รายงานพิเศษ โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
ภายหลังสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ 57 สถาบันอุดมศึกษารอบสองว่า มีเพียงคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม (มมส.) แห่งเดียวเท่านั้นที่ผ่านการประเมินในระดับดีมาก ภาพของ “ตักสิลา” ที่พึ่งทางการศึกษาของชาวอีสานเริ่มฉายแววเด่นชัดมากขึ้น เพราะนิสิตส่วนใหญ่ของ มมส.เป็นเด็กอีสาน และเป้าหมายก็เพื่อเป็นครูให้เด็กอีสาน
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม ให้ข้อมูลว่า ความสำเร็จของคณะเกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร นั่นก็คือ มุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนแต่ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของ “งานวิจัย” ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจลุกขึ้นมาการปฏิรูปองค์กรใหม่ โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการคุณภาพเทียบเคียงจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเพื่อปรับระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรคเพื่อวางยุทธศาสตร์และยกระดับคุณภาพการศึกษา
“เราพบว่าตัวเองมีจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง คือ เน้นการเรียนการสอนแต่ไม่มีงานวิจัย และเพราะเป็นคณะเก่าแก่การบริหารงานจึงไม่คล่องตัว แต่โชคดีที่มมส.มีศิษย์เก่าซึ่งเป็นครูในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก ที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาโท จากตรงนี้เราจึงปรับหลักสูตรให้สอดรับกับการพัฒนางานครูในโรงเรียน เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้นิสิตสามารถแก้ปัญหาและพัฒนางานในหน้าที่ได้”
รศ.ดร.ประวิต เปิดเผยถึงกระบวนการขับเคี่ยวสู่มาตรฐานดีมาก ว่า ในปี 2549 ได้เริ่มปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสอน ทำงานวิจัย และให้บริการทางวิชาการได้ ลดเงื่อนไขของระบบเดิมลง จากนั้นในปี 2550 เน้นการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และปี 2551 เน้นการพัฒนาเชิงวิชาการให้เข้มแข็ง เสริมทัพด้วยการส่งอาจารย์และนิสิตปริญญาเอกไปฝึกอบรมในต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อหวังสร้างเครือข่ายในระดับสากล
“ปีล่าสุด 2552 เราลงลึกคุณภาพ โดยจะเน้นสร้าง Excellent Center วางศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ศูนย์ คือ ศูนย์จิตปัญญาศึกษา ศูนย์วิจัยเด็กพิเศษออทิสติก ศูนย์วิจัยเด็กปฐมวัย ศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และเรื่องศูนย์วิจัยและการให้บริการด้านจิตวิทยา ใน มมส.” รศ.ดร.ประวิต ให้ภาพ
การยอมรับในจุดอ่อนและปรับโครงสร้างภายใน ทำให้ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่ง รศ.ดร.ประวิต ให้ข้อมูลว่า คณะศึกษาศาสตร์ มมส.สามารถผลิตครูได้ตามสัดส่วนที่ต้องการทั้งในระบบราชการและเอกชน โดยนิสิตปริญญาตรีซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 45 ของจำนวนนิสิตศึกษาศาสตร์ทั้งหมดมีงานทำมากกว่าร้อยละ 85 ซึ่งร้อยละ 55 ที่เป็นนิสิตปริญญาโท ไม่มีปัญหาเรื่องการหางานทำเพราะส่วนใหญ่เป็นครูอาจารย์ในพื้นที่อยู่แล้ว เพราะร้อยละ 80 ของนิสิตใน มมส.เป็นเด็กอีสาน
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า เป้าหมายใหม่นับจากนี้นอกจากภารกิจเดิมแล้ว คณะยังตั้งพันธกิจด้วยว่าจะเป็นที่พึ่งด้านวิชาการให้กับโรงเรียนและสถานศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่การเรียนการสอนในระดับปริญญาโทจะยกระดับหลักสูตรให้เป็นไอทีมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางคณะยังต้องการเชื่อมโยงความเป็นครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์กับระดับสากลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งขณะนี้สำเร็จแล้วเกินกว่าครึ่ง เพราะ มมส.ทำหน้าที่ผลิตครูให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ส.ป.ป.ลาว มาแล้วหลายรุ่น
“มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวส่งอาจารย์มาเรียนกับเรา เพื่อเปิดหลักสูตรใน ม.แห่งชาติลาว ศิษย์เก่าดีเด่นของก็เป็นครูอยู่ทั้งที่หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ก็หลายคน”
รศ.ดร.ประวิต ให้มุมมองทิ้งท้ายเรื่องการพัฒนาครูของวงการการศึกษาไทยว่า ดูเหมือนว่าไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องหลัก จนอาจลืมเรื่องสำคัญคือการพัฒนาครูประจำการ ที่ถือเป็นร้อยละ 95 ที่ยังทำงานในโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังต้องประเมินคุณภาพงานทุกๆ 2-3 ปีเพื่อรักษาระดับคุณภาพ หากพบมาตรฐานตกลงก็ต้องลดค่าวิทยฐานะ