"ซาเล้ง" ได้ทีไล่บี้ "การบินไทย" เลิกบิน 3 เส้นทาง 1 มี.ค.นี้ เปิดทางนกแอร์เสียบแทน สั่งจัดทำรายละเอียดต้นทุนทั้งหมด ขีดเส้น 10 ก.พ.นี้ ชี้ เหตุผลขาดทุนไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะเที่ยวบินเต็มเกือบ 80% ยันไม่ใช่การแทรกแซง ด้านหอการค้าฯ ประกาศค้านสุดตัว โวยใช้วิธีแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อัดเละนกแอร์ ยังไม่น่าเชื่อถือพอ
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยระบุถึงกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI/ทีจี เตรียมยกเลิกเที่ยวบินใน 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก กรุงเทพ-อุบลราชธานี และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน โดยให้สายการบินนกแอร์มาทำการบินแทนในวันที่ 1 มีนาคม 2553 นั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้การบินไทยไปจัดทำรายละเอียดต้นทุนการให้บริการของทั้ง 3 เส้นทาง
นอกจากนี้ กรอ.ยังมอบหมายให้ การบินไทย จัดทำรายละเอียดต้นทุนการบินในเส้นทางอื่นๆ ที่เตรียมจะยกเลิกบินด้วย เช่น สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี โดยให้นำข้อมูลมาเสนอให้นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 นี้
"ที่ประชุมมีความคิดเห็นต่างกันถึงการยกเลิกเที่ยวบินในประเทศของการบินไทย โดยการบินไทยระบุว่าขาดทุน แต่ภาคเอกชนตั้งข้อสังเกตุว่า การบินไทยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงถึง 80% ทำไมถึงขาดทุน"
ดังนั้น การบินไทยจะต้องทำรายละเอียดต้นทุนมาให้พิจารณา เพื่อจะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของ กรอ.ว่าจะมีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร พร้อมยืนยันว่า การดำเนินงานดังกล่าวไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงการทำงานของการบินไทย
ส่วนกรณีที่สายการบินบางกอกแอร์เวยส์เสนอตัวเข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการบินพลเรือน และพร้อมจะจัดให้มีเที่ยวบินเพื่อทำการบินไปยังทุกท่าอากาศยานนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสนใจกับเรื่องนี้ โดยจะขอหารือในรายละเอียดก่อน และคาดว่าจะต้องประกาศเชิญชวนเอกชนรายอื่นให้เข้ามาแข่งขันด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งภาครัฐและประชาชน
"กระทรวงคมนาคมให้ความสนใจกรณีที่เอกชนจะเข้ามาบริหารท่าอากาศยาน เพื่อที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่ให้เป็นสนามบินร้างเหมือนปัจจุบัน แต่ข้อเสนอของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์นั้น เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นคงต้องหารือกันในรายละเอียดและรูปแบบการดำเนินงานก่อน"
ทั้งนี้ การให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าอากาศยานของกรมการบินพลเรือนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากไม่ขัดต่อกฎหมายก็จะเริ่มดำเนินการทันที แต่หากติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมด้านการบินก็จะแก้ไขกฎหมาย นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายส่งเสริมให้สายการบินจัดเส้นทางบินภายในประเทศที่แน่นอน และจะให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ในการบิน เช่น การลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงและการจอดอากาศยาน (LANDING & PARKING FEE) รวมทั้งค่าธรรมเนียมการจัดการจราจรทางอากาศ
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ท่าอากาศยานของกรมการบินพลเรือนทั้ง 28 แห่ง พบว่ามีท่าอากาศยานจำนวน 10 แห่ง ที่ยังไม่มีเที่ยวบินประจำ ได้แก่ ท่าอากาศยานชุมพร ระนอง เพชรบูรณ์ เลย ตาก นครราชสีมา สุรินทร์ น่าน แม่สะเรียง และร้อยเอ็ด
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า กรณีที่การบินไทย จะยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศ ในเส้นทางจังหวัดพิษณุโลก อุบลราชธานี และแม่ฮ่องสอน โดยให้สายการบินนกแอร์เปิดบินแทนนั้น หอการค้าไทยได้จัดประชุมหารือร่วมกับประธานหอการค้าจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ที่ประชุมเห็นว่า การที่การบินไทยจะแก้ไขปัญหาการขาดทุน ด้วยการยกเลิกการบินแล้วให้สายการบินนกแอร์ให้บริการแทน ไม่น่าจะเป็นแนวทางหรือวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่า การบินไทยควรแก้ไขปัญหาการขาดทุนจากการบริหารจัดการภายในของการบินไทยก่อน เนื่องจากจังหวัดที่มีการยกเลิกการบิน ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งมีการเดินทางของนักท่องเที่ยว ข้าราชการ พ่อค้า นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยโดยรวมไม่น้อยกว่า 70–80 %
นอกจากนี้ การบินไทย ถือเป็นสายการบินแห่งชาติที่เป็นความภาคภูมิใจ และผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างก็ให้ความเชื่อมั่นสูงสุด ดังนั้น หากยกเลิกการบินไป จะทำให้ผู้โดยสารของการบินไทยขาดโอกาสในการใช้บริการ และยังจะทำให้ความภูมิใจของการใช้บริการสายการบินแห่งชาติ (Brand Loyalty) ลดน้อยลงไปในที่สุด รวมทั้ง ผู้โดยสารเองก็ยังขาดความเชื่อมั่นจากสายการบินที่จะมาให้บริการแทน ทั้งในเรื่องของราคาค่าโดยสาร มาตรฐานการให้บริการ และความปลอดภัยอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังมีความกังวลว่า หากการบินไทยยังใช้แนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบออกไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ขอให้การบินไทยช่วยพิจารณาทบทวนการยกเลิกการให้บริการในเส้นทางภายในประเทศดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์ของการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ตลอดจนประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมตลอดไป