xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แจงผลกระทบเฟดขึ้น ดบ.มาตรฐาน เอกชนจับตาค่าเงินบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.ประเมิน "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน 0.25% ไม่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของไทย และค่าเงินในภูมิภาค พร้อมมั่นใจไม่กระทบเงินทุนไหลเข้าออก ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ห่วงเงินบาทอาจเผชิญแรงเทขายเป็นระยะๆ รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมกับธนาคารพาณิชย์ (discount rate) 0.25% อยู่ที่ระดับ 0.75% โดยมองว่าไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาค และไม่กระทบเงินทุนไหลเข้าออกด้วย

สำหรับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะพิจารณาตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก โดยการปรับขึ้น-ลงจะดูแลตามความเหมาะสม

อนึ่ง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานนั้น เฟดระบุว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นระบวนการหนึ่งในการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น (Further Normalization) ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่ อัตราดอกเบี้นนโยบาย (Fed Funds Rate) ยังคงไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม

ทั้งนี้ เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 สู่ระดับ 0.75% จากระดับ 0.50% โดยให้เริ่มมีผลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น เป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย Discount Rate กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.50-0.75% สะท้อนการปรับสมดุลเชิงนโยบายให้เป็นปกติมากขึ้น

ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองต่างมุมว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน เพราะอาจกดดันให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงเงินบาท ต้องเผชิญกับแรงเทขายเป็นระยะๆ โดยแนวรับระยะสั้นของเงินบาทนั้น อยู่ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตุว่า เฟดได้เคยปรับลดอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ในการประชุมแบบฉุกเฉินเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 และวันที่ 16 มีนาคม 2551 เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤตซับไพร์มที่เริ่มปะทุขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย Discount Rate กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาหดแคบลงเหลือ 0.25-0.50% เทียบกับในช่วงเวลาปกติที่ 1.00%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่า แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Discount Rate ของเฟดครั้งนี้จะทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย Discount Rate กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายกว้างขึ้น แต่คาดว่าผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบและต่อตลาดการเงินโดยรวมน่าที่จะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากความต้องการกู้เงินฉุกเฉินของสถาบันรับฝากเงินผ่านช่องทางดังกล่าวปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องราว 87% จากระดับสูงสุดช่วงต้นปี 2552 สู่ระดับต่ำกว่า 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะนี้

นอกจากนี้ สถาบันรับฝากเงินในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับที่ค่อนข้างสูง และบางส่วนก็ได้ฝากไว้กับเฟด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากของสถาบันการเงินในส่วนนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ก็มองว่า ในระยะถัดไป เฟดจะทยอยปรับสมดุลนโยบายการเงินจากจุดยืนเชิงนโยบายการเงินที่มีความผ่อนคลายอย่างมากให้เข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Discount Rate เพื่อให้ช่องว่างเหนืออัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเป็น 100 bps. ตามเดิม

การยกเลิกโครงการรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินตามกำหนดเวลาในช่วงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2553 และอาจทยอยขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกมาในช่วงหลังจากนั้น เพื่อปรับลดขนาดงบดุลของเฟด และดึงสถาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ และการเตรียมเครื่องมืออื่นๆ ในการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน และ/หรือ ดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ อาทิ การทำ Reverse Repurchase Agreements (Reverse Repo) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินสำรองส่วนเกินของสถาบันการเงิน (Interest on Excess Reserves) และการเสนอวงเงินฝากประจำสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับเฟด

ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนท้ายๆ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความมั่นคงมากกว่านี้ เนื่องจากในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การใช้จ่ายภาคเอกชน (ทั้งภาคการบริโภค และภาคธุรกิจ) สหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม ขณะที่สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น สินเชื่อที่ปล่อยเพื่อโครงการศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ยังมีความเปราะบางสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น