xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สมปอง” สวนหมัดเขมร แนะรบ.ขอศาลโลกคิดใหม่ “ปราสาทพระวิหาร” อยู่เขตไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมปอง สุจริตกุล
“ดร.สมปอง” ให้สติรัฐบาลต้องค้านอำนาจศาลโลก หากเขมรมักมากอยากได้พื้นที่ 4.6 ตร.กม. แล้วไล่ทหารไทยออก จะขอเปิดคดีใหม่ ต้องให้ยกเลิกคำพิพากษาเดิม ที่เคยยกปราสาทพระวิหารให้เขมร แล้วยืนยันว่าปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในเขตแดนไทย

ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เขียนบทความเรื่อง “พระวิหารกับศาลโลก 2554” เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เมื่อเวลา 18.05 น.วันที่ 5 พฤษภาคม 2554 โดยระบุว่า การที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลกเรื่องคดีปราสาทเขาพระวิหารนั้น เป็นการขอให้คุ้มครองฉุกเฉิน และเปิดคดีใหม่ โดยต้องการรื้อฟื้น และขยายขอบเขตคำพิพากษาเดิม ที่ไทยไม่เคยยอมรับมากว่า 5 ทศวรรษ และถ้าหากกัมพูชาต้องการเปิดคดีใหม่ ก็เป็นโอกาสที่ไทยจะขอให้ศาลโลกยกเลิกคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ที่เคยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา และยืนยันว่าปราสาทพระวิหารอยู่บนพื้นที่ในเขตแดนของประเทศไทย

พร้อมทั้งได้แนะนำรัฐบาลไทยว่า ต้องยื่นคัดค้านอำนาจศาลอย่างรีบด่วน หากศาลไม่รับฟ้องจากกัมพูชาคดีก็จบ ฝ่ายไทยไม่ควรไปต่อสู้ในเรื่องเนื้อหา เพราะการไปยอมรับที่จะสู้คดีในขั้นเนื้อหา จะถือเป็นการยอมรับอำนาจศาลโลก โดยมิได้รับความยินยอมเห็นชอบจากรัฐสภา และปราศจากประชามติของคนไทย ในกรณีที่ศาลโลกรับคำฟ้องไทยก็มีสิทธิ์เพิกเฉย ไม่ยอมขึ้นศาลฯ เหมือนหลายประเทศได้ทำมาแล้ว

รายละเอียดในบทความเป็นดังนี้...

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ศาลโลก หรือภาษาทางการเรียกว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้แถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการจากกรุงเฮกว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ยื่นคำร้องขอให้มีการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ในคดีประสาทพระวิหาร (ระหว่างกัมพูชากับไทย) การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นการ เปิดคดีใหม่

ขั้นตอนและกระบวนการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

การเตรียมต่อสู้คดีต้องเริ่มโดยศึกษาคำร้องของกัมพูชาที่มีถึงศาลฯ เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งเป็นขั้นตอนที่หนึ่ง

1. เมื่อได้รับคำร้อง เจ้าหน้าที่ศาลฯ จึงแถลงข่าวให้ทราบอย่างไม่เป็นทางการ (press releases)

2. กระบวนการต่อไป เป็นภาคคำคู่ความ เป็นลายลักษณ์อักษร (written proceedings) แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

2.1 ศาลฯ จะมีคำสั่งให้กัมพูชายื่นคำฟ้อง (Memorial) โดยมีรายละเอียดในประเด็นที่ขอให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อ พ.ศ. 2505 ภายในเวลาที่ศาลจะเป็นผู้กำหนด

2.2 ในคำสั่งเดียวกันนั้น ศาลฯ จะขอให้อีกฝ่าย ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ไทย ตอบโต้โดยส่งเอกสารแก้คำฟ้อง (Counter Memorial)

2.3 ขั้นตอนต่อไป คือ ศาลฯ ให้โอกาสกัมพูชา ตอบโต้คำแก้คำฟ้องของไทย (Reply)

2.4 ไทยมีโอกาสยื่นคำตอบโต้เขมรอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย (Rejoinder)

3. เมื่อผ่านขั้นตอนภาคลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีด้วยวาจา (Oral proceedings) ซึ่งมี 4 ขั้นตอนตามลำดับและรูปแบบเดียวกับภาคคำคู่ความเป็นลายลักษณ์อักษรในข้อ 2

ท่าทีของไทย และการเตรียมการต่อสู้คดี

สิ่งแรกที่ไทยควรปฏิบัติ คือ ศึกษาคำร้องของกัมพูชาอย่างละเอียด และเตรียมต่อสู้ในชั้นแรก โดยยืนยันว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในคดีปราสาทพระวิหาร ตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยต้องไม่ละเลยการคัดค้านอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยมิได้มีปฎิญญาประกาศรับอำนาจพิจารณามาเป็นเวลากว่าห้าทศวรรษ ไทยต้องยืนยันสถานภาพของตน ครั้งนี้ กัมพูชาต้องการรื้อฟื้น และขยายขอบเขตคำพิพากษาเดิมที่ไทยไม่เคยยอมรับ ไทยได้คัดค้านอำนาจศาลฯ มาโดยตลอด และได้ตั้งข้อสงวนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ฉะนั้น หากมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ไทยก็อาจใช้เป็นเวทีขอให้ศาลฯ ยกเลิกคำพิพากษาเดิมเป็น Annulment Proceedings ในเมื่อกัมพูชาเป็นฝ่ายร้องขอเปิดคดีใหม่ ไทยควรใช้โอกาสนั้น ขอให้ศาลฯ ยกเลิกหรือแก้ไขคำพิพากษาโดยยืนยันใหม่ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนราชอาณาจักรไทยภายใต้อธิปไตยของไทยแต่ผู้เดียว

แต่วิธีการที่แนบเนียนกว่าการต่อสู้ในสาระสำคัญ คือ การคัดค้านอำนาจศาลฯ ทั้งนี้ เพราะไทยมิได้เคยรับอำนาจมาช้านานแล้ว นอกจากนั้น กัมพูชายังยอมรับว่าคำร้องเป็นการริเริ่มคดีใหม่ ศาลฯ ยิ่งหมดอำนาจพิจารณาพิพากษา ฉะนั้น ในมุมมองนี้ ไทยจึงไม่ควรไปสู้คดีขั้นเนื้อหาอย่างรีบด่วน เพราะจะเป็นการยอมรับอำนาจศาลฯ โดยมิได้รับความยินยอมเห็นชอบจากรัฐสภา และโดยปราศจากประชามติ

อนึ่ง ไทยชอบที่จะยื่นคำคัดค้านอำนาจศาลฯ (Preliminary Objection to the Jurisdiction) อย่างชัดเจนและรีบด่วน ซึ่งจะกระทำได้ภายในกำหนดเวลาการยื่นคำแก้ฟ้อง (Counter memorial) แทนคำแก้ฟ้องนั่นเอง

ขณะนี้ กระบวนการพิจารณาของศาลฯ เพิ่งจะเริ่ม ศาลฯ อาจหารือเป็นการภายในกับคู่กรณีว่าจะกำหนดให้มีการยื่นคำคู่ความ (Written Proceedings) เป็นลายลักษณ์อักษรมากน้อยเพียงใด โดยที่กัมพูชาเพิ่งยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และศาลฯ ได้ออกแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการในวันเดียวกัน กระบวนการขั้นต่อไปคือ ศาลฯ ต้องมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้องขอของกัมพูชา และในคำสั่งเดียวกันนั้น ศาลฯ ต้องกำหนดระยะเวลาให้กัมพูชายื่นคำฟ้องในรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องให้ตีความคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อให้คู่กรณีคือไทยมีโอกาสตอบโต้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน

จากนั้น ศาลฯ อาจสั่งให้คู่กรณียื่นคำแก้ต่างตอบโต้กันได้อีกหนึ่งรอบ และให้ฝ่ายโจทก์คือกัมพูชาตอบคำแก้ฟ้องของไทยภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ และให้ฝ่ายไทยยื่นคำตอบแก้คำตอบของกัมพูชาภายในกำหนดเวลาที่เท่าเทียมกัน เมื่อจบกระบวนการข้างต้น ศาลฯ จึงจะนัดให้คู่กรณีฟังพิจารณาคดีด้วยวาจา

ฉะนั้น ในระยะนี้ ฝ่ายไทยจำเป็นต้องเตรียมการต่อสู้คดีในด้านอำนาจศาลฯ เป็นประเด็นแรก หากศาลฯ พิจารณาไม่รับฟ้องตั้งแต่ต้น เพราะขาดอายุความหรือขาดอำนาจพิจารณา ถือว่าสิ้นสุดคดีความเพียงนั้น หากศาลฯ พิจารณาแล้วลงข้อยุติว่ามีอำนาจพิจารณา และดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ไทยก็มีสิทธิ์เพิกเฉย ไม่ยอมขึ้นศาลฯ ดังเช่นหลายประเทศได้ปฏิบัติมาแล้ว

ในชั้นนี้ การเตรียมการต่อสู้จึงต้องเริ่มตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น ต้องกระทำการอย่างรอบคอบ แยบยลและแนบเนียน อย่าประมาทหรือเปิดเผยวิธีการต่อสู้ที่เป็นความลับให้คนชาติของคู่กรณีรู้ระแคะระคาย ไทยพึงสำเหนียกไว้เสมอว่า คดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยผ่านกัมพูชาซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิ์

ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล
วันฉัตรมงคล (5 พฤษภาคม 2554)
กำลังโหลดความคิดเห็น