“ส.ว.คำนูณ” ติง รบ.อย่าเดินตามก้นกัมพูชาเข้าสู่กระบวนศาลโลก ฉะเขมรเจ้าเล่ห์บิดเบือนหวังดึงนานาชาติจุ้นอธิปไตยไทย ชี้ไทยไม่เป็นภาคีบังคับขึ้นศาลโลกไม่ได้ แต่หากยอมไปขึ้นมีแต่เสียเปรียบ พร้อมหนุนรัฐตั้ง “สมปอง” เป็นหัวหน้าทีมดูแลด้านคดีไม่ใช่แค่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อให้อำนาจเต็มในการตัดสินใจ
วันนี้ (4 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมตั้งทีมทนายความเพื่อต่อสู้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก จากกรณีที่ประเทศกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลโลกพิจารณาตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 เพิ่มเติมว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลควรทำทุกวิถีทางเพื่อปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการของศาลโลก โดยในเบื้องต้นรัฐบาลต้องไม่ยอมรับอำนาจขอบเขตของศาลโลกในคดีดังกล่าวอีก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุการร่วมเป็นภาคีของศาลโลก แม้ว่าประเทศกัมพูชาจะอ้างว่าการยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า คือ การขอให้ทบทวนคำพิพากษากรณีพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่ได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดคำร้องของประเทศกัมพูชา มีลักษณะขอให้พิจารณาคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น สถานะของประเทศไทยไม่ได้ร่วมเป็นภาคีของศาลโลก จึงไม่สามารถใช้สิทธิแบบบังคับให้ประเทศไทยขึ้นศาลโลกได้ อีกทั้งวิธียื่นคำร้องต่อศาลโลกครั้งนี้ กัมพูชาต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจทางความมั่นคงและอธิปไตยในดินแดนของไทย
นายคำนูณกล่าวอีกว่า จากการศึกษาเรื่องดังกล่าวพบว่ากัมพูชาได้เตรียมเรื่องนี้มาก่อน และที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศของไทยก็แสดงความกังวลเรื่องการขึ้นศาลโลกมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะเสียหายไปมากกว่าการที่ต้องยกตัวปราสาทพระวิหารให้กับประเทศกัมพูชา และที่ผ่านมาประเทศกัมพูชาได้ใช้ความกังวลดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่า หาก 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะนำเรื่องไปศาลโลก ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงมีการทำข้อตกลงในหลายเรื่อง รวมถึงเป็นต้นเหตุให้มีการทำเอ็มโอยู 2543 ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่าการทำเรื่องสู่ศาลโลกครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้หรือเสียเปรียบ เพราะข้อเท็จจริงไม่จบ เพียงแค่คำพิพากษาเมื่อปี 2505 เท่านั้น แต่กลับมีหลักฐานที่ปรากฏต่อมาในเชิงความสัมพันธ์ของประเทศไทยและกัมพูชา พ่วงเข้ากับเอ็มโอยู 2543
นายคำนูณกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการจะตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าวกับกัมพูชาจริงๆ ตนมองว่าควรที่จะให้ผู้ที่มีประสบการณ์ซึ่งมีความอาวุโสเข้ามาร่วมทำงาน อาทิ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตผู้ร่วมทำคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทาม ศ.ดร.สมปองให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในคดี แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ
“ศ.ดร.สมปองกังวลว่าจะเป็นเพียงเครื่องมือ หรือเป็นแค่ยันต์กันผีให้รัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่สามารถแสดงความเห็นที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ เบื้องต้นผมสนับสนุนให้รัฐบาลตั้ง ศ.ดร.สมปอง เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อทำคดีนี้” นายคำนูณกล่าว