xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อสรุปรถเมล์ NGV 4,000 คัน โสภณ”ติงกก.คนนอกตัวการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “โสภณ”ติง กก.คนนอก ความเห็นต่าง ยื้อสรุปรถเมล์ NGV 4,000 คัน ยันรับทุกความเห็นปรับปรุง หวั่นเป็นช่องว่างให้ถูกโจมตี ตอกกลับ คนครหาต้องรับฟังบ้างไม่ใช่แตกประเด็นเรื่อยเปื่อย กก.เตรียมถก TOR สัปดาห์หน้าก่อนเคาะราคา ฉุน รถร่วมฯขสมก.สภาพไม่ต่างเศษเหล็ก สั่งขบ.แก้ระเบียบจำกัดอายุใช้งาน ส่วนตั๋วร่วมขยับ ตั้งกก.Clearing House เข็นใช้ปี 54

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ จัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CNG) จำนวน 4,000 คัน วงเงิน 63,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการเช่าว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากมีความเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการพิจารณาร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภายนอกซึ่งตั้งข้อสังเกตุกรณีที่ตัดป้ายอัจฉริยะออก ซึ่งเรื่องนี้ ตัดออกไปตามที่คณะกรรมการชุด พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนั้นก็ต้องรอคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดโครงการฯ สรุปอีกครั้ง

“คณะกรรมการ TOR และคณะกรรมการพิจารณาราคากลางตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อมีความเห็นเพิ่มเติมหากฝืนไม่รับฟังก็จะเป็นช่องว่างให้ถูกโจมตี แต่คนที่ครหาก็ต้องรับฟังบ้าง ไม่ใช่แตกประเด็นไปเรื่อยไม่จบ ตอนนี้โครงการก็ช้าแล้วก็ปล่อยให้ช้าไป โดยส่วนตัวก็อยากเร่งให้เร็วเพราะคนที่อยากใช้รถเมล์ NGV ก็มี แต่ก็ต้องพยายามทำอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้เป็นการซื้อเวลาในประเด็นป้ายอัจฉริยะนั้น ตนเห็นว่าหากมีก็จะเป็นประโยชน์ในด้านการอำนวยความสะดวกแต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร”นายโสภณกล่าว

***สั่งขบ.แก้ระเบียบจำกัดอายุรถร่วมฯขสมก.

รมว.คมนาคมกล่าวว่า ในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนอยากให้มีคุณภาพมากที่สุด ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจประชาชนให้จำใจต้องใช้บริการเหมือนปัจจุบัน โดยเฉพาะรถร่วมบริการ ขสมก. ซึ่งสภาพรถส่วนใหญ่เก่ามาก บางคันมีสภาพเหมือนเศษเหล็ก ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ให้พิจารณาปรับแก้ระเบียบเพื่อจำกัดอายุการใช้งานของรถสาธารณเช่นเดียวกับรถแท็กซี่แล้ว

ด้านนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CNG) จำนวน 4,000 คันกล่าวภายหลังการประชุมวานนี้ (25 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องสเปครถที่ต้องการแล้ว โดยในวันที่ 3 ก.พ.จะประชุมเพื่อสรุปร่างเงื่อนไขการประกวดราคาหรือ TORในประเด็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอประมูลซึ่งเบื้องต้นผู้แทนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตกรณีการให้เอกชนเพียงรายเดียวเป็นผู้จัดหารถทั้ง 4,000 คัน ว่าอาจจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้มีผู้ยื่นน้อย

ซึ่งเบื้องต้น ผู้ผลิต 3 กลุ่มซึ่งตอบกลับมายังขสมก.ว่า มีกำลังการผลิตเฉลี่ย 200-350 คันต่อเดือน ในขณะที่ TOR กำหนดให้ประกอบในประเทศ 70% หรือ 2,800 คัน นำเข้าได้ 1,200 คันและกำหนดส่งมอบใน 15 เดือนแรก 1,500 คัน และเดือนต่อไปเดือนละ 200 คันเห็นว่า จำนวน 3 รายน่าจะความเหมาะสมในการแข่งขัน แต่ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ขสมก.สอบถามไปสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ และผู้ประกอบการถึงขีดความสามารถกำลังการผลิตต่อเดือนอีกครั้ง

ส่วนกรณีป้ายอัจฉริยะนั้น นายถวัลย์รัฐกล่าวว่า ที่ประชุมสรุปให้ตัดออกโดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก มีระบบ GPS ติดตามและแสดงเส้นทางรวมถึง ก้องที่บริเวณบันไดขึ้นลงอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกและดูแลด้านความปลอดภัยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามคาดว่า คณะกรรมการฯ จะต้องประชุมอีกอย่างน้อย 2 ครั้งจึงจะสรุปได้ ส่วนมูลค่าโครงการนั้นต้องรอคณะกรรมการราคากลางสรุป แต่คาดว่าน่าจะปรับลดลงจากกรอบเดิม 6.3 หมื่นล้านบาท

****ตั้งกก.Clearing House เข็นใช้ตั๋วร่วมปี 54

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมว่า กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดเพื่อพิจารณาเรื่อง Clearing House บริหารจัดการส่วนแบ่งรายได้ของแต่ละระบบ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมี 4 หน่วยงานประกอบด้วยบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.)ได้ตกลงกันว่า จะเดินหน้าพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดย BMCL และ BTS คาดว่าเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2554 จะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วมได้ โดยใช้เวลาพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 15-18 เดือน

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การใช้ระบบตั๋วร่วมจะต้องมีจัดตั้ง เรื่อง Clearing House ให้เรียบร้อยก่อน นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาดูแลทุกระบบในภาพรวม เบื้องต้นจะให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่ไปก่อนจากนั้นในอนาคตอาจจะต้องตั้งเป็นองค์กรมหาชนเข้ามาทำหน้าที่

ขณะที่นายโสภณ กล่าวว่า ต้องการให้หน่วยงานภายในสังกัดของกระทรวงคมนาคมทำระบบตั๋วร่วมเป็นการนำร่องก่อนว่า เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ , การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) , กทพ. และเรือด่วน ซึ่งจะเป็นต้นแบบโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ตั้ง Clearing House ซึ่งหากเกิดตั๋วร่วมได้เร็ว ก็จะช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น