xs
xsm
sm
md
lg

‘สร้างงานผู้สูงอายุ’สร้างโอกาสปฏิบัติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘การงานคือการปฏิบัติธรรม’ สำหรับผู้สูงอายุไทยนั้นเป็นจริงอย่างถึงที่สุด ด้วยขณะสังขารร่วงโรยแต่คงต้องปากกัดตีนถีบทำงานเพื่ออยู่รอดแต่ละวันนั้นใช่หมายถึงการได้รายได้จุนเจือชีวิตเท่านั้น ทว่าจิตยังได้ฝึกฝนจนเป็นสมาธิขึ้นมากจากการแน่วแน่อยู่กับการงานที่เลี้ยงชีวิต กระทั่งทั้งการงานและชีวิตผสานกันเป็นเอกภาพของการอยู่รอดที่รอบคอบไม่ประมาทไม่โลภหลงกิเลส

การเปิดโอกาสในการทำงานจึงจำเป็นยิ่งยวดหากปรารถนาให้ผู้สูงอายุที่ต้องยังชีพด้วยการทำงานที่มีอยู่ราว 1 ใน 3 ของประชากรสูงอายุไทย 7.4 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตปัญญา เพราะประมาณร้อยละ 70 และ 65 ของกลุ่มผู้สูงวัยชายอายุ 60-65 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องทำงานต่อเนื่องเพราะเป็นรายได้หลักของครอบครัว ขณะประมาณร้อยละ 60 ของกลุ่มผู้สูงอายุหญิงก็ต้องทำงานต่อเนื่องเพราะเป็นรายได้หลักของครอบครัวเช่นกัน

ทั้งสภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่นถึงแม้เป็นลูกหลานก็สร้างความคับอกคับใจได้ไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจเสื่อมถอย ทั้งปัจจุบันผู้สูงวัยจำนวนมหาศาลก็ไร้ลูกหลานดูแล ไร้เงินออมเพียงพอดำรงชีวิตชำรุดทรุดโทรม การทำงานเลี้ยงตนเองจึงเป็นทางออกหนึ่งของวัยชรา รวมถึงของรัฐบาลและประชากรวัยแรงงาน แม้ว่าที่ถูกควรทั้งคู่จะมีภาระเกื้อกูลตามหลักกตัญญูกตเวทิตาก็ตาม

วิกฤตสูงวัยในห้วงขณะหลักประกันรายได้ชราภาพขาดประสิทธิภาพและพึ่งพาลูกหลานยากมากขึ้นทุกวันเช่นนี้จึงต้องส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีงานทำเร่งด่วน เพราะได้ทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากการไม่ตกเป็นภาระ และยังยืดช่วงเวลาการออมเพื่อชีวิตมั่นคงของบั้นปลายด้วย

ปัจจุบันผู้สูงอายุไทย 2.8 ล้านคนยังอยู่ในกำลังแรงงาน ร้อยละ 30 ถึงว่างงานแต่ก็ไม่ท้อแท้ที่จะหางานทำ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างงานทั้งโดยภาครัฐและเอกชนจึงต้องมองผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยเฉพาะโอกาสในกลุ่มอุตสาหกรรมขายส่ง-ปลีก ซ่อมแซมยานยนต์-รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล-ครัวเรือน อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคาร รวมถึงกลุ่มอาชีพการบริการ อาชีพพื้นฐาน และความสามารถทางฝีมือ

กลุ่มอุตสาหกรรมและอาชีพเหล่านี้สามารถรองรับแรงงานผู้สูงวัยที่ส่วนใหญ่รายได้ต่ำ ไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาต่ำกว่าประถม ที่ยังคงต้องดิ้นรนกันต่อไปตั้งแต่หนุ่มสาวยันแก่เฒ่าเพราะแทบไร้เงินออมพอเพียงเลี้ยงชีพชรา ต่างจากผู้สูงอายุที่มีการศึกษาสูงที่เหลือทำงานไม่มากเพราะเก็บหอมรอมริบในวัยแรงงานได้เป็นกอบกำ และที่สำคัญแรงงานผู้สูงอายุ 2.5 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบที่ไร้สวัสดิการและหลักประกันทางสังคมใดๆ แม้แต่ด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 89.7 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 91 ในปี 2551

ทั้งนี้ ถึงไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมมาระยะหนึ่ง ทว่าฐานรากประเทศแท้จริงคือเกษตรกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานผู้สูงอายุไทยจึงอยู่ในภาคเกษตรกรรมมากกว่าภาคนอกเกษตรกรรม ดังช่วงปี 2546-2551 ที่แม้การทำงานนอกภาคเกษตรกรรมจะเพิ่มจากร้อยละ 39.6 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 40.6 ในปี 2551 แต่ร้อยละ 59.4 ของผู้สูงอายุก็ยังคงฝากชีวิตไว้กับภาคเกษตรกรรมอยู่ดี ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีวันปลดเกษียณ อีกส่วนก็ย้ายกลับมาเมื่ออายุเยอะ

ยิ่งกว่านั้น การงานเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรรมยั่งยืนยังแผ้วถางทางธรรมเพราะทำให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้การวางท่าทีสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ถูกต้องจนเบื้องปลายสามารถเข้าถึงภาวธรรมได้

กระนั้นถึงที่สุดแล้วไม่ว่าแรงงานผู้สูงอายุจะอยู่ในหรือนอกภาคเกษตรกรรมก็นับเป็นนิมิตหมายดีของประเทศไทยที่ก้าวสู่สังคมสูงอายุแล้ว เพราะไม่เพียงปัจเจกบุคคลจะมีช่วงเวลาเก็บออมเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในยามชราภาพเท่านั้น ระดับมหภาครัฐบาลยังสามารถส่งเสริมแรงงานผู้สูงอายุให้ทำงานต่อไปตามความพร้อมและศักยภาพที่เหมาะสมจนผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ เพราะ ‘การงานคือคุณค่าของมนุษย์’

อย่างไรก็ดี จากการประมาณการความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุพบว่าปี 2552-2562 ความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุจะเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.5 ต่อปี หรือ 2.9 ล้านคนในปี 2552 เป็น 3.7 ล้านคนในปี 2562 ขณะที่กำลังแรงงานของผู้สูงอายุในช่วงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.38 ต่อปี หรือ 3 ล้านคนในปี 2552 เป็น 5.1 ล้านคนในปี 2562 นั่นทำให้ทศวรรษหน้าหนักหนาแน่นอนถ้ายังไม่อาจลดช่องว่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานผู้สูงอายุกับความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุได้

เหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องมีวิสัยทัศน์กำหนดนโยบายที่สอดรับกับความต้องการทำงานของกำลังแรงงานผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ก่อนกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีงานทำที่สอดคล้องกับสมรรถนะผู้สูงอายุ เพราะถึงที่สุดปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะ ‘เข้มแข็ง’ ไม่ได้ ถ้าผู้สูงอายุไทยยังคงอ่อนแออันเนื่องมาจากส่วนหนึ่งไร้งานหล่อเลี้ยงชีวิตร่วงโรย

โดยมาตรการสร้างโอกาสการทำงานระยะยาวและเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุนั้นจะเริ่มต้นที่การพัฒนาขีดความสามารถและสภาวะแวดล้อมในการทำงาน โดยมุ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้สูงวัยมีศักยภาพ และกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะฝีมือ พร้อมกับสนับสนุนให้ได้ทำงานที่สร้างและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือรวมกลุ่มทำงานที่ไม่ต้องพึ่งการจ้างงานจากนายจ้าง ดังเช่นงานชุมชน

ตลอดจนประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนทัศนคติการหยุดทำงานเมื่อถึงวัยเกษียณเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุสุขภาพดี มีความสามารถความพร้อมสามารถเลือกเวลาทำงานตามความเหมาะสมต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนนายจ้างจัดเวลาทำงานของผู้สูงอายุอย่างยืดหยุ่น ส่วนหน่วยงานรัฐก็ควรมีโปรแกรมฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรืออาชีพต่างๆ แก่แรงงานผู้สูงอายุ

ในระหว่างสร้างโอกาสก็ต้องปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุเพื่อเอื้อให้สามารถทำงานได้ ทั้ง 1) พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติคุ้มครองการทำงานของผู้สูงอายุในตลาดแรงงานไม่ให้ได้รับอันตรายจากการทำงานทั้งด้านลักษณะงานและสิ่งแวดล้อม และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ (Age Discrimination) รวมถึงลดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อหนึ่งวันและต่อสัปดาห์ พร้อมกับกำหนดเวลาพักระหว่างทำงานด้วย

2) พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ไม่ควรจำกัดอายุแรงงานที่เข้าประกันตนในกองทุนประกันสังคมที่ให้ลูกจ้างอายุไม่เกิน 60 ปีเป็นผู้ประกันตน และไม่ควรกำหนดอายุการเกิดสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ แต่ควรเปิดโอกาสให้เลือกเวลารับบำนาญชราภาพได้ เพราะการรับบำนาญชราภาพไปบางส่วนขณะทำงานในเวลาที่เลือกได้ไปด้วยกันจะทำให้มีรายได้เพียงพอ

3) พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ไม่ควรกำหนดอายุเกษียณ 60 ปี แต่ให้ข้าราชการขยายระยะเวลาเกษียณทำงานต่อได้ตามความสมัครใจเท่าที่สมรรถภาพเอื้ออำนวย และ 4) พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่ควรระบุอาชีพสงวนสำหรับผู้สูงอายุ (Quota)

นอกจากนี้ก็ต้องใช้นโยบายภาษีจูงใจให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุในสาขาอาชีพที่สนับสนุน ทั้งด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการ (Tax Subsidy) และการสนับสนุนค่าจ้าง (Wage Subsidy) ควบคู่กับยกเว้นเบี้ยประกันสังคม และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแรงงานผู้สูงอายุ

ดังนั้น แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (ปี 2553-2555) ของรัฐบาลที่มุ่งสร้างตำแหน่งงานใหม่ 1.6 ล้านคนภายใน 3 ปีจึงต้องรวมแรงงานผู้สูงอายุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว เพราะไม่เพียงผลตอบแทนทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงปัจจัย 4 เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดด้วยดี แต่สัมมาอาชีพที่ประกอบยังเป็นวิธีหนึ่งในการก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่สูงกว่าสำหรับการพัฒนาคุณภาพจิตปัญญาเพื่อชีวิตดีงามและการประสบสุขประณีตยิ่งขึ้นจากการสามารถรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้

ในสังคมไทยที่ผู้สูงวัยมากมายถูกกระทำย่ำยีเพราะถูกมองเป็นภาระ การสร้างงานผู้สูงอายุจะสามารถสลัดล่ามร้อยพึ่งพิงนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสพัฒนาสติ สมาธิ ขันติ อุตส่าห์ สัจจะ ทมะ ปัญญา ศรัทธา และกล้าหาญ แก่คนเฒ่าคนแก่ เพราะถ่องแท้แล้ว ‘การงานคือการปฏิบัติธรรม’ ดังอาจารย์พุทธทาสอรรถาธิบายธรรมไว้นั่นเอง

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น