xs
xsm
sm
md
lg

อคส.รับลูกเคลียร์หนี้มันตามใบสั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อคส.รับลูกนายกฯ ตั้งบอร์ดเคลียร์หนี้ค่าแปรสภาพ ค่าเช่าโกดังข้าว มัน ข้าวโพด 3.9 พันล้าน พร้อมเร่งเลิกสัญญาเช่าไซโลกับจีจีเอฟ ด้าน “บรรยงค์” เร่งสอบนอมินีซ้ำ หากพบไม่ใช่คนไทยมีสิทธิ์ติดคุกแน่
นายถวิล พึ่งมา ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ดอคส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติให้ตั้งคณะกรรมการติดตามการจ่ายเงินค้างชำระค่าแปรสภาพและค่าเช่าโกดังสำหรับมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว รวมเป็นเงินประมาณ 3,900 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่โดยเร็ว ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ อคส. พร้อมเบิกจ่ายเงินได้ทันที 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% ยังติดปัญหาเอกสารคลาดเคลื่อน และบางรายมีปัญหาถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการเป็นพิเศษต่อนายพุทธิสัตย์ นามเดช รักษาการผู้อำนวยการอคส. ให้เจรจายกเลิกสัญญาเช่าไซโลกับบริษัท จีจีเอฟ (ไทยแลนด์) หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า การทำสัญญษดังกล่าวไม่โปร่งใส และไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้อคส.จัดหาวิธีปรับปรุง และบรรจุถุงข้าวสารเพื่อส่งมอบให้ผู้ประสบภัยในประเทศเฮติ และฟิลิปปินส์ ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในปลายเดือนนี้ไทยต้องส่งบรรจุข้าวสารไปเฮติอีก 4,000 ตัน และอีก 10,000 ตันภายในเดือนมี.ค. ส่วนฟิลิปปินส์จะต้องส่งไปให้ทันเดือนก.พ.นี้
นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบริษัท จีจีเอฟ คู่สัญญาเช่าไซโลกับอคส. หลังจากที่ ดีเอสไอ ชี้มูลว่าเข้าข่ายมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ว่า ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น งบดุล งบกำไรขาดทุน เอกสารการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่ดีเอสไอส่งมาให้แล้ว และภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้ จะเชิญผู้บริหารจีจีเอฟมาให้ถ้อยคำ โดยจะไม่ผ่อนผันให้ตามที่ร้องขอ หากไม่มาตามนัด จะมีโทษปรับ 5,000 บาท คาดว่าจะใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะชี้ชัดได้ว่า เป็นนอมินีจริงหรือไม่
“จากเอกสารหลักฐานที่กรมฯ มีอยู่ตอนนี้ ยืนยันว่า จีจีเอฟยังไม่เป็นนอมินี แต่กำลังพิจารณาเอกสารหลักฐานของดีเอสไอที่ส่งมาให้ หากเป็นนอมินีจริง คนไทยที่ช่วยเหลือชาวต่างชาติด้วยการถือหุ้นแทน เพื่อทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายต่างด้าว จะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสน - 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากส่งฟ้องศาลแล้วศาลสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท” นายบรรยงค์กล่าว
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอ ตรวจสอบพบว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามสิทธิของสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ปี 2511 โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นสัญชาติอินเดีย และออสเตรเลียนั้น จนถึงขณะนี้ดีเอสไอยังไม่ส่งข้อมูลมาให้ กรมฯ จึงได้ทำหนังสือทวงถามไปอีกครั้ง และยังได้ทำหนังสือไปยังกรมการจัดหางาน ซึ่งมีข้อมูลการจ้างงานของผู้บริหารต่างด้าวที่ต้องขออนุญาตเข้ามาทำงานในไทย และสำนักงานตำรวชแห่งชาติ เพื่อขอขอมูลการเข้าประเทศของกรรมการ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่กรมฯ มีอยู่ ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นสัญชาติอื่น จึงยังระบุไม่ได้ว่าผิดเงื่อนไขในสนธิสัญญาไมตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น