xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานจอมยุทธ์ม้ามังกร 龍馬伝 กับจุดเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง,สุวินัย ภรณวลัย

ซากะโมโตะ เรียวมะ 坂本 龍馬 (ค.ศ. 1836-1867) เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์และเป็นคนที่ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปสู่ยุคใหม่ครั้งสำคัญเป็นครั้งแรก

ชื่อ เรียวมะในภาษาญี่ปุ่นแปลตามตัวอักษรได้ว่า “ม้ามังกร” และในปีนี้สถานีโทรทัศน์ NHKได้ออกอากาศละครชุดเรื่องยาวเรื่อง เรียวมะเด็น 龍馬伝 หรือ ตำนานจอมยุทธ์ม้ามังกร ที่มีพระเอกที่เล่นเป็นเรียวมะคือ ฟุคุยามา มาซะฮารุ ที่เคยแสดงเป็นพระเอกในละครเรื่อง นักสืบกาลิเลโอ มาแล้วนั่นเอง

มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีจุดเปลี่ยนประเทศที่สำคัญด้วยกัน 3 ครั้ง คือ การปฏิรูปเมจิในปี ค.ศ. 1868 การพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และการสิ้นสุดของยุคเผด็จการรัฐสภาเมื่อพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือ Liberal Democratic Party ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อปี ค.ศ. 2009 อย่างหมดทางสู้ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นรัฐบาลอยู่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง

ในยุคสมัยที่โชกุนครองอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1603 – 1868 จักรพรรดิดำรงตนเป็นเพียงสัญลักษณ์อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของโชกุนผู้ซึ่งเป็นเพียงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประเทศญี่ปุ่นจึงถูกปกครองโดยรัฐบาลโชกุนยาวนานกว่า 260 ปี ที่มิใช่โดยองค์จักรพรรดิผู้เป็นสมมติเทพโอรสจากสวรรค์แต่ประการใด

เนื่องจากโชกุนโทกุงาว่าย้ายเมืองหลวงจากที่ประทับขององค์จักรพรรดิที่เมืองเกียวโตมาตั้งตัวเป็นใหญ่คนเดียวที่เมืองเอโดะที่ปัจจุบันคือกรุงโตเกียว ยุคสมัยรัฐบาลโชกุนหรือที่เรียกว่ารัฐบาลเอโดะเริ่มต้นจากโทกุงาว่า อิเอยะสุ ผู้สามารถชนะศึกจากยุคไฟสงครามที่มีการรบพุ่งระหว่างผู้ปกครองในเขตต่างๆ และสถาปนาตนเองเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603 และนำเอาระบบชนชั้นและระบบศักดินามาใช้อีกครั้งหนึ่งอย่างเข้มงวด

การเข้ามาของเรือดำ (ที่น่าจะเป็นเรือเหล็กมากกว่าทาสีดำ) ของนายพลเรือเพอร์รี่ในปี ค.ศ. 1853 ได้ท้าทายและกระทบต่อการปกครองของรัฐบาลโชกุนที่มีมากว่า 200 ปีอย่างรุนแรง เนื่องจากการติดต่อค้าขายกับคนต่างชาติถูกกำหนดให้กระทำได้ในเมืองที่กำหนดไว้ เช่น เมือง นางาซะกิ หรือ คะโงชิมะ ทางด้านตะวันตกสุดของประเทศ และผูกขาดการค้าโดยรัฐบาลโชกุนจากการกำหนดว่าจะค้าขายได้กับประเทศใดบ้าง ดังนั้นการถูกบังคับให้เปิดประเทศค้าขายกับสหรัฐอเมริกาโดยการนำเรือปืนปิดอ่าวเอโดะของนายพลเรือเพอร์รี่จึงทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปกครองโดยรัฐบาลโชกุนถูกสั่นคลอน เนื่องจากเป็นการท้าทายอำนาจการปกครองโดยตรง

การปกครองของรัฐบาลโชกุนพึ่งพาการแบ่งอำนาจไปให้แต่ละก๊กหรือตระกูลที่เรียกว่า “ฮัน” ที่มีประมาณ 200 -300 ฮันเป็นกลไกในการปกครองในแต่ละพื้นที่อีกทอดหนึ่ง แต่ละ “ฮัน” ที่มีผู้นำที่เรียกว่า “ไดเมียว” นี้มีอิสระในการปกครองและเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ตนดูแลที่อาจเรียกว่าแต่งตั้งไป “กินเมือง” โดยรัฐบาลโชกุนก็ว่าได้

อำนาจของโชกุนอยู่ที่การควบคุมแต่ละ “ฮัน” ด้วยการถอดถอน แต่งตั้ง หรือยุบรวม “ฮัน” ที่ไม่มีทายาทหรือคิดกบฏต่อตนเองโดยอาศัยอำนาจของจักรพรรดิ ไดเมียวแต่ละคนจะมีหน้าที่ที่จะต้องหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในเอโดะเพื่อรับใช้โชกุนเป็นการตอบแทน แต่เมื่อใดที่ไดเมียวจะต้องเดินทางออกมาจากเอโดะ ก็ต้องส่งลูกเมียมาอยู่ที่เอโดะเพื่อเป็นตัวประกันในความซื่อสัตย์ของตนเอง

ตำนานม้ามังกรเป็นเรื่องราวของจอมคนผู้หนึ่งชื่อ ซากะโมโตะ เรียวมะ ซึ่งถือเกิดมาในครอบครัวที่ผลิตเหล้าสาเกสังกัด โทสะฮัน ในเมืองโคจิ บนเกาะชิโกกุ เมืองที่มีชื่อในเรื่องทำเส้นอุด้ง เนื่องจากครอบครัวพอมีเงินสามารถซื้อตำแหน่งซามูไรได้ เรียวมะจึงได้ฝึกดาบกับอาจารย์และเข้ามาเป็นพวกร่วมกับ ฝ่ายต่อต้านอำนาจของโชกุนที่สนับสนุนการคืนพระราชอำนาจให้จักรพรรดิ เนื่องจากมองเห็นว่าการปกครองโดยรัฐบาลโชกุนที่ล้าหลังไม่สามารถต่อสู้กับอำนาจตะวันตกผ่านปืนใหญ่ที่มากับเรือดำของนายพลเรือเพอร์รี่ได้ เรียวมะจึงถูกขับออกจากสังกัดโทสะฮันกลายเป็นโรนินหรือซามูไรไร้สังกัด

หลังจากนั้นเรียวมะได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลโชกุนและฟื้นฟูจักรพรรดิที่มีศูนย์กลางการเคลื่อนไหวอยู่แถบเมืองคะโงชิมะ และด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของเรียวมะทำให้ ซัทซึมะฮันที่ครอบครองพื้นที่เมืองคะโงชิมะในเกาะคิวชู และโชชูฮันที่ครอบครองพื้นที่ในแถบเมืองยะมะกูจิที่ใกล้กับเมืองฮิโรชิมะบนเกาะใหญ่ฮอนชู ที่ต่างเคยเป็นอริต่อกันอย่างรุนแรงให้กลับมาร่วมมือกันเพื่อต่อต้านโชกุนและคืนพระราชอำนาจให้จักรพรรดิได้เป็นผลสำเร็จ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดา “ฮัน” หัวรุนแรงที่ต่อต้านโชกุนและสนับสนุนจักรพรรดิในสมัยนั้นล้วนแต่อยู่ในแถบทางตะวันตกประเทศที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของโชกุนไปทางตะวันตกแถบทั้งสิ้น ตำนานของ The Last Samurai ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันนี้ก็ตั้งอยู่บนตำนานของผู้นำคนหนึ่งของซัทซึมะฮันที่ชื่อ ไซโงะ ทาคะโมริ ที่แสดงโดย เคน วาตานาเบะ

ชัยชนะของโชชูฮันที่มีต่อกองทัพของโชกุนคนที่ 15 โทกุงาวะ โยชิโนบุ ผู้เป็นโชกุนคนสุดท้ายในปี ค.ศ. 1866 ได้ทำให้เห็นถึงวาระสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนที่เมืองเอโดะว่าใกล้เข้ามาแล้ว และทำให้โทสะฮันรับเรียวมะกลับเข้าสังกัดอย่างมีเกียรติอีกครั้งเพื่อที่จะเป็นตัวกลางเจรจาการคืนอำนาจอย่างสมัครใจจากโชกุนกลับไปให้จักรพรรดิเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคามจากฮันทั้ง 4 ที่นิยมจักรพรรดิที่ประกอบด้วย ซัทซึมะฮัน โชชูฮัน โทสะฮัน และฮิเซนฮัน ในปี ค.ศ. 1867 จนประสบความสำเร็จในการถ่ายโอนอำนาจเมื่อโชกุนโยชิโนบุ ลาออกจากตำแหน่งเป็นไดเมียวธรรมดาคนหนึ่งในเวลาต่อมา และเป็นการเริ่มต้นการฟื้นฟูราชวงศ์เมจิให้กลับมามีอำนาจที่แท้จริงและฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นให้เป็นยุคทองแห่งการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยในที่สุด เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นได้เริ่มเกิดขึ้นในยุคนี้

การเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางของอำนาจจากรัฐบาลโชกุนผู้ครองอำนาจติดต่อกันกว่า 260 ปีโดยไม่มีผู้ใดสามารถเปลี่ยนแปลงระบบสังคมการปกครองยุคเอโดะได้ ทำให้คนสามัญผู้หนึ่งที่ไม่ยอมนิ่งดูดาย และไม่เคยมีตำแหน่งใดๆ ไม่ว่าใน “ฮัน” หรือในรัฐบาลโชกุนอย่างเรียวมะกลายเป็นตำนานที่มิใช่แต่เพียงความซื่อสัตย์แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

เรียวมะเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 30 เศษจากการถูกลอบสังหารโดยฝ่ายตรงข้ามที่เมืองเกียวโต แต่โลกทัศน์ของเรียวมะที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมการปกครองของรัฐบาลโชกุนนั้นกว้างไกลเพราะมีที่มาจากแนวคิดของการเป็นเสรีชนที่ตัวเขาเองศึกษาจากกรณีสหรัฐอเมริกาว่า “คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” และจากการได้เรียนรู้จาก คัทซึ ไคชู นายทหารเรือหัวก้าวหน้าผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาลโชกุนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยคิดจะลอบสังหารแต่กลับกลายเป็นสานุศิษย์ในที่สุด อันเนื่องมาจาก คัทซึ ไคชู ผู้นี้มากไปด้วยประสบการณ์และความรู้สมัยใหม่เพราะเคยมีประสบการณ์เป็นกัปตันเรือลำแรกของญี่ปุ่นที่แล่นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกนำคณะผู้แทนจากญี่ปุ่นไปเจรจาทำสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาที่ซานฟานซิสโกได้สำเร็จ

ฟุกุซะวะ ยูคิจิ ปราชญ์ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคโอที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่ปรากฏรูปในธนบัตรราคา 10,000 เยนก็เป็นผู้หนึ่งในคณะผู้แทนที่เดินทางไปในครั้งนั้นด้วย

แม้ว่ารัฐบาลโชกุนสามารถรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวและทำให้ยุคไฟสงครามระหว่างแต่ละ “ฮัน” สงบลงได้เมื่อกว่า 260 ปีก่อน แต่ก็เป็นอุปสรรคในปัจจุบันของการพัฒนาประเทศในสายตาของเรียวมะเพราะรัฐบาลโชกุนขาดซึ่งวิสัยทัศน์ต่อวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ตัวเขาไม่งอมืองอเท้ากระโดดเข้าร่วมกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลโชกุนเพื่อให้ประเทศที่ตนรักสามารถหลุดพ้นจากการปกครองเพื่อตนเองและครอบครัวของชนชั้นปกครองของโชกุนและไดเมียวทั้งหลายให้จงได้ อันเป็นจุดเปลี่ยนประเทศทำให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้า และหลีกเลี่ยงการถูกแบ่งแยกหรือตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกดังเช่นที่จีนได้ประสบมาแล้วจากสงครามฝิ่นในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

วิสัยทัศน์ของเรียวมะได้มาจากการยอมรับความเจริญก้าวหน้าของชาวต่างชาติ การจัดตั้งกองเรือสมัยใหม่ด้วยวิทยาการจากชาติตะวันตกที่ทำให้ซัทซึมะฮันและโชชูอันสามารถนำไปต่อกรเอาชนะกองทัพเรือของรัฐบาลโชกุนได้ และยังเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากการค้าขายอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นบรรพบุรุษของบริษัทมิตซูบิชิที่ก่อกำเนิดในภายหลังเมื่อปี ค.ศ. 1873 แม้เรียวมะจะสวมใส่เสื้อผ้าดังเช่นชนชั้นซามูไรทั่วไป แต่กลับนิยมใช้อาวุธ เช่น ปืนของชาวตะวันตกที่มิใช่ดาบเหมือนเช่นซามูไรทั่วไปและพกพาหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศติดตัวไว้อ่านอยู่ตลอดเวลา

ประเทศไทยในขณะนี้มีปัญหาบ้านเมืองที่แก้ไขได้ยาก หากสังคมนิ่งเฉย ดูดายปัญหา ไม่กล้าแสดงจุดยืน ไม่ร่วมมือพิทักษ์คนดีและร่วมขจัดคนโกง หากมักง่ายดังเช่นป้ายโฆษณาด้วยไฟจราจรเพียง 2 สี ริมทางด่วนบางนาที่ว่า เพราะเหลืองกับแดงขัดแย้งกัน ชาตินี้ไม่ต้องไปไหน ดังนั้น เพื่อพ่อให้ชาติไปก่อน ประเทศไทยก็ไม่ต้องไปไหนจริงๆ เพราะข้อความที่พยายามสื่อโดยป้ายโฆษณานั้นเป็น “กลวง” มิใช่เป็น “กลาง” บ้านเมืองมีปัญหาความขัดแย้งก็ต้องเข้ามาแก้ไข มิใช่ปัดปัญหาไว้ใต้พรมโดยไม่แก้ที่ต้นเหตุ คิดแบบตัวใครตัวมัน ไม่ออกมาสู้เพื่อความถูกต้อง ถ้าหากรักชาติจริงก็ต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าอะไรที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัวจึงจะถูกต้องและควรสนับสนุน

ผู้เขียนเห็นว่า สถานีโทรทัศน์ ไทย PBS ควรจะนำละครชุดเรื่อง “เรียวมะเด็น” ของ NHK มาฉายให้คนไทยได้รับชม เพราะประเทศของเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น