xs
xsm
sm
md
lg

เจโทรผวาการเมืองซ้ำเติมมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เจโทรตบเท้าพบ”ไตรรงค์”ห่วงการเมืองซ้ำเติมปัญหามาบตาพุด เจซีซีงัดผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นวันนี้ (5 ก.พ.) เสียงอ่อยไทยยังน่าลงทุนหากทุกอย่างชัดเจน “ไตรรงค์”ลั่น 5 เดือนกรอบกติกาปฏิบัติจบ ด้านพลังงานลุ้นสผ.ตีความโรงแยกก๊าซฯ6 หวังเดินหน้าเม.ย.นี้ หากผิดแผนนี้ต้องทำHIA หวั่นลากยาว 6-8 เดือน กองทุนฯกระอักแน่

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวหลังหารือร่วมกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ (เจโทร) ว่า นายมูเนะโนริ ยามาดะ ประธานเจโทรได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเช่นอดีต โดยได้ยกตัวอย่างการล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาช่วงเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการซ้ำเติมบรรยากาศการลงทุนไทยที่ขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นเองก็กังวลเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเจโทรยังได้แจ้งว่าวันนี้ (5ก.พ.)จะมีการแถลงผลสำรวจความเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่นของหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพ(เจซีซี)

ทั้งนี้ กรณีปัญหามาบตาพุดทางนักลงทุนญี่ปุ่นไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างหลังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่สั่งระงับกิจการโดยญี่ปุ่นยืนยันว่าพร้อมที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่าศาลฯได้พิพากษาไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นกฏหมายใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีการวางกติกาเพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 67 วรรคสองที่เชื่อว่าภายในเวลา 5 เดือนกติกาต่างๆ จะเสร็จทั้งหมด

“ผมว่ากฎเกณฑ์น่าจะชัดเจนภายใน 5 เดือน แต่ 64 กิจการที่ถูกศาลฯสั่งระงับการดำนินงานนั้น ยอมรับว่าบางกิจการก็ไม่เข้ากรอบกฏหมาย ซึ่งคลินิกพิเศษที่โอเอสโอเอส ของกระทรวงกำลังรวบรวมเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องขอผ่อนผันต่อศาลทำการก่อสร้างต่อ ยืนยันว่าระหว่างนี้เราอาจจะได้รับการผ่อนปรนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาอย่างไร” นายไตรรงค์กล่าว

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังยืนยันว่าไทยมีบรรยากาศการที่ดี คนญี่ปุ่นเวลามาอยู่ในเมืองไทยแล้วมีความสุข นี่คือลักษณะเด่นของประเทศไทย แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องมาบตาพุดนักลงทุนญี่ปุ่นได้รับผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมเพราะการที่หยุดการก่อสร้างทำให้มีปัญหาเรื่องการเงิน บางอย่างที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ประกอบกิจการไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้คืนธนาคารจึงมีปัญหาทางด้านการเงิน
*** ก.พลังงานลุ้นสผ.ตีความโรงแยกฯ6
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของบมจ.ปตท.เป็น 1 ใน 64 กิจการที่ถูกระงับการดำเนินงานตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินกิจการได้ต่อหรือไม่แต่อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA ) ตามกระบวนการมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่วนปัญหาการขาดแคลนก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)นั้นได้มีนโยบายในการนำคลังลอยน้ำพร้อมรองรับการนำเข้าที่สูงขึ้นแล้ว

“ ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในฐานะที่จะรองรับการนำเข้าแอลพีจีได้อยู่แต่จะนานแค่ไหนคงไม่สามารถบอกได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้าแอลพีจีและราคาตลาดโลกเป็นสำคัญ ดังนั้นหากกองทุนน้ำมันติดลบฯ การทบทวนนโยบายตรึงแอลพีจีที่จะหมดส.ค. 53 ก็จะมีสูง”รมว.พลังงานกล่าว

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า โรงแยกก๊าซฯ 6 ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วและไม่ได้ถูกจัดเป็นประเภทกิจการรุนแรงทั้งใน 8 กิจการตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมและ 19 กิจการของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังนั้นจึงต้องส่งเรื่องให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ชี้ว่าเป็นกิจการที่ไม่ต้องทำEIA เพื่อที่จะสามารถให้กิจการดำเนินงานต่อไปได้

ทั้งนี้ หากประเด็นดังกล่าวไม่ผ่านจะเหลืออีกทางเลือกสุดท้ายคือการผ่านกระบวนการจัดทำ HIA ที่คาดว่าจะใช้เวลาเร็วสุด 6-8 เดือนดังนั้นจะมีผลให้การนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นซึ่งหากคิดราคาเฉลี่ยแอลพีจีนำเข้าในปัจจุบันที่ระดับ 731 เหรียญต่อตันอาจจะต้องใช้เม็ดเงินในการนำเข้าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลต่อฐานะกองทุนน้ำมันฯที่มีเงินปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
“ ปีนี้เฉลี่ยจะต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่ม 1-1.5 แสนตัน/เดือน กองทุนน้ำมันฯมีสถานะสุทธิอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าเฉลี่ยเดือนละ 400 ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่ายการนำเข้าแอลพีจีเฉลี่ยเดือนละ 1,000 กว่าล้านบาท โดยขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้าแต่ละเดือนและราคาแอลพีจีในช่วงเวลานั้น ซึ่งขณะนี้ราคาแอลพีจีล่าสุดเดือนก.พ. อยู่ที่ 735 เหรียญสหรัฐ/ตัน ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่”นายพรชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น