ศรีสะเกษ - พบ “คนโท” โบราณบรรจุของโบราณกว่า 48 ชิ้น ที่ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ กรมศิลป์ระบุอายุร่วม 1,000 ปี ยุคเดียวกับการก่อสร้าง “ปราสาทพระวิหาร”
วานนี้ (1 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่มีข่าวแพร่กระจายไปทั่วทั้ง จ.ศรีสะเกษ ว่ามีชาวบ้านพบคนโทโบราณที่บริเวณร่องจังเอิน ต.ปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ และภายในคนโทมีสิ่งของวัตถุโบราณบรรจุอยู่จำนวนมากนั้น ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่บ้านปราสาทเยอเหนือ ต.ปราสาทเยอ อ.ไพรบึง และพบว่าชาวบ้านได้พากันนำเอาวัตถุโบราณทั้งหมดมาบรรจุไว้ภายในตู้กระจกตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชมอยู่ที่บริเวณหน้าปราสาทเยอ ในวัดบ้านปราสาทเยอ ซึ่งมีประชาชนที่ทราบข่าวพากันมาชมกันอย่างไม่ขาดสาย
ทั้งนี้ มีนายวินัย พิจารณ์ อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านปราสาทเยอ พร้อมด้วยชาวบ้านนับสิบคนพากันมาเฝ้ารักษาวัตถุโบราณอย่างเข้มงวดและไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าไปภายในบริเวณที่มีการกั้นเชือกเอาไว้เพื่อความปลอดภัยของวัตถุโบราณ ซึ่งบริเวณหน้าตู้ได้เขียนข้อความไว้ว่า “วันที่ 29 มกราคม 2553 พบวัตถุโบราณเวลา 13.00 น.ข้างในพบชิ้นส่วนทั้งหมด 48 ชิ้น” ติดไว้เพื่อให้ผู้ที่มาชมได้ทราบ
นายประถม ศรีมณี อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76 ม.1 บ้านปราสาทเยอ ต.ปราสาทเยอ อ.ไพรบึง ซึ่งเป็นผู้พบคนโทโบราณนี้ กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะตนพร้อมด้วยเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งได้พากันไปทอดแหหาปลาที่บริเวณร่องจังเอิน ซึ่งเป็นคลองน้ำตามธรรมชาติด้านทิศตะวันออกของบ้านปราสาทเยอ และได้พบคนโทโบราณนี้จมอยู่ใต้โคลนริมตลิ่ง คนโทโผล่ขึ้นมาเพียงครึ่งเดียว ตนจึงได้ใช้มือขุดเอาคนโทขึ้นมาและเขย่าดูปรากฏว่าได้ยินเสียงดังอยู่ภายใน
ดังนั้น จึงได้ใช้หินที่มีปลายแหลมงัดเอาฝาปิดคนโทออกมาและพบว่า ภายในมีวัตถุโบราณอยู่หลายชิ้น ไม่พบสิ่งของที่เป็นแก้วแหวนเงินทองของมีค่าแต่อย่างใด เห็นว่าเป็นวัตถุโบราณและเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงได้นำเอามามอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายวินัย พิจารณ์ อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านปราสาทเยอ กล่าวว่า ได้นำเอาสิ่งของวัตถุโบราณทั้งหมดมาใส่ตู้เก็บรักษาไว้ที่บริเวณหน้าปราสาทเยอภายในวัดบ้านปราสาทเยอ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาตรวจสอบวัตถุโบราณทั้งหมดและแจ้งให้ทราบว่า วัตถุโบราณทั้งหมดมีอายุประมาณ 600-900 ปี เป็นยุคเดียวกับการก่อสร้างปราสาทพระวิหาร ซึ่งปราสาทเยอ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ก่อสร้างพร้อมกับปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ กรมศิลปากรให้ทุกคนช่วยกันเก็บรักษาวัตถุโบราณทั้งหมดเอาไว้ที่นี่ เพื่อจะได้ให้ประชาชนทั่วไปได้มาชมเพื่อเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของปราสาทเยอแห่งนี้