xs
xsm
sm
md
lg

เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สมปอง สุจริตกุล

ที่เรียกว่า “ศาลโลก” นั้น แท้ที่จริงคือ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” หรือ International Court of Justice อันเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐในประเด็นกฎหมายและข้อเท็จจริงหรือเพื่อให้ความเห็นปรึกษา (advisory opinion) ในส่วนที่เกี่ยวกับการตีความและการใช้กฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศแก่องค์กรหลักอื่นๆของสหประชาชาติ อาทิ สมัชชาสหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง

ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐนั้น คู่กรณีจะต้องเป็นรัฐด้วยกัน เช่น สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฯลฯ เอกชนหรือนิติบุคคลจะเป็นคู่กรณีในศาลโลกไม่ได้ จึงไม่อาจเป็นโจทย์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลโลกได้ไม่ว่าในคดีใดๆ ดังนั้น ปัญหาข้อกฎหมายภายในของประเทศหนึ่งประเทศใด อาทิ การกระทำอันเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายภายในหรือความถูกต้องของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกฎหมายภายในซึ่งไม่มีประเด็นอันเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐ ปัญหาดังกล่าวจึงอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของศาลโลกที่จะรับพิจารณา

อีกประการหนึ่ง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหาใช่ศาลฎีกาสูงสุดที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายภายในเป็นการสิ้นสุดคดีความ จึงไม่มีอำนาจรับฟังคำอุทธรณ์หรือฎีกาของศาลสุดท้ายของแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาในคดีแพ่งหรือคดีอาญาตลอดจนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของประเทศนั้นๆ

เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกไม่มีการทับซ้อนกับอำนาจพิพากษาของศาลภายในของแต่ละประเทศโดยเด็ดขาด จึงไม่มีประเด็นที่จะยื่นฟ้องให้ศาลโลกพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายภายในของประเทศไทยทุกรูปแบบรวมทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นใด

คดีความที่ศาลภายในของแต่ละประเทศพิจารณาวินิจฉัยไปแล้วเป็นอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Res Judicata) ไม่อาจรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติมหรือทบทวนใหม่ได้ไม่ว่าจะเป็นศาลของประเทศหนึ่งประเทศใดหรือแม้แต่ศาลโลกเอง ฉะนั้น ศาลโลกจึงมิอาจทำหน้าที่เป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาที่จะกลับคำพิพากษาหรือทบทวนแก้ไขข้อวินิจฉัยของศาลภายในของประเทศหนึ่งประเทศใดได้

อนึ่ง ในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อเมื่อรัฐคู่กรณีให้ความยินยอมให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเท่านั้น ส่วนการให้คำปรึกษาหรือความเห็น ศาลโลกสามารถทำได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นองค์กรสหประชาชาติดังกล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น จึงไม่มีประเด็นที่จะให้ศาลโลกให้ความเห็น หรือแก้ไขคำวินิจฉัยชี้ขาดขั้นต้นหรือขั้นสุดท้ายของศาลภายในแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิตบุคคลไทยรวมทั้งหน่วยงานไทยก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องประเทศไทยให้ตกเป็นจำเลยในศาลโลกได้ เพราะนอกจากขาดสถานภาพแล้ว ยังมีสัญชาติเดียวกัน จึงไม่อาจฟ้องร้องกันเองได้เช่นเดียวกับกรณีอุทลุมซึ่งห้ามผู้สืบสันดานฟ้องร้องบุพการี

บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดแต่แปลงสัญชาติเป็นคนชาติอื่นก็ไม่สามารถฟ้องร้องประเทศไทยได้เช่นกัน (Nationality of Claim) แม้ประเทศใหม่ของตนจะให้ความร่วมมือโดยพลิกผันข้อพิพาทให้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐในประเด็นคุ้มครองคนชาติก็ไม่มีผลหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ เคยเป็นคนไทยโดยกำเนิด

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะคาดหวังว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกจะมีโอกาสทำหน้าที่พิจารณาคดีเพื่อทบทวน แก้ไขหรือกลับคำพิพากษาของศาลภายในของประเทศหนึ่งประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นระดับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
วันที่ 1 มีนาคม 2553

กำลังโหลดความคิดเห็น