xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”ค้าน”คลัง”แปรรูปการบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“โสภณ”โต้”กรณ์ “ ค้านแนวคิดแปรรูปการบินไทย ยันต้องเป็นสายการบินแห่งชาติและเครื่องมือสนองนโยบายรัฐบาล เชื่อเจอสหภาพฯ-พนักงานต้านแน่นอน ติงพิจารณาแผนเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาทชักช้า กระทบแผนลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพ

วานนี้ (15 ก.พ.) นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันแนวคิดการแปรรูปบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน โดยการขายหุ้นซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 50.1% ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และการที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้นทั้งหมดออกไป คงเป็นไปไม่ได้ กระทรวงการคลังยังต้องถือหุ้นอยู่ แต่อาจจะไม่ใช่หุ้นใหญ่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเพราะช่วงเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เคยแปรรูปมาแล้วครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ในฐานะที่ผู้กำกับดูแลการบินไทย ต้องการให้การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติ เพราะการบินไทยเป็นหน้าตาของประเทศ บางเรื่องต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ส่วนการบริการนั้นก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ

ส่วนแผนที่เสนอให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุนจำนวน 10,000 ล้านบาทนั้น นายโสภณ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้ส่งรายละเอียดไปให้คลังพิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนกรณีที่คลังเห็นว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจเพิ่มให้โดยทันทีนั้น กระทรวงคมนาคมเกรงว่าหากคลังพิจารณาล่าช้าอาจมีผลกระทบถึงแผนซื้อเครื่องบินทั้ง 3 ระยะ ตามแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าในช่วง 15 ปี ของการบินไทย
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอมา ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการนำเงินงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชนเข้าไปสนับสนุนการบินไทยเวลาเกิดวิกฤตขึ้นได้ แต่คงเป็นเรื่องยากเนื่องจากเรื่องดังกล่าวคงจะต้องถูกการต่อต้านจากกลุ่มพนักงานอย่างรุนแรง รวมทั้งหากได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจริงแล้ว สถานะของรัฐบาลที่ต้องกำกับเอกชนต้องเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดูแลเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลขณะนี้คือ กรมการบินพลเรือน (บพ.) ต้องมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับแผนลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ แบ่งแผนเป็น 3 ระยะ ปี 2553-2557 (ระยะแรก) จำนวน 15 ลำ แบ่งเป็นจัดหาเครื่องบินภูมิภาค ขนาดความจุประมาณ 300 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ วงเงินลงทุนประมาณ 31,259 ล้านบาทโดยการซื้อและใช้เครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการจัดหาเงินกู้ และจัดหาเครื่องบินข้ามทวีป ขนาดความจุประมาณ 350 ที่นั่ง ด้วยวิธีการเช่าดำเนินการ (Operating Lease) เป็นระยะ เวลา 10-15 ปี จำนวน 8 ลำ วงเงินเบื้องต้น 70,000-80,000 ล้านบาท

ระยะที่ 2 จะดำเนินการระหว่างปี 2558-2562 โดยจะจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ จำนวน 38 ลำ ซึ่งทำให้มีฝูงบิน 93 ลำ เครื่องบินมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ส่วนระยะที่ 3 จะดำเนินการระหว่างปี 2563-2567 จัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ จำนวน 28 ลำ ซึ่งทำให้มีฝูงบินรวม 101 ลำ โดยในจำนวนนี้ 70% เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ ส่งผลให้ฝูงบินมีเครื่องบินใหม่ที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยแค่ 7-8 ปีเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น