xs
xsm
sm
md
lg

“ซาเล้ง”รับปากดันรถไฟเด่นชัย-เชียงรายรอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย – “ซาเล้ง”ประกาศพร้อมดันรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย หากทุกฝ่ายเห็นชอบ ด้าน ร.ฟ.ท.ย้ำพร้อมทุกด้าน ขณะที่การศึกษารอบใหม่เน้นรางใหญ่-คู่ขนาน

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำผู้บริหารกระทรวงฯ และรัฐวิสาหกิจในสังกัด เข้าร่วมงานเสวนาเรื่อง "การพัฒนา จ.เชียงราย" ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย โดยมีนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ.เชียงราย ให้การต้อนรับ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดให้มีการรณรงค์เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟสายจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ - จ.เชียงราย อย่างโดดเด่น แม้จะใช้ชื่อการเสวนาในภาพรวมว่าเป็นเรื่องการพัฒนาเชียงรายก็ตาม โดยมีการนำรูปรถไฟขนาดใหญ่ตั้งเพื่อรองรับการถ่ายภาพร่วมก่อนเปิดเสวนาที่หน้าหอประชุม ส่วนภายในห้องประชุมจัดฉากหลังเป็นรูปรถไฟและด้านล่างเวทียังจัดรูปรถไฟพร้อมธงสถานีเชียงราย เพื่อให้นายโสภณ เป็นประธานในการปักธงอันเป็นสัญลักษณ์ของการผลักดันโครงการนี้ด้วย

ขณะที่นายสุเมธ และนางรัตนา ได้ขึ้นกล่าวต้อนรับ และเสนอข้อมูลว่า ชาวเชียงรายต้องการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย
พร้อมผลสำรวจความต้องการของประชาชนพบว่าเรื่องนี้ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เพราะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า การโดยสาร การท่องเที่ยว เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ขนานไปกับถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ได้อีกด้วย แต่การผลักดันก็ยืดยาวมานานกว่า 50 ปี กระทั่งคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อปี 2540 ผลักดันเรื่องนี้อีกครั้ง แต่เรื่องก็เงียบหายไป และปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้ง อบจ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ต่างเริ่มออกมารณรงค์ต่อเนื่อง

ด้านนายโสภณ กล่าวว่า เมื่อมองจากศักยภาพของเชียงรายแล้วพบว่า ลักษณะทางกายภาพเหมาะสม ในการเป็นประตูสู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันจึงมีโครงการพัฒนาทั้งทางบก ทางเรือในแม่น้ำโขง และทางอากาศ สำหรับตนแล้วมีความตั้งใจอยู่แล้วในการพัฒนาลอจิสติกส์เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะในชนบท ดังนั้น การผลักดันรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันของทุกคน และรัฐบาลก็จะสนับสนุนทุกอย่างเหลือเพียงอย่างเดียวคือความสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของภาคประชาชน

“หลังการเสวนาจะนำข้อมูลทั้งหมดไปผลักดันเพื่อชาวเชียงราย โดยไม่ได้มองว่าเป็นผลงานของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง”นายโสภณกล่าว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากนั้นได้มีการจัดเสวนาโดยนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม นำอธิบดีและรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมการบินพลเรือน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และผู้ว่าการdkiรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นต้น

นายยุทธนา ทับเจริญ ผู้ว่าการร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาและออกแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย ตั้งแต่ปี 2544 และปี 2547 กระทั่งปี 2553-2554 รัฐบาลก็ให้ศึกษาอีก แต่เป็นลักษณะรถไฟสายใหญ่กว่าเดิมคือรางกว้าง 1.453 เมตร ขยายเป็นรถไฟรางคู่และจัดหาเอกชนที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้รูปแบบเส้นทางเดิมที่ ร.ฟ.ท.ศึกษาเอาไว้คือช่วงแรกจากเด่นชัย-เชียงราย 246 กิโลเมตร จากเชียงราย-สันยาว 40 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายไปทาง อ.เชียงแสน และจากสันยาว-เชียงของ อีก 40 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมกับสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ ต่อไป

"การรถไฟฯ มีความพร้อมที่จะก่อสร้าง แต่ก็อย่างที่ท่านรัฐมนตรีได้กล่าวเอาไว้ว่าการจะทำให้เกิดรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการผลักดันร่วมกันของภาคประชาชนเป็นสำคัญ" นายยุทธนา กล่าว

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รฟท.เคยศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย แล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือน มิถุนายน2538 และออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อเดือน มิถุนายน 2541 จนมีการขออนุมัติดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 แต่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าต้องใช้การลงทุนกว่า 24,161 ล้านบาท ทั้งเป็นห่วงเรื่องการขาดทุนรวมทั้งต้องผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขากว่า 3,980 เมตร จึงให้ รฟท.กลับไปศึกษารถไฟสายใหญ่จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อขออนุมัติงบประมาณปี 2554 เพื่อก่อสร้างต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น