อรวมทุกคดีแล้ว นช.ทักษิณมีสิทธิติดคุกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปีเลยทีเดียว
ส่วนคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร นาย.พานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมทั้งนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขาฯ คุณหญิงพจมานนั้น ก็อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินการในข้อหาแจ้งข้อมูลเท็จหุ้นชินต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ รวมทั้งมีความผิดในฐานะที่สมรู้ร่วมคิดกับ นช.ทักษิณในการร่วมกันปกปิดข้อมูลเรื่องการถือหุ้นในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
ขณะที่การที่บุคคลเหล่านี้ไปให้การเท็จต่อศาลเพื่อช่วยยืนยันว่า นช.ทักษิณไม่ได้ซุกหุ้น แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าซุกหุ้น ก็สามารถนำไปขยายผลในการดำเนินความผิดในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกได้ ซึ่งฐานของความผิดคงไม่ต่างอะไรกับนช.ทักษิณ
ดังนั้น เชื่อขนมกินได้ว่า ในอีกไม่ช้าอัยการและ ป.ป.ช.จะต้องตั้งแท่นเพื่อดำเนินคดีกับลูกเมียและญาติที่น้องของ นช.ทักษิณ ชนิดที่สุดท้ายแล้วคนเหล่านี้ก็จะดำเนินรอยตามนช.ทักษิณคือหนีคดีไปต่างประเทศอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
แต่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว สิ่งที่ นช.ทักษิณกลัวที่สุดก็คือ ถ้าหากภายใน 30 วันเขาไม่สามารถหาข้อเท็จจริงอันเป็นหลักฐานใหม่มานำเสนอให้ศาลเชื่อได้ คดีจะถึงที่สุดและผลแห่งคดีก็คือเขาจะไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไปตลอดชีวิต เพราะตามรัฐธรรมนูญผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องเป็น ส.ส.และข้อห้ามสำคัญของผู้ที่จะสมัคร ส.ส.ได้ก็คือ ต้องไม่ถูกยึดทรัพย์ ดังที่ปรากฏไว้ใน มาตรา 102(7)
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า หลังคำพิพากษา ทำไม นช.ทักษิณถึงแสดงอาการโกรธเกรี้ยวและวิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่างรุนแรง
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า หลังคำพิพากษา ทำไมถึงเกิดเหตุระเบิด 4 ครั้งขึ้นที่ธนาคารกรุงเทพ
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป การเคลื่อนไหวของนช.ทักษิณจะขนขบวนกันมาในทุกมิติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ “อำมาตย์” ที่เขากล่าวหาว่าชักใยอยู่เบื้องหลัง
เพราะทางเดียวที่เขาจะกลับมาเล่นการเมืองได้ก็คือ การล้มกระดานการเมืองให้ถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเพื่อที่เขาจะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง จากนั้นก็ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมด
2.
“วัน นอร์-เลี้ยบ” จ่อคิวรอถูกเชือด
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก นช.ทักษิณแล้ว บุคคลในครอบครัว ลูก เมีย แล้ว คงต้องบอกว่า บรรดานักการเมืองและข้าราชการที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดต่างๆ ขณะนี้ก็ออกอาการร้อนๆ หนาวๆ กับคำพิพากษาไปตามๆ กัน เพราะอยู่ในข่ายที่จะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,152,157 อีก 3 คดีด้วยกัน
และคนที่คาดว่าน่าจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับมากที่สุดในเวลานี้มีอยู่ 2 คนคือ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” และ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี”
สำหรับคดีแรก คือ การแก้สัญญาลดส่วนแบ่งค่ามปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน(พรีเพด) จาก 25% เป็น 20% และคดีที่สองคือ การแก้สัญญาให้ ทศท.ร่วมรับผิดชอบโรมมิ่งกับดีพีซี ผู้ที่อยู่ในข่ายหนาวๆ ร้อนๆ ประกอบไปด้วยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุธรรม มะลิลา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีและคณะกรรมการทีโอทีชุดที่มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม นายวันชัย ศารทูลทัต พล.อ.ต.บุญฤทธิ์ รัตนะพร นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายสุรินทร์ ดุลวัฒนจิต
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ 2 เส้นเพื่อตอกย้ำกันก็คือ สำหรับ “นายสุธรรม มะลิลา”หลังจากที่พ้นตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทีโอทีแล้ว ได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทที่รับก่อสร้างหมู่บ้านชินณิชา วิลล์
ขณะที่คดีที่สามคือดาวเทียมไอพีสตาร์ ผู้ที่อยู่ในข่ายหนาวๆ ร้อนๆ ประกอบไปด้วยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงไอซีที และนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน
โครงการดาวเทียม
“กรณีไอพีสตาร์แบ่งความผิดออกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทานั้นเจอทั้งกรณีอนุญาตให้ใช้ไอพีสตาร์มาเป็นดาวเทียมไทยคม 4 มาเป็นดาวเทียมสำรอง เพราะอนุญาตทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการรับรองการประชุม แต่ไปเล่นแง่ด้วยการรับรองเป็นรายบุคคล จริงๆ แล้วไอพีสตาร์ไม่มีไลเซนส์ เป็นลักไก่ที่จะทำแล้วไปอ้างว่าเป็นสำรอง ไม่เปิดให้มีการประมูล ไม่มีการแข่งขัน อีกคดีหนึ่งที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาจะโดนก็คือเมื่อดาวเทียมเสีย ก็มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 33 ล้านเหรียญ แต่รัฐกลับนำไปให้กับชินฯ
ส่วนหมอสุรพงษ์นั้น มีความผิดฐานไปลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นจาก 51% ของชินที่ถือในชินแซทฯ ให้เหลือ 40% โดยอ้างว่าจะไปเพิ่มทุน แต่จริงๆ แล้ว เป็นการเตรียมที่จะขายให้เทมาเส็ก นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องของบีโอไอที่ไอพีสตาร์ได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี ซึ่งเท่ากับเงินลงทุน 16,540 ล้านบาท ขณะนั้นคุณทักษิณเป็นประธานบอร์ดบีโอไอ”นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนคดีที่สี่คือ กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิตนั้น ผู้ที่อยู่ในข่ายหนาวๆ ร้อนๆ คือนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามต่อด้วยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตในสมัยนั้น
ขณะที่เอ็กซิมแบงก์ถ้าหากจะไล่เรียงความผิดกันก็คงต้องเริ่มจากนช.ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีและบรรดาคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้สามารถดำเนินการได้ รวมกระทั่งถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นด้วย
ทั้งนี้ สำหรับทั้ง 5 คดีนั้น อัยการสูงสุดสามารถยื่นฟ้องไปแล้ว จำนวน 2 คดี คือ การอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้แก่ทางการพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท และคดีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพาสามิต ซึ่งทั้ง 2 คดี ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เมื่อยังไม่ได้ตัว นช.ทักษิณ มาดำเนินคดี
ส่วนที่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องอีก 3 คดี นั้น ได้แก่ การแก้สัญญาให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบเครือข่ายโรมมิ่ง, แก้ไขลดส่วนแบ่งระบบบัตรโทรศัพท์เติมเงินล่วงหน้า และแก้ไขสัญญาส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งทั้ง 3 สำนวนยังอยู่ในชั้นการพิจารณาไต่สวนของ ป.ป.ช.
3.
เอไอเอส-เทมาเส็ก-ไทยคมต้องจ่ายค่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญถัดมาที่จะต้องพิจารณาก็คือ “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐทั้งหมดตามที่อัยการยื่นฟ้องก็จะพบว่า มียอดตัวเลขที่สูงถึง 1.7 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
กล่าวคือ ความเสียหายที่เกิดจากการแก้สัญญาให้ ทศท.ร่วมรับผิดชอบโรมมิ่งกับดีพีซี มูลค่า 21,750 ล้านบาท
ความเสียหายที่เกิดจากการแก้สัญญาลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน(พรีเพด) จาก 25% เป็น 20% ที่ทำให้ทีโอทีขาดรายได้ถึง 17,213.75 ล้านบาท และ 70,827.03 ล้านบาท หากครบอายุสัญญา
ความเสียหายของทีโอทีที่เกิดจากการแปลงรายได้สัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 60,000 ล้านบาท
ความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขสัญญาดาวเทียมไอพีสตาร์กรณีชินแซทฯ ไม่ยิงดาวเทียมสำรองซึ่งกระทรวงคมนาคมเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท และกรณีลดสัดส่วนหุ้นจาก 51% เป็น 41% มูลค่า 20,768 ล้านบาท
ความเสียหายที่เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 650 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถ้าจะว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว ผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยย่อมหนีไม่พ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง
แน่นอนหลายคนอาจโต้แย้งว่า เอกชนไม่ใช่ผู้ทำผิด แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือเอกชนเหล่านี้ก็คือเอกชนที่เป็นทรัพย์สมบัติของนช.ทักษิณและวงศ์วานว่านเครือซึ่งได้รับประโยชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ส่วนจะไปไล่บี้กันอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายและเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะหมุนกลับเข้าไปสู่การพิจารณาของศาลอีกครั้ง
ขณะที่บุคคลที่สมควรจะต้องเข้าร่วมรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น คงหนีไม่พ้นบุคคล 3 คนคือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาและนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี