ปธ.แบงก์กสิกรฯ มองปี 53 ศก.ไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ห่วงปัจจัยการเมืองฉุดภาพรวมประเทศ ชี้ ธุรกิจแบงก์สุดหิน-แข่งเดือด เน้นปล่อยสินเชื่อคุณภาพ คุมเข้มเอ็นพีแอล พร้อมคาดทิศทาง ดบ.ไตรมาสแรก ทรงตัวที่ 1.25% โดยแนวโน้มขาขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี คาด ดบ.นโยบายปรับขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.25%
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553 โดยมองว่า น่าจะขยายตัวในอัตรา 3-3.5% โดยประเมินว่า เป็นการฟื้นตัวได้ยังไม่เต็มที่ เพราะยังมีปัจจัยกดดันรอบด้าน ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อน่าจะตื่นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงคาดว่าการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัว 6-7% ขณะที่ธนาคารวางเป้าหมายขยายสินเชื่อ 7-9%
"เราตั้วเป้าสินเชื่อปี 53 เอาไว้ที่ระดับ 7-9% เพราะปีนี้ คงไม่ง่าย หากไม่มีระบบควบคุมคุณภาพความเสี่ยง แบงก์เราจะเน้นปล่อยสินเชื่อแบบมีคุณภาพ เพราะเศรษฐกิจกำลังกระเตื้องในระดับหนึ่ง"
ทั้งนี้ การเติบโตของธนาคารจะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีการลงทุน การดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้ต่อเนื่อง ซึ่งในภาคสถาบันการเงิน ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เป็นแหล่งของเงินออม เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเพื่อการลงทุนอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ซึ่งหากมีการหมุนเวียนของเงินเร็ว อาจเกิดปัญหาฟองสบู่ได้ แต่หากเงินหมุนช้า อาจทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.กสิกรฯ คาดการณ์ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงมีการแข่งขันต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องมีการแข่งขันโดยตลอด ซึ่งทุกฝ่ายมีโจทย์ที่ต้องปรับปรุงตัวเอง คิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้า และไม่ให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่หยุดนิ่งจะเท่ากับถอยหลัง
ดังนั้น ธ.กสิกรฯ จึงได้วางกลยุทธ์การทำงานในเครือธนาคาร เพื่อเป็นธุรกิจไร้ขีดจำกัด ทำให้ลูกค้าของธนาคารเติบโตอย่างก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าบรรษัท และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ธนาคารจะทำให้ลูกค้าบุคคลสะดวก สบาย สมบูรณ์ เป็นชีวิตเอกเขนก โดยเน้นกลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษ กลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลาง และลูกค้าบุคคลทั่วไป
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.กสิกรฯ ยังเชื่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้นกว่าปี 2552 หากสถานการณ์ภายในประเทศ มีความสงบ จะช่วยเอื้อต่อการลงทุน การท่องเที่ยว เพราะปัญหาการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ทุกอย่างสะดุด ขณะนี้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานของทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน การท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังมองว่า ปัญหาการเมืองไม่ได้แก้ไขโดยนักการเมือง แต่ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เกิดจากการมีกฎเกณฑ์กติกาที่ไม่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เด็ดขาด และการวางพื้นฐานทางการศึกษา การคมนาคมขนส่ง ที่ล่าช้า
"การเมืองและความสงบถือเป็นตัวสำคัญของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของไทยดีอยู่แล้ว สถาบันการเงินก็มีความเข้มแข็งดีไม่เป็นปัญหา ประเทศไทยปกติน่าลงทุนน่าท่องเที่ยว ดังนั้นหากไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค เศรษฐกิจน่าจะพัฒนาตามธรรมชาติของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ขณะที่ระบบการเงินไม่เป็นปัญหา แต่อยู่ที่ระบบบการเมืองที่ยังมีความวุ่นวาย ซึ่งถือเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องแก้ปัญหา มีเงื่อนไขของการจัดการของสังคมที่ทำให้ประเทศไทยเดินเครื่องได้ไม่เต็มสูบ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีทางออก การปรับฮวงจุ้ยมีสตางค์ก็ปรับได้ แต่การปรับความเข้าใจมีสตางค์แค่ไหนก็ปรับไม่ได้"
ส่วนกรณีปัญหามาบตาพุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.กสิกรฯ กล่วว่า เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ และการดูแลสุขภาพของประชาชน การดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ต้องหาทางออกควบคู่กัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องใช้เวลา เพราะต้องมีขั้นตอนดำเนินการ
เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาทางออกโดยเร็ว โดยต้องเน้นให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาสุขภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อม หากแก้ไขล่าช้าก็จะไม่เอื้อต่อการลงทุน ส่วนที่ประธานองค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น ( เจโทร) ลดความอันดับความน่าสนใจของประเทศไทยในการเป็นประเทศที่น่าลงทุนนั้น เห็นว่าญี่ปุ่นพูดขู่เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา แต่ยอมรับว่าคงต้องใช้เวลา
"เรื่องนี้ไม่มีขาวหรือดำ มีแต่สีเทา มีแต่ช้ามาก หรือช้าน้อย หากช้ามากก็มองว่าไม่เอื้อการลงทุน แต่การแก้ปัญหานี้มีมุมมองหลายด้าน ก็มีครรลองของการแก้ปัญหา ต้องไม่รบราฆ่าฟันกัน ทุกคนก็ขู่จะถอนการลงทุน เพราะกระตุ้นให้ภาครัฐทำงาน ตอนนี้เขาก็ทำอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ได้เสร็จทันที และคงต้องใช้เวลาเยียวยา"
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในปี 2553 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.กสิกรฯ เชื่อว่า มีโอกาสเข้าสู่ภาวะขาขึ้น แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ เชื่อว่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว การดำเนินนโยบายการเงินคงต้องเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธ.กสิกรฯ ยังเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังทรงตัวต่อไปในช่วงครึ่งปีแรกปี 2553 หลังจากนั้น คงจะต้องมีการพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรฯ กล่าวเสริมว่า การประชุมบอร์ด กนง.วันนี้ ที่ประชุมน่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมต่อไป เพราะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่การปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีไม่มากนัก
กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรฯ ยังมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2553 โดยปรับขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งๆ ละ 0.25% รวมปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี 0.75%