ศูนย์ข่าวภูมิภาค – พิสูจน์ชะตากรรมคนลุ่มน้ำโขง ใต้เงาเขื่อนยักษ์ สุดท้ายมีแต่เหี่ยวแห้งตามระดับน้ำ ที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนถึงวิกฤตร้ายแรงกำลังมาเยือนคนท้ายเขื่อนกั้นแม่โขงในทุกมิติ ทั้งธุรกิจเดินเรือ ยันเกษตร-ประมง ของ 5 ชาติ “พม่า – ลาว – ไทย – กัมพูชา-เวียดนาม” สื่อจีนฟันธง แล้งนี้หมดหวังน้ำจากเหนือเขื่อน หลังหยุนหนันเจอแล้งหนักรอบ 6 ทศวรรษ
เพียงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ระดับน้ำในแม่น้ำโขง จากการตรวจวัดระดับน้ำที่ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีระดับต่ำสุดที่ 0.37 เมตร นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบชั่วอายุคนที่เคยเห็นกับตา ทั้งที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง จากปกติน้ำโขงจะเริ่มแห้งในเดือนเมษายน
ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่น่าหวาดหวั่นยิ่งของคนลุ่มน้ำโขงทั้งพม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม
บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ ที่อาศัยอยู่ริมน้ำตามพรมแดนเชียงราย ทั้งที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ตลอดแนว 90 กิโลเมตร ต่างก็ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่เคยพบเคยเห็นแม่น้ำโขงเหือดแห้งมากเท่านี้มาก่อน เพราะเหลือความลึกเฉลี่ยไม่ถึง 1 เมตร จนเห็นเกาะแก่ง ผาหิน ใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยเห็นโผล่พ้นน้ำทั่วบริเวณ
ทั้งนี้ เพราะเมื่อปี 2541 ระดับน้ำต่ำสุด ณ จุดเดียวกันนี้ วัดได้ที่ 0.83 เมตร ,ปี 2542 วัดได้ 0.83 เมตร , ปี 2543 วัดได้ 1.12 เมตร , ปี 2544 วัดได้ 1.08 เมตร , ปี 2545 วัดได้ 1.39 เมตร , ปี 2546 วัดได้ 1.26 เมตร , ปี 2547 วัดได้ 0.70 เมตร , กุมภาพันธ์ 2551 วัดได้ 0.97 เมตร , ปี 2552 ต่ำสุดที่ 1.06 เมตร
นอกจากนี้ เว็บไซต์ http://society.yunnan.cn/html/2010-02/23/content_1081592.htm ยังเผยแพร่ข้อมูลของกองทัพเรือสิบสองปันนาอีกว่า ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นมา น้ำที่ไหลในแม่น้ำโขงเหลือเพียง 260-280 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที ทำให้มีเรือติดอยู่ตามชายแดนพม่า – ลาว หลายลำ แต่ด้วยภัยแล้งในจีน ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง อันเป็นเขื่อนที่อยู่ใต้สุดของจีนที่กั้นน้ำโขงอยู่ เพื่อช่วยเหลือเรือสินค้าที่อยู่ใต้น้ำได้
ขณะที่ นสพ.ไชน่าเดลี่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ตีพิมพ์ข่าวสารระบุว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมาได้มีความพยายามกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน เพราะได้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างหนักและร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี
รวมถึงเจ้าหน้าที่ของบริษัทหัวเหนิงลานซางไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด เอกชนที่เข้าไปก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้ง 4 แห่ง ก็ยังระบุว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในเขื่อน จนกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลหยุนหนันได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับ นสพ.หนานฟ่างเดลี่ ของจีน ซึ่งรายงานในทำนองเดียวกันว่า ได้เกิดความแห้งแล้งในหยุนหนัน อย่างหนัก ทำให้เขื่อนเสี่ยววาน ต้องการน้ำอย่างมาก เพราะเป็นเขื่อนสำคัญสำหรับหล่อเลี้ยงเขื่อนอื่นๆ
นี่คือ ดัชนีบ่งชี้ชะตากรรมของคนในลุ่มน้ำโขงตอนใต้ตลอดแนวในแล้งนี้
คนเดินเรือสินค้า – เรือโดยสาร ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ ที่ใช้แม่น้ำโขงทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิต นอกจากต้องหยุดเดินเรือกันถ้วนหน้าในแล้งนี้แล้ว พวกเขายังมองไกลไปอีกว่า เรื่องปริมาณน้ำที่แห้งเหือด ไม่ใช่ปัญหาเดียวของแม่น้ำโขง แต่ยังมีปัญหาอื่น ที่เป็นเรื่องใหญ่เกิดขึ้นอีก นั่นคือ ตะกอนทราย ในแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ใต้ท้องน้ำ เต็มไปด้วยทราย ซึ่งพร้อมจะทำให้เรือเกยตื้นหรือใบพัดเรือตีจนเสียหายได้ทุกเมื่อ
ปัจจุบันจึงเหลือเพียงเรือยนต์ช้า -เรือโดยสารสำหรับคนลาวข้ามมาซื้อสินค้าหรือรักษาพยาบาลในฝั่งไทยที่นานๆ ครั้งจะแล่นเข้าออกฝั่ง แต่บรรทุกผู้โดยสารได้คราวละ 1-2 คนเท่านั้น รอวันที่แม่น้ำจะกลับมาเจิ่งนองช่วงต้นฤดูฝน หรือไม่ก็ต้องคอยอานิสงส์ การปล่อยน้ำจากเขื่อนในเขตจีน ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน ไปทางเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ตั้งประเด็นว่า ดูอย่างนี้แล้ว ทำไมคนของรัฐไทย ยังออกมาบอกว่า น้ำโขงแห้ง ไม่ได้เกิดจากเขื่อนจีน !?
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า ได้ร่วมกับภาคประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขา เฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำมาตลอด ทั้งจัดทำข้อมูลและวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของพืช-สัตว์ในแม่น้ำโขง วิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งซึ่งใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขา ฯลฯ กระทั่งพบว่าแม่น้ำโขงกำลังจะได้รับผลกระทบ หลังจากมีเขื่อนกั้นในมณฑลหยุนหนัน ตั้งแต่ปี 36 คือเขื่อนม่านวาน
จากนั้นในปี 2544 ก็มีการใช้ข้อตกลงการเดินพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติคือไทย พม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจของจีนเริ่มขยายตัว ต้องการใช้ทรัพยากรสูงขึ้นโดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าและน้ำ ขณะเดียวกันมีเรือสินค้าในแม่น้ำโขงแล่นระหว่างจีน - อ.เชียงแสน อ.เชียงของ มากขึ้นด้วย
“เรามองว่า ทั้งหมดไม่ได้เป็นไปตาม รธน.ของไทย เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่โครงการเหล่านี้ก็ยังเดินหน้า ทั้งเรื่องเขื่อนที่สร้างขึ้นแล้วทั้ง 4 แห่งในหยุนหนัน การระเบิดเกาะแก่งเปิดทางให้เรือสินค้าบรรทุกสินค้าใน 4 ชาติ”
เขามองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะผลของแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเกือบจะเท่าปีนี้เริ่มเกิดขึ้นในปี 2539-2540 ซึ่งเขื่อนแห่งแรก เริ่มเปิดและกักเก็บน้ำพอดี โดยเกิดผลกระทบหนักในเขต สปป.ลาว กระทั่งปีนี้เขื่อนแห่งที่ 4 ในแม่น้ำโขงเริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปลายปี 2552 ผลกระทบก็ออกมาอย่างที่เห็น
ปรีชา ร้อยแก้ว แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของ อีกคน บอกว่า วิกฤตน้ำโขง ทำให้คนสองฝั่งน้ำที่อยู่ใต้เขื่อนจีนลงมา กระทบกันถ้วนหน้า เช่น คนหาไก (สาหร่ายน้ำจืด) ที่ต้องใช้อุณหภูมิ-ความลึก ที่เหมาะสม รวมทั้งเติบโตอยู่บนโขดหินตามริมฝั่งแม่น้ำที่ตื้นพอเหมาะ แต่เมื่อน้ำโขงแห้ง ไกเกาะติดอยู่บนหินเขียวขจี ก็ค่อยๆ ตายเพราะถูกแสงแดดแผดเผา
“ปีนี้คิดว่า แทบจะไม่มีไกให้ชาวบ้านได้บริโภคหรือนำมาแปรรูปขาย”
ส่วนภาคเกษตรริมโขง (พื้นที่เกษตรหน้าหมู่) ซึ่งชาวบ้านใช้พื้นที่ริมฝั่งเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ก็ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2540 หรือ 1 ปีหลังเขื่อนแห่งแรกของจีนเปิดใช้งาน เพราะบางครั้งน้ำก็ท่วม บางครั้งก็เหือดแห้ง ทั้งยังมีปัญหาตลิ่งพังทลาย ทำให้หลายรายสูญเสียที่ทำกิน ที่ธรรมชาติเคยให้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายไปอย่างน่าเสียดาย
ศรีนวล สมพันธ์ อายุ 56 ปี คนขับเรือหางยาวรับนักท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สะท้อนว่า เขาขับเรือรับจ้างมานานกว่า 20 ปีไม่เคยเห็นน้ำโขงแห้งมากเท่าปีนี้มาก่อน จนแม้แต่เรือเร็วยังแล่นไม่ได้ เพราะใบพัดจะโดนทรายหรือหิน ซึ่งถือว่าช่วงนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เดิมจะมีรายได้วันละ 1,000-2,000 บาท วันนี้แทบจะไม่มีรายได้เลย
เช่นเดียวกับนายอัศกร ธรรมรัตน์ อายุ 36 ปี ชาวประมงที่หมู่บ้านปงโขง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน กล่าวว่า เขาออกหาปลาในแม่น้ำโขงด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มอง อวนเล็ก ไซ ฯลฯ เลี้ยงชีพมานาน แต่รอบหลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำโขงขึ้น 3 วัน ลด 3 วัน ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้อุปกรณ์หาปลาที่ดักปลาริมฝั่งแทบใช้การไม่ได้ ส่วนการหาปลาด้วยมอง ตามปกติก็ได้แค่ปลาซิว หรือปลากระตักขนาดเล็ก จากอดีตเคยจับได้ปลาแค้ ปลาคัง ฯลฯ
“ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ปลาในน้ำโขงหายไปหมด”