บีโอไอเผย "ค่ายนิสสัน" เตรียมทำคลอดอีโคคาร์ ออกจากสายการผลิตในประเทศไทยเป็นเจ้าแรก ในเดือน มี.ค.นี้ เตรียมอัดสิทธิประโยชน์ลดภาษีวัตถุดิบนำเข้า หวังลดต้นทุน-กระตุ้นตลาด
นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรการฐานสากล (อีโคคาร์) แม้ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ทุกค่ายรถยนต์ยังไม่ได้มีการถอนตัว โครงการลงทุนยังคงเป็นไปตามแผน โดยอีโคคาร์จากบริษัทสยามนิสสัน ออโตโมบิล จะออกจากสายการผลิตในประเทศไทยเป็นเจ้าแรกในเดือนมีนาคม 2553 ที่จะถึงนี้ นับเป็น 1 จาก 6 ค่ายรถยนต์ที่แผนการชัดเจน
ส่วนที่เหลืออีก 5 ค่ายรถยนต์ ได้แก่ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กำลังเดินหน้าก่อสร้างโรงงาน ด้านบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดโครงการ ส่วนบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และค่ายรถยนต์จากอินเดีย บริษัททาทา มอเตอร์ ยังคงมีความกังวลว่า จะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขเรื่องจะต้องมีปริมาณการผลิตจริง (actual production) ไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ซึ่งได้มีการต่อรองเงื่อนไขนี้
อย่างไรก็ตาม บีโอไอมีความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า หากค่ายรถยนต์ขอลดหย่อนเงื่อนไขลง ก็จะได้รับสิทธิพิเศษลดลงตามไปด้วย โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจลดจำนวนปีให้น้อยลง
สำหรับอีโคคาร์ เป็นรถยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง-สิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย จะต้องมีอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร ระดับมลพิษเป็นไปตาม Euro 4 UNECE Reg.83 Rev.2(2005) มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียไม่เกิน 120 กรัมต่อ 1 กิโลเมตร หรือ UNECE Reg.101 Rev.1 ด้านความปลอดภัยจะต้องได้มาตรฐาน UNECE Reg.94 Rev.0 กรณีการชนด้านหน้า และ UNECE Reg.95 Rev.0 จากการชนด้านข้างของตัวรถ
ด้านวัตถุดิบผลิตอีโคคาร์นั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบให้ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนตามมาตรา 30 แก่กิจการผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรการฐานสากล (อีโคคาร์) ในอัตราสูงสุดร้อยละ 90 เป็นเวลา 2 ปี โดยจะพิจารณาอนุมัติคราวละ 1 ปี ซึ่งจะทำให้การผลิตรถยนต์อีโคคาร์มีต้นทุนต่ำลงคันละ 1 แสนบาท เป็นการลดภาระต้นทุนให้ผู้ผลิตสามารถสร้างตลาดในประเทศได้ และช่วยให้เกิดการสร้างฐานการผลิตที่ใหญ่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ Eco-Car เกิดขึ้นโดยรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นความสำเร็จของบีโอไอที่จะสร้างฐานการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ต่อจากที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพในปัจจุบัน