xs
xsm
sm
md
lg

รวยแล้วไม่โกง : วาทกรรมปิศาจ

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

อ่านบทความของ Shawn W Crispin ตีพิมพ์ลงใน Asia times Online เมื่อ 23 มกราคม 2553 ใช้ชื่อบทความว่า Trial by fire in Thailand ผู้เขียนว่า ทัศนะของนักข่าวประเทศคนนี้น่าสนใจ ฌอน คริสปิน มองว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงตลอดช่วงที่ผ่านมา ในสายตาของคนวงนอกอย่างเขา เชื่อว่า ยุทธศาสตร์คนเสื้อแดงกำลังมุ่งตอกย้ำวาทกรรม “สองมาตรฐาน” ในกระบวนการยุติธรรม เช่น เรื่อง เขายายเที่ยง เขาสอยดาว หรือแม้แต่สนามกอล์ฟที่เชียงใหม่

แต่เป้าหมายสุดท้ายของวาทกรรมนี้จริงๆ มีเป้าอยู่ที่คดีความในศาลที่นักโทษชายทักษิณกำลังเป็นกังวลมากที่สุดในเวลานี้ รวมถึงยังให้น้ำหนักกับคำขู่ของนายใหญ่อย่างทักษิณที่ประกาศกร้าวเอาไว้ทำนองว่า อย่าหวังเห็นสังคมสงบสุขหากบ้านเมืองปราศจากความยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นคำขู่เผาบ้านเผาเมืองยามนายใหญ่ไม่ได้ดังใจแล้ว อาจจะเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นใจกับคำพิพากษาที่จะออกมาด้วย

ตอนหนึ่งคริสปินอ้างถึงคำพูดของ 1 ในทีมที่ปรึกษาระดับนโยบายของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดกับนักข่าวเมื่อ 14 มกราคม ว่า มีความพยายามจากฝั่งคนหนีคุกที่อาจจะซื้อตัวทหารนอกแถวให้ออกมา “ก่อการ” เพื่อชิงลงมือตัดหน้าคำพิพากษาคดีสำคัญที่จะออกมา คริสปินจงใจใช้คำว่า “purchase a coup among disgruntled soldiers to pre-empt an expected guilty verdict” ซึ่งไอ้คำศัพท์ 3 คำสุดท้าย อธิบายได้ดีว่า คนบางคนนั้น รู้อยู่เต็มอก ว่าพฤติกรรมตนเองนั้นผิดเต็มประตู และรู้ว่ายากจะแทรกแซงกระบวนยุติธรรมได้เหมือนเช่นในอดีต จึงต้องหาทางปกปิดมันเอาไว้ไม่ให้คำพิพากษา ที่จะเปิดโปงความชั่วตนนั้นหลุดออกมา ราวกับว่าจะพยายามเอา Lotus Leaf cover elephant แหะๆ ไม่รู้สำนวนใครชอบใช้

ตลกดีที่คำเตือนของทีมที่ปรึกษานายกฯ ที่คริสปินอ้างมันออกมาวันเดียวกับที่มีข่าว อาคาร 6 ชั้นของกองบัญชาการกองทัพบกถูกยิงถล่มด้วย M 79 ....ไม่มีใครรู้ว่ามันเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร เพราะเอาเข้าจริงจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ใครยิง M79ใส่กองทัพบก เสธ.แดงจริงหรือ หรือตกลงว่าจริงๆ แล้ว มีการยิงขึ้นไปหรือไม่ ก็ไม่มีใครกล้าฟันธง

บทความชิ้นนี้ของคริสปิน ยังมีคุณูปการอีกที่น่ายกมากล่าวถึง คือการรื้อฟื้นงานวิจัยชิ้นสำคัญของ ดร.ประมวล บุญกาญจ์วณิชชา และ ดร.ยุพนา วิวัฒนกันตัง โดยคนแรกเป็นศาสตราจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันอีเอสซีพี-อีเอพี ยูโรเปี้ยน สคูล ออฟ แมนเนจเมนท์ กรุงปารีส ส่วนคนหลังเป็นศาสตราจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย ฮิโตโซะบาชิ กรุงโตเกียว

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 และเคยถูกนำไปอ้างอิงอีกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญคือถูกอ้างอิงอยู่ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง สู่หนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ได้เรียนรู้ และปรับปรุงอะไรบ้าง? จัดที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน 9-10 ธันวาคม 2548 ผู้นำการสัมมนา ชื่อ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

งานวิจัยที่ชื่อว่า Big Business Owners in Politics ที่ว่านี้ เป็นรายงานขอดเกล็ดนักธุรกิจการเมืองโดยแท้ เพราะได้อธิบายเสียอย่างกระจ่างแจ้งว่า ทำไมนักธุรกิจจึงต้องเข้าหาอำนาจการเมืองโดยตรงด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นการโต้แย้ง และหักล้างวาทกรรม “รวยแล้วพอแล้ว รวยไม่โกง” ว่าไม่มีจริง หรือใช้ไม่ได้กับนักธุรกิจที่ยึดหรือผลกำไรเป็นสรณะ

ตอนหนึ่งของงานวิจัยอธิบายว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยเฉพาะในแวดวงกิจการโทรคมนาคมในช่วงปี 2543 เป็นต้นมา มีความผันผวน นอกจากนี้การเมืองไทยก็มีปัญหาไร้เสถียรภาพกล่าวคือ เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง ฉะนั้นถ้านักธุรกิจจะลงทุนสายสัมพันธ์กับนักการเมืองบางกลุ่มบางก้อน หรือบางคนเพื่อขอให้นักการเมืองเข้าไปกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตนเองดังที่เคยเป็น เส้นทางนี้จะกลายเป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยเม็ดเงินในการลงทุนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับการที่นักธุรกิจจะกระโดดเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยตรงด้วยตนเอง ผ่านการเลือกตั้ง

บทนำของงานวิจัย ถึงกับสรุปไว้ประโยคหนึ่งว่า ดูเหมือนสมมติฐานของนักการเมืองเหล่านี้เป็นจริง เพราะทันทีที่นักธุรกิจตระกูลแนวหน้าของไทย นำโดย นช.ทักษิณ กระโดดเข้าสู่วงการเมืองตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มูลค่าหุ้น และผลกำไรจากบริษัทในเครือของตระกูลเหล่านี้ ก็พุ่งขึ้นพรวดพราดจนน่าประหลาดใจ

“มูลค่าธุรกิจของบรรดานักธุรกิจที่กระโดดขึ้นเวทีการเมืองเมื่อปี 2544 นั้น เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงถึงกว่า 242 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเติบโตหรือการขยายตัวของธุรกิจสูงกว่าองค์กรธุรกิจโดยทั่วไปถึง 160 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่บริษัทธุรกิจของนักการเมืองเหล่านั้น ไม่ได้ลงทุนเพิ่มหรือมิได้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใดทั้งสิ้น

แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปกลับกลายเป็นนโยบายของประเทศ ที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเหล่านี้ อย่างที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญได้เลย”

การตัดสินใจใช้เมืองไทยเป็นกรณีศึกษานอกจากผู้ทำวิจัยจะเป็นคนไทยแล้ว ประเด็นหลัก คือ มีการศึกษาแล้วพบว่าปรากฏการณ์นักธุรกิจเข้ามาหาประโยชน์บนเส้นการเมืองโดยตรง แม้จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น เกิดกับซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีเจ้าพ่อสื่อในอิตาลี, นายพอล มาร์ติน อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา เจ้าของอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ, นางยูเลีย ไทโมเชงโก้ นายกรัฐมนตรียูเครน เจ้าของธุรกิจพลังงาน, ราฟิก ฮาริรี่ อดีตผู้นำเลบานอน เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสื่อรายใหญ่ หรือแม้แต่นายต่ง เจี้ยน หวา อดีตประธานบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เจ้าของธุรกิจชิปปิ้งที่เคยมั่งคั่งของเกาะฮ่องกง

น่าแปลกชื่อที่เอ่ยมานี้แม้จะมีข้อครหาเรื่องการบริหารประเทศภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อนแต่กลับไม่มีสัญญาณการเติบโตในธุรกิจของตระกูลอย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ใจ เหมือนเช่นกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยเลย

ดังนั้น ไหนๆ คุณนพดล ปัทมะ จะทำเอกสารชี้แจงทักษิณ รวยแล้วไม่โกงแจกพี่น้องเสื้อแดงหลายแสนเล่มแล้ว ขอฝากเอกสาร 2 ชิ้น ซึ่งจะหาดาวน์โหลดได้จากคอลัมน์เดียวกันนี้ทาง ASTV-Manager Online ฝากไปให้พี่น้องทุกสีได้อ่านโดยพร้อมเพรียง เพื่อจะได้เข้าใจหัวใจของคดียึดทรัพย์ 7 หมื่น 6 พันล้านได้มากขึ้น อันประกอบด้วย งานวิจัยเรื่อง Big Business Owners in Politics ฉบับเต็มสำหรับคนถนัดภาษาอังกฤษ และรายงานสัมมนาทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจสำหรับคนถนัดภาษาไทย ฝากไว้ด้วยนะคะ

งานวิจัย Big Business Owners in Politics

ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น