xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเขมรทุกคนต้องการชนะไทย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

ชมคลิปภาษาเขมร “ฮุนเซน” แค้นจัด ด่ากราด “มาร์ค-เทพเทือก-สื่อไทย” (สัญญาณภาพขาดหายบางช่วง เป็นจากทีวีเขมร Bayon TV)

วาทะคุกคามความสัมพันธ์ไทย โดยฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะนำปัญหาข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก ซึ่งเคยตัดสินให้ไทยต้องเสียเฉพาะตัวองค์ปราสาทพระวิหารให้กับเขมร ในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 เราจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เขมรโบราณ หรือขอม เคยเป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรืองมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและเจ้าพระยาเกือบถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำสาละวิน

เมื่อชนเผ่าไทยอพยพเข้ามาตั้งรกรากในแถบสุวรรณภูมิ ก็ถูกอำนาจขอมครอบงำ จนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพ่อขุนบางกลางหาว สถาปนาราชวงศ์พระร่วง ครองราชอาณาจักรสุโขทัยใน พ.ศ. 1782 โดยชิงอำนาจการปกครองจากขอม ได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอม และจากชัยชนะของไทยตั้งแต่ครั้งนั้น ก็เป็นลางร้ายสำหรับอาณาจักรขอมที่เริ่มเสื่อมโทรมลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงรวบรวมราชอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่น รวมทั้งขยายราชอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล และทรงรับพระราโชบายจากพระราชบิดา พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยเมตตาธรรม จนเรียกได้ว่าเป็นระบบ “ธรรมราชา” ทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์อักษรไทย สถาปนาอิสรภาพทางวัฒนธรรมภาษา

พระราชอำนาจแผ่ขยายรอบทิศ และประชิดอาณาจักรขอมทางตะวันตก เมื่อทรงมีชัยชนะเหนือเวียงจันทน์ และเวียงคำ แต่ทุกราชอาณาจักรมีการเสื่อมบ้าง แต่โชคดีที่ราชอาณาจักรไทยนั้นมีลักษณะเป็นนครรัฐหลายรัฐ และเกิดราชอาณาจักรไทยซ้อนขึ้นทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1857 และตั้งแต่สิ้นแผ่นดินของพ่อขุนรามคำแหงในปี พ.ศ. 1842 สุโขทัยก็เริ่มเสื่อมลง และอิทธิพลอยุธยาเริ่มครอบงำจน พ.ศ. 1921 สิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสลือไท สุโขทัยก็ตกเป็นรัฐบรรณาการอาณาจักรอยุธยา

ความสัมพันธ์ระหว่างขอมกับอยุธยาในช่วงแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองก็ราบรื่นดี ด้วยไม่มีการแทรกแซงหรือสร้างอิทธิพลใดๆ อันเป็นการส่อให้เห็นว่าเป็นภัยคุกคาม จนยุคพระบรมลำพงศ์แปรพักตร์ มีท่าทีเป็นภัยคุกคาม พระเจ้าอู่ทองจึงมีพระบัญชาให้พระราเมศวรราชโอรส ยกทัพไปปราบขอมตีนครธมแตกพ่าย พระบรมลำพงศ์สวรรคต พระเจ้าอู่ทองโปรดให้ปาสัต พระราชโอรสพระบรมลำพงศ์ปกครองแทน ในปี พ.ศ. 1895

ในปี พ.ศ. 1974 พระเจ้าธรรมาโศก กษัตริย์เขมร ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนชาวไทยตามหัวเมืองชายแดนราชอาณาจักรอยุธยา พระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา พระมหากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงกริ้ว และยกกองทัพไปสั่งสอนเขมรในปี พ.ศ.1975 และตีนครธมแตกพ่ายหลังจากล้อมไว้ 7 เดือน และให้พระอินทราชาปกครอง แต่ต่อมาไม่นานก็สิ้นพระชนม์ ซึ่งพระบรมราชาธิราชที่ 2 ไม่ได้รับสั่งให้ใครไปปกครองเขมรแทน โดยขณะนั้นเองเขมรก็ทิ้งนครธมไปสร้างราชธานีใหม่ได้แก่นครปาสาน ต่อมาย้ายมาที่เมืองพนมเปญ และย้ายมาที่เมืองละแวกเพื่อหนีทัพไทย

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่ากองทัพไทยแยกเป็นสองกองทัพ เป็นทัพบก 50,000 คน ตีตรงหน้ากองทัพเขมรด้วยกองทัพม้าและช้าง พร้อมด้วยทหารราบ มีเครื่องทำลายกำแพงและพลธนู ส่วนอีกทัพหนึ่งเป็นทัพเรือ ตีตลบหลังทางแม่น้ำโขงด้วยกำลังพล 10,000 คน ขณะที่กองทัพขอมหรือเขมรนั้นมีกำลังพล 75,000 คน แต่ด้วยความที่ทหารไทยกล้าหาญกว่าและชำนาญอาวุธกว่า แม้ว่าจำนวนน้อยกว่า ก็ตีกรุงนครธมแตกได้ภายในเวลาไม่ถึงปี

ธรรมเนียมสงครามผู้ชนะย่อมเก็บเกี่ยวบำเหน็จสงคราม พระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงยึดทรัพย์สิน เงินทอง ทั้งรวบรวมศิลปวัฒนธรรมและนำเข้าประเพณีราชสำนักของขอม และเลียนแบบจนเกิดผลทางภูมิวัฒนธรรมตกทอด นำเข้าระบอบการปกครองแบบเทพสมมติตามลัทธิเทวนิยม รวมทั้งพิธีการราชสำนักและราชาศัพท์ ทำให้วัฒนธรรมไทยแตกต่างกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มชาติอื่นในสุวรรณภูมิ

จากศึกครั้งนั้น นครธมและราชอาณาจักรขอมก็เสื่อมสลายลงต่อเนื่อง ทั้งยังถูกพวกจามและญวนเข้าปล้นเมืองอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ เขมรพึ่งไทยไม่ได้ จึงเกิดความเคียดแค้นไทย จนไทยเสียกรุงให้กับพม่าในปี 2310 และพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กู้เอกราชได้ใน 7 เดือน และปราบปรามก๊กต่างๆ และทำศึกกับพม่าเรื่อยมาจนเกิดกบฏสรรค์ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งยังทรงเป็นพระยาจักรี ยกกองทัพไปตีเขมรในปี พ.ศ. 2319 กลับมาเป็นเมืองขึ้นของไทยดังเดิม

ประเทศญวนทางตะวันออกก็เป็นหอกข้างแคร่ของไทยแล้วตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา แต่ไทยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ต้องการมีศึกสองด้านทั้งพม่าและญวน ซึ่งแทรกแซงยุยงให้เขมรแข็งข้อกับไทย แต่เกิดปัญหาชิงอำนาจภายในทำให้รัชกาลที่ 1 ทรงชุบเลี้ยงองเชียงสือที่หนีภัยจากกบฏ อยู่ในกรุงเทพฯ 5 ปี แต่ต่อมาลอบหนีกลับไปชิงอำนาจสำเร็จและกลับมาสวามิภักดิ์ต่อไทย แต่ต่อมาราชโอรสขององเชียงสือ หรือจักรพรรดิมินหม่าง โลภที่จะครอบครองลาวและเขมร จึงสร้างอิทธิพลในราชวงศ์ลาวและเขมรให้ดื้อดึงกับไทย และเอาใจฝรั่งเศส

จนในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยอดทนต่อไปไม่ได้จึงรบกับญวน เรียกว่าสงครามอานามสยามยุทธ เป็นเวลา 14 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376–2390 อันเป็นการแย่งความเป็นใหญ่ระหว่างไทยกับญวนเหนือลาวและเขมร แต่ด้วยความด้อยปัญญาของจักรพรรดิมินหม่าง ทำให้ฝรั่งเศสใช้เล่ห์กลยึดประเทศได้ในปี พ.ศ. 2410 และด้วยอิทธิพลของญวนที่แผ่ขยายอยู่ในลาวและเขมรขณะนั้น ฝรั่งเศสก็เล็งยึดครองอินโดจีนและสยาม แต่รู้ว่าลาวและเขมรเป็นประเทศราชของไทย จึงใช้ยุทธศาสตร์การโอนอำนาจ โดยในปี พ.ศ. 2406 สมเด็จนโรดมพรหมบริรักษ์ ยอมให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส และในที่สุด พ.ศ. 2410 ไทยต้องรับสภาพการปกครองของเขมรภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส

และด้วยเหตุนี้เองปัญหาชายแดนจึงเกิดขึ้น เพราะกลยุทธ์ของชาติตะวันตกที่ใช้ประยุกต์ในการยึดครองอาณานิคม อันเป็นสาเหตุของปัญหาชายแดนในปัจจุบัน

สนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ไทยยอมสละดินแดนจังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับจังหวัดตราด และเมืองด่านซ้าย จ.เลย คืนมา สนธิสัญญาปี 2450 นี้มีความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนไทย – ลาว และไทย – กัมพูชา ที่ใช้มาตราบจนปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าดินแดนพระตะบอง และเสียมราฐ ที่ไทยปกครองมาถึง 113 ปี ต้องตกเป็นของฝรั่งเศส การตัดสินใจของไทยได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศชาวอเมริกัน ชื่อ นายสโตเบล (Stoebel)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสที่เรียกว่า “สงครามอินโดจีน” ขณะที่การรบยังติดพันอยู่นั้น ญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ตามสนธิสัญญาโตเกียว ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ฝรั่งเศสยอมรับสิทธิของไทยเหนือพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ และส่วนหนึ่งของลาว แต่ฝรั่งเศสยังคงมีสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่นครวัด

กษัตริย์กัมพูชา คือ พระเจ้ามุนีวงศ์ ครองราชย์เขมรขณะนั้น เมื่อทรงทราบการสูญเสียดินแดนให้ไทยก็ทรงพิโรธฝรั่งเศสมาก ถึงกับไม่ยอมสนทนากับข้าราชการฝรั่งเศส เมื่อสิ้นพระชนม์ เจ้านโรดมสีหนุ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เขมรสืบต่อ และมีทัศนคติเหมือนกัน แต่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานกู้เอกราช

โดยเดือนมิถุนายน 2496 เจ้านโรดมสีหนุ และคณะเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อเรียกร้องเอกราช และเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในเมืองไทย รัฐบาลไทยให้การต้อนรับเจ้าสีหนุกับคณะเป็นอย่างดี เพื่อต่อต้านฝรั่งเศสในตอนนั้น

แต่เจ้าสีหนุเองมีความไม่พอใจรัฐบาลไทยอยู่ในที แม้ว่าไทยจะให้การสนับสนุนเจ้าสีหนุก็ตามเพราะความต้องการเอาชนะไทยที่มีในหัวใจตลอดเวลา

และในปี พ.ศ. 2498 กษัตริย์สีหนุทรงสละราชสมบัติ และให้พระเจ้านโรดมสุรมฤทธิ์ พระบิดาขึ้นครองราชย์แทน ส่วนเจ้าสีหนุเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

อีกทั้งจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคสังคมราษฎร์นิยม” เพื่อลงแข่งขันเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2498 และชนะการเลือกตั้ง ปลายปีเดียวกันกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

ปี พ.ศ. 2499 ขณะที่รัฐบาลไทยในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ไทยอยู่ข้างกับสหรัฐอเมริกา และประกาศต่อต้านจีนคอมมิวนิสต์ และสหภาพรัสเซียอย่างเต็มที่ แต่ตรงข้ามกับเจ้าสีหนุที่เดินทางไปเยือนจีน และทำสนธิสัญญามิตรภาพกัมพูชา – จีน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยือนโซเวียต รัสเซีย โปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย และอดีตยูโกสลาเวียขณะนั้นเป็นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ แต่เพราะต้องการคานอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก แต่ต่อมาก็ต้องเสียใจเพราะโดนคอมมิวนิสต์รังแก

ปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชา 2 ฝ่าย แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ซึ่งหัวข้อเจรจาที่สำคัญอันหนึ่งคือ เรื่อง “เขาพระวิหาร” นั่นเอง

ปี พ.ศ. 2501 เดือนพฤศจิกายน ไทยกับกัมพูชากล่าวโจมตีกันอย่างหนัก กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 เจ้าสีหนุประกาศว่า ไทยมีแผนการโค่นล้มระบอบการปกครองของพระองค์

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2502 กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลก กล่าวหาว่าไทยยึดครองดินแดนกัมพูชา โดยเฉพาะเขาพระวิหาร โดยมีกองกำลังของไทยไปตั้งอยู่ที่นั่น กล่าวคือ เขาพระวิหารตั้งอยู่บนยอดเขาพนมดงรัก ถ้าขึ้นทางฝั่งไทยที่ จ.ศรีสะเกษ ก็จะขึ้นไปถึงตัวปราสาทได้โดยตรง แต่ทางกัมพูชาเป็นหน้าผาสูงชัน ไม่อาจปีนป่ายได้

ฝ่ายกัมพูชาได้โต้แย้งแสดงหลักฐานหักล้าง โดยอ้างแผนที่ต่อท้ายสนธิสัญญาปี ค.ศ.1907 หรือ พ.ศ. 2450 ว่าในแผนที่เส้นลากกำหนดให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา

ฝ่ายไทยยืนยันว่าจากภาพถ่ายทางอากาศ เห็นสันปันน้ำที่แบ่งเขตแดนตามตัวสัญญาชัดเจน ยิ่งกว่านั้นตามลักษณะภูมิศาสตร์ เขาพระวิหารอยู่ทางฝั่งไทย โดยขึ้นไปตามทางเดินจนถึงตัวปราสาท แต่ทางจากกัมพูชาจะขึ้นมาไม่ได้ทางกายภาพ เพราะเป็นหน้าผาซึ่งมีความสูงถึง 1,500 ฟุต

แต่หลักฐานฝ่ายกัมพูชาที่ยื่นต่อศาลโลก ก็คือแผนที่ต่อท้ายสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส ซึ่งไทยลงนาม แต่ทนายฝ่ายไทยกลับไม่มีหลักฐานคู่ฉบับของแผนที่ดังกล่าว

ในการต่อสู้คดี ทางการพิจารณาศาลสืบความได้ว่า แผนที่ดังกล่าวนี้ทางราชการไทยนำของฝรั่งเศสมาใช้ประโยชน์ อันเป็นข้ออ้างสำคัญว่าทางฝ่ายไทยยอมรับเอกสารและความถูกต้องของการลากเส้นตามแผนที่ตามที่กัมพูชาอ้าง ด้วยเหตุผลในเรื่องแผนที่เช่นนี้ ฝ่ายไทยจึงตกอยู่ในสภาพที่กฎหมายปิดปาก (Estoppel) นั่นเอง ดังนั้นข้อโต้แย้งของไทยจึงฟังไม่ขึ้น

ศาลโลกจึงพิพากษาให้กัมพูชาชนะคดีเขาพระวิหารด้วยประการฉะนี้ โดยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ดังนั้น การที่ฮุนเซนต้องการให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ก็เพียงต้องการขจัดไทยออกไป ไม่ให้มีอิทธิพลใดๆ ในบริเวณเขาพระวิหารและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพราะจะตกเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติตามนัยของยูเนสโกแห่งองค์การสหประชาชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารกินเนื้อที่อำเภอน้ำยืน กิ่งอำเภอน้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี และ อำเภอกันทรลักษณ์ จ.ศรีษะเกษ เนื้อที่ประมาณ 81,250 ไร่ หรือ 130 ตารางกิโลเมตร เพราะถือว่าเป็นเขตอิทธิพลโดยตรงต่อปราสาทพระวิหาร อีกทั้งเนื่องจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเป็นเขตแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งฮุนเซนหวังก่อให้เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ และต้องการให้ศาลโลกแทรกแซงเพื่อที่จะได้ล้อเลียนอดีต ซึ่งไทยพลาดท่าเสียทีมาแล้วในการที่จะอ้างสิทธิเหนือเขตแดนที่เป็นกรณีขัดแย้งในการแย่งดินแดนไทย – เขมร ในยุคที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา

แต่มีข้อคิดให้คนไทยได้รับรู้ว่ายังมีความขัดแย้งและข้อตำหนิอำนาจศาลโลกอยู่หลายกรณี เช่น ในปี ค.ศ. 1980 สหรัฐฯ ตำหนิศาลโลกที่ไม่สามารถทำอะไรกับอิหร่านได้ กรณีจับตัวนักการทูตสหรัฐฯ เป็นตัวประกัน หรือกรณีความขัดแย้งเรื่องไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างประเทศตูนิเซียกับลิเบีย หรือกรณีที่ปากีสถานตำหนิศาลโลกที่ไม่ได้รับรู้การกดขี่ชาวแคชเมียร์ที่นับถืออิสลามในแคชเมียร์โดยรัฐบาลอินเดีย หรือความขัดแย้งเรื่องเขตน่านน้ำในอ่าวเมนระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดา และยังมีคดีเกี่ยวกับคดีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนอีกมากมายนับร้อยคดี

แต่ฮุนเซน ต้องการเป็นวีรบุรุษ ในขณะที่ความพอใจของประชาชนเขมรลดลง จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ โดยเฉพาะกับไทยแล้วคนเขมรย่อมอ่านประวัติศาสตร์เหมือนกับคนไทยอ่านประวัติศาสตร์ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ความแค้น แต่เป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ยอมรับไม่ได้ความหฤโหดของสงคราม แต่ไทยยังฟื้นตัวเป็นไทยรุ่งเรือง และไม่ตกเป็นอาณานิคมเหมือนเขมร เพราะเมื่อสูญเสียนครธมแล้ว ไม่สามารถตั้งตัวได้อีกเลย ฮุนเซนจึงต้องการทำอะไรก็ได้ให้ไทยได้เจ็บปวด เพื่อเอาใจคนเขมร และประวัติศาสตร์โลกก็เป็นเช่นนี้

                                           nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น