xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอัดงบหนุนท่องเที่ยวภูเก็ต เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานดึง12ล้านคนเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัญชลี วานิช เทพบุตร
ศูนย์ข่าวภูเก็ต-“อัญชลี วานิช เทพบุตร” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลให้ความสำคัญเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต อัดงบประมาณมหาศาลลงมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน น้ำ ขยายสนามบิน ศูนย์ประชุมฯ เตรียมผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากสนามบินไปแหล่งท่องเที่ยว หวังสร้างความพร้อมให้ภูเก็ตรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้ปีละ 12 ล้านคน

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2,600 ล้านบาทในการจัดสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มประชุมสัมมนาหรือ MICE งบพัฒนาและขยายท่าอากาศยานภูเก็ตจำนวนประมาณ 5.7 ล้านบาท เพื่อขยายท่าอากาศยานภูเก็ตให้สามารถรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคน เป็น 12 ล้านคน

นอกจากนี้โครงการที่คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้แล้วคือ การบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคให้แก่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย เป็นต้น โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคศึกษาวางท่อส่งน้ำจืดจากเขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลานไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนนั้น ต้องรอผลการศึกษาก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือการลงทุนของเอกชนฝ่ายเดียว

ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้ให้งบประมาณ 600 ล้านบาท ในกี่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ ที่ต.ฉลอง ซึ่งภูเก็ตจะมีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 3 อ่างจะสามารถรองรับการใช้น้ำได้เป็นอย่างดี

นางอัญชลี กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันไปเพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ระบบคมนาคมขนส่งหรือลอจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็ได้มีแผนในการเพิ่มเส้นทางการจราจรคู่ขนานไปกับเส้นทางหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้เคยจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้และรายละเอียดไปแล้ว แต่จะต้องมีการนำเสนอรายละเอียดที่ชัดเจนให้แก่รัฐบาล โดยการผลักดันร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชนในพื้นที่

รูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน และขณะนี้เท่าที่ทราบมีหลายประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุน เช่น เกาหลี และจีน เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยให้สนามบินเป็นศูนย์กลางการขนส่ง(ฮับ)ขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหลักๆ 2-3 จุด เช่น สนามบิน-ป่าตอง สนามบิน-กะตะ กะรน สนามบิน-ตัวเมือง เป็นต้น ในขณะที่การเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ให้ใช้รถยนต์โดยสาร แต่เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป เนื่องจากขณะนั้นจำนวนผู้โดยสารไม่คุ้มกับการลงทุน แต่เมื่อมีการขยายสนามบิน และมีการลงทุนศูนย์ประชุมนานาชาติก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและน่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

“การผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในภูเก็ตอีกครั้ง มีความเป็นไปได้ ซึ่งทราบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดภูเก็ตว่า ได้มีการประชุมหารือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างเห็นด้วย แต่คงต้องมีการนำเสนอเป็นวาระภูเก็ตให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อจะได้มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม โดยอาจจะมีการนำเสนอเรื่องนี้ในโอกาสของการประชุมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อออกแบบศูนย์ประชุมนานาชาติในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์นี้ และหากผู้ว่าฯ รับเป็นเจ้าภาพก็จะได้มีการดำเนินการต่อ และเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเสนอรายละเอียด เพื่อนำผลการศึกษาเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลต่อไป” นางอัญชลี กล่าวและว่า

หลายฝ่ายต่างเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะปัจจุบันภูเก็ตก็กำลังประสบกับปัญหาด้านการจราจรขนส่ง โดยเฉพาะเมื่อมีการขยายสนามบินและการสร้างศูนย์ประชุมฯมีความชัดเจนแล้ว ก็ควรที่จะได้มีการหารือเรื่องของการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเรื่องของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีความจำเป็นค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ คิดว่าระบบที่จะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นโมโนเรลหรือลักษณะเดียวกับแอร์พอร์ตลิงก์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา และการนำเสนอรูปแบบของผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุน ดังนั้นโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการกำหนดปฏิทินการทำงานที่ชัดเจน หากสามารถนำเสนอรายละเอียดให้แก่รัฐบาลได้เร็ว การขับเคลื่อนต่างๆ ก็จะไปได้เร็วยิ่งขึ้น โดยอาจจะนำเสนอผลการศึกษาที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ก็ได้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สนับสนุนงบประมาณอีก 400 ล้านบาท ในการก่อสร้างทางยกระดับหรืออุโมงค์ที่บริเวณสี่แยกไทนานและสี่แยกโลตัส เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมว่าจะออกมาในรูปแบบใด หากเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้าภูเก็ตจะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการศึกษาที่จะต้องมีหลักสูตรให้เหมาะสม เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ รวมทั้งผลเปิดแรงงานเสรีภายใต้ข้อตกลงของอาเซียน ตลอดจนข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรืออาฟตาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น