xs
xsm
sm
md
lg

การช่วยเหลือบนพื้นฐานหลักมนุษยธรรมที่มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต

โดย...ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต


โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษของเฮติ เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตชาวเฮติเป็นจำนวนกว่าแสนคน และมีผู้บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ประเทศต่างๆได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ชาวเฮติ โดยการระดมเงินบริจาค ยา อาหารและของใช้ต่างๆที่จำเป็น ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเสร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่งแก่ประชาคมโลกและความช่วยเหลือต่างๆได้หลั่งไหลไปสู่เฮติจากทุกมุมโลก

ทั้งนี้ กรอบการให้ความช่วยเหลือที่เป็นสากลนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ กล่าวคือ

1.Search and Rescue (การค้นหาและช่วยเหลือ) เป็นการค้นหาผู้บาดเจ็บและให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น

2.Restore and Recovery (การฟื้นฟู) เป็นการจัดหาอาหาร น้ำสะอาด ที่พัก ห้องน้ำ และการดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูต่างๆ

3.Reconstruction (การซ่อมสร้าง) ในระยะยาวเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆรวมถึงการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติสามารถดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้เสนอความช่วยเหลือกับประชาชนชาวเฮติไม่ว่าจะเป็นในรูปเงินบริจาค สิ่งของอุปโภคบริโภค ยาเวชภัณฑ์ หรือแม้แต่เครื่องนุ่งหุ่มที่จำเป็น

อย่างไรก็ดี ในขณะที่มีการระดมความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก็มีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ตามมาว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลได้บริจาคในระยะแรกนั้นมีจำนวนน้อยเกินไปไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ บ้างก็ว่ารัฐบาลดำเนินการในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างล่าช้า ทำให้จะถูกดูหมิ่นดูแคลนจากนานาชาติเอาได้ ดังนั้น กระผมจึงอยากจะขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจของประชาชน โดยมิได้มีเจตนาที่จะนำโศกนาฏกรรมหรือคราวเคราะห์ของประชาชนชาวเฮติขึ้นมาเพื่อเป็นประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด

เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือก้อนแรกจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจำนวนน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ความเสียหาย และทำให้ประเทศไทยถูกดูหมิ่นที่ทำอะไรไม่สมศักดิ์ศรีนั้น ข้อเท็จจริง คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นที่ประเทสเฮติ รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด แม้เราจะไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในเฮติ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งดูแลความสัมพันธ์กับเฮติด้วย รายงานสถานการณ์และเป็นผู้ประสานกลางในการติดต่อให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งตรวจสอบจำนวนและสวัสดิภาพของคนไทยในเฮติโดยด่วน ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการร่วมประชุมเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation – FEALAC) ที่กรุงโตเกียว ได้รีบอนุมัติเงินบริจาคในระยะเร่งด่วนตามขอบเขตอำนาจของกระทรวงฯ จากงบประมาณให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนในความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ

หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมอย่างเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไม่ว่าจะเป็นทหาร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่นๆ เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม.ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดย ครม.ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าวของกระทรวงฯ ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค.53 ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งแรกหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเฮติ

หลังเกิดเหตุการณ์ภัยภิบัติครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ญี่ปุ่น เมื่อทราบข่าวจึงได้ขอนัดพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก ซึ่งเข้าร่วมประชุมเดียวกัน เพื่อขอความร่วมมือในการเป็นสื่อกลางนำความช่วยเหลือจากไทยไปถึงมือผู้ประสบภัยในเฮติ เนื่องด้วยทราบดีว่าเม็กซิโกเป็นประเทศที่อยู่ใกล้เฮติ และได้ส่งคณะช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่แล้ว จึงสามารถช่วยส่งความช่วยเหลือจากไทยให้ถึงมือประชาชนชาวเฮติได้โดยเร็ว เพื่อให้เงินช่วยเหลือของรัฐบาลไทย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถเป็นประโยชน์ต่อชาวเฮติได้อย่างแท้จริง

ประเด็นสุดท้ายต่อข้อสงสัยที่ว่า การที่เราประสานกับเม็กซิโกหรือองค์การสหประชาชาติ(UN) จะทำให้ความช่วยเหลือล่าช้าไม่ทันการณ์ ผมขอเรียนว่า การช่วยเหลือประเทศผู้ประสบภัยหนักหนาขนาดนั้น มีการดำเนินการได้ในหลายขั้นตอน หลายโอกาส หรือระยะของความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการช่วยเหลือเร่งด่วน การบรรเทาผลกระทบ หรือแม้แต่การฟื้นฟู จะต้องดำเนินการช่วยเหลือบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และผ่านช่องทางที่จะเข้าถึงผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือเข้าแก่ชาวเฮติ หรือการดูแลและอพยพคนไทยออกจากเหตุการณ์ภัยพิบัติโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่เราจะต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติ หรือแม้แต่ประเทศใกล้เคียงที่มีความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ เม็กซิโก ในการประมวลข้อมูลความเสียหาย และส่งความช่วยเหลืออย่างตรงจุดมีประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือขั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งบุคลากรทางการแพทย์ หรือทางทหารให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา เพราะประเทศที่ประสบภัยพิบัติหนักหนาเช่นนี้ ระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง การติดต่อสื่อสาร และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบการรักษาความปลอดภัย ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง และไม่สามารถใช้การได้ ดังนั้น การส่งบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่มีการเตรียมการอย่างดี นอกจากจะไม่ได้ช่วยผู้ประสบภัยแล้ว อาจจะแปรสภาพเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง

            รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีว่าความสูญเสียต่อพี่น้องประชาชนชาวเฮตินั้นมากมายมหาศาลเกินที่จะจินตนาการ และการให้ความช่วยเหลือต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบได้อย่างแท้จริง รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือทางมนุษย์ธรรมต่อประเทศที่ประสบภัยพิบัติมาโดยตลอด และมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบชะตากรรมอย่างเต็มที่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งในกรณีของเฮติ คำถามต่อการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล หากจะมองกันอย่างเป็นธรรมแล้ว ไม่ใช่คำถามของความเร็วหรือช้า มากหรือน้อย หากแต่อยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ ความมีประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องยั่งยืนในการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องร่วมโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น