xs
xsm
sm
md
lg

แผนอุ้ม 3 ฆาตกรล่ม มาร์คขอดูมติ ก.ตร. ลั่นใช้ กม.ยุติปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"เผยมติ ก.ตร.อุ้ม "3 นายพลฆาตกร" ยังมาไม่ถึงมือ ย้ำความเห็นกฤษฎีการะบุ ครม.ส่งศาลรธน.ตีความไม่ได้ แนวทางยุติปัญหาต้องทำตามกฎหมาย "เทือก"อ้าง ก.ตร.มองว่าเป็นเรื่องผิดวินัย ไม่ใช่ทุจริตตามที่ศาลรธน.เคยชี้ ขณะที่เลขาฯกฤษฎีกา บอกก.ตร.มีสิทธิ์ได้ความเห็นเดิม ถ้าถามประเด็นซ้ำ แนะนายกฯไม่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วานนี้ (19 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม. ถึงปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ว่า ตนพยายามทำความเข้าใจกับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) อยู่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัญหา มติก.ตร. ที่ขัดกับมติ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด 3 นายพลตำรวจ ในคดีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาฯ 51 นั้นไม่ได้มีการนำเข้าที่ประชุมครม. เพราะมติก.ตร.จะถูกส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ให้ ผบ.ตร.และตนดำเนินการตามกฎหมายตำรวจ ซึ่งเมื่อคุยกับพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการแทน ผบ.ตร. ท่านบอกว่า ยังมีข้อกฎหมายที่ควรมีข้อยุติที่ชัดเจน จึงคิดจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ส่วนความเห็นก่อนหน้านี้เป็นความเห็นที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาโดยรวบรวมประเด็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าวันนี้ได้สอบถามเลขาฯ กฤษฎีกา ท่านบอกว่าประเด็นที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยแล้ว และค่อนข้างชัดคือ ครม.ไม่อยู่ในฐานะที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ส่วนประเด็นที่ ก.ตร.โต้แย้ง ซึ่งตนยังไม่เห็นมติก.ตร.อย่างเป็นทางการ บอกว่าบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญวางกับกรณีที่ก.ตร.พิจารณา ไม่เหมือนกัน เป็นคนละกรณีกัน แต่ตนไม่เข้าใจว่ามันเป็นคนละกรณีกันอย่างไร

เมื่อถามว่าทำไมนายกฯไม่ขอประเด็นข้อโต้แย้งมาดูเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะข่าวมีหลายวันแล้วนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเขายังไม่ส่งมาที่สตช. ฝ่ายเลขาฯ ต้องเป็นคนทำมติ และส่งไปที่ สตช. ซึ่งเขายังไม่ได้ทำ ตนถามพล.ต.อ.ปทีป ก็ยืนยันว่า ก.ตร.ยังไม่ส่งมา

เมื่อถามว่า สิ่งที่สตช.ทำ จะยิ่งเป็นการขยายความขัดแย้งระหว่างสตช.-ป.ป.ช.และประชาชนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ถ้ากฎหมายเขียนอย่างไร ก็ปฏิบัติตามนั้น และไม่ควรขัดแย้งกัน เรามาทะเลาะกันเองเรื่องข้อกฎหมายมันก็ไม่ได้ข้อยุติ ควรให้คนที่เขาเชี่ยวชาญ และมีอำนาจในการชี้ข้อกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้มา ตนคิดว่าฝ่ายบริหารควรเคารพ ไม่อย่างนั้นไม่รู้จะถามคณะกรรมการกฤษฎีกากันทำไม ถ้าตอบถูกใจก็อ้าง ตอบไม่ถูกใจ ก็ไม่ทำ อย่างนี้มันคงไม่ได้

เมื่อถามว่า นายกฯ จะทำอย่างไรไม่ให้โลกหยุดอยู่ตรงนี้เหมือนเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าโลกยังไม่หยุดหมุน โลกยังหมุนอยู่ และตนก็ชัดเจนในส่วนของตนและมีอำนาจในส่วนของตน และมีดุลยพินิจ แต่ขณะนี้มันอยู่ในขั้นตอนเวลาคณะกรรมการต่างๆ ประชุมเสร็จต้องจัดทำรายงาน จัดทำมติและส่งมา เขาเพิ่งประชุมไปเมื่อวันศุกร์ ยังไม่ส่งมาที่สำนักงาน

เมื่อถามว่า ต่างคนต่างยืนอำนาจตัวเอง จะหาข้อยุติอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าข้อยุติคือเป็นไปตามกฎหมาย และพล.ต.อ.ปทีป ก็บอกว่าจะได้ข้อยุติตรงนี้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนปฏิบัติได้ไปในทางเดียวกัน เมื่อถามว่าสิ่งที่ สตช.ทำวันนี้ถูกมองว่าตะแบง ไม่ยอมฟังกฎหมาย ไม่ยอมรักษาการถ่วงดุล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าอันนี้แต่ละคนมีสิทธิ์มีความเห็น แต่เป็นมติของคณะกรรมการ ไม่ใช่ความเห็นคนใดคนหนึ่ง ผู้ที่มีอำนาจต่อไปต้องใช้ดุลยพินิจว่ามตินั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้

เมื่อถามว่า กฤษฎีกาควรเร่งให้ความเห็นเรื่องนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงจะเร่ง แต่ตัวมติต้องมาก่อนไม่งั้นเราไม่รู้จะตีความเรื่องอะไร ตอนนี้มติยังไม่มาหมายความว่าถ้ายังไม่มา ก็ยังไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีอะไรต้องขัดแย้งกัน

เมื่อถามว่า ก.ตร. ต้องเร่งทำมติส่งสตช.โดยเร็วหรือไม่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเขาก็ทำตามปกติไม่ทราบว่าต้องไปรับรองรายงานการประชุมหรือไม่

**กตร.อ้างเป็นเรื่องวินัยไม่ใช่ทุจริต


ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขั้นตอนคือต้องให้ สตช. นำเสนอเรื่องมาถึงนายกฯ ก่อนที่นายกฯ จะตัดสินใจว่า จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาชุดใหญ่ให้ความเห็น เมื่อได้ความเห็นมาแล้วจะวินิจฉัยอย่างไร ถือเป็นดุลพินิจของนายกฯ แต่ที่เป็นประเด็นเพราะมีข่าวออกไปก่อนที่เรื่องจะถึงนายกฯ

ส่วนที่มีการเสนอให้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น ตนเคยอธิบายไปแล้วว่า หากหัวหน้าฝ่ายบริหารสั่งการอย่างไร ต้องถือเป็นข้อยุติ หากผู้เสียหายเห็นว่าไม่สามารถพึ่งพาช่องทางดังกล่าวได้ ก็ต้องไปหาช่องทางของศาลปกครอง หรืออะไรก็ว่าไป ซึ่งในการประชุมก.ตร. ได้มีการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาเทียบเคียงด้วย แต่ในคำวินิจฉัย เป็นกรณีเรื่องการทุจริต

" ที่ก.ตร.ยันมติเดิม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของวินัย ไม่ใช่เรื่องของการทุจริต ซึ่งเป็นการพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่เห็น ที่ผู้เสียหายนำมาแสดงว่าไม่ใช่การทุจริต" นายสุเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ก.ตร. ยืนยันมติ ซึ่งสวนทางกับการชี้มูลของป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระ จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์กรอิสระลดลง นายสุเทพ กล่าวว่า ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ คนในสังคมประชาธิปไตยมีสิทธิที่จะมอง หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้

เมื่อถามว่า มาตรา 92 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ระบุว่า คนที่สามารถอุทธรณ์การชี้มูลได้มีเพียงแค่อัยการ กับศาลเท่านั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ก็ต้องดูไปตามเหตุผล ตนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อย่างที่บอกไปแล้วว่าหากไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ไปศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไปไม่ได้ ก็ไปศาลปกครอง เหมือนที่นายกฯระบุว่าองค์กรอิสระต้องมีการคานอำนาจกัน

**ถ้าถามเหมือนเดิมก็ตอบเหมือนเดิม

นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. ไปขอความเห็นจากกฤษฎีกา กรณีที่ ก.ตร.มีมติขัดกับ ป.ป.ช. ว่า ตนยังไม่เห็นเรื่อง เห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ส่วนมติก.ตร. ตีกลับมาที่ป.ป.ช.ได้หรือไม่นั้น เลขาฯกฤษฎีกา กล่าวว่า " ก็มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เรื่องมาตรา 96 ของกฎหมาย ป.ป.ช."

อย่างไรก็ตาม ถ้าครม.ส่งเรื่องขอความเห็นอีกครั้ง กฤษฎีกาจะยืนตามความเห็นเดิมหรือไม่นั้น ก็ต้องดูก่อนว่าส่งไปหารือในประเด็นอะไร ประเด็นเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นหารือว่าเรื่องนี้สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งครั้งนี้ก็น่าจะประเด็นใกล้เคียงกัน คือว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ตนยังไม่ทราบว่าก.ตร. จะหารือเข้ามาว่าอย่างไร ก็ต้องขอดูก่อน

"ถ้าหารือในประเด็นที่เคยให้ความเห็นไว้แล้ว ก็อาจจะให้ความเห็นเดิมมา แต่ถ้าหากเป็นประเด็นใหม่ ก็คงจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา" นางพรทิพย์กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนั้นกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ดูในรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนไม่เหมือนกับปี 2540 เพราะว่าปี 2550 ต้องมีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งก.ตร.ก็ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วเคยให้ความเห็นมาแล้วว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของครม. แต่เป็นเรื่องของก.ตร.

เมื่อถามว่า แสดงว่ามติครม.เมื่อปี 2546 ที่ให้ ครม.ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่า มตินี้ก็ยกเลิกไปเลยใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นรัฐธรรมนูญปี2540 ป.ป.ช ขอหารือเอง เพราะว่ารัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้หน่วยงานหารือในปัญหาของตัวเองได้ มันจึงเป็นคนละประเด็นไปแล้ว

เมื่อถามว่า ถ้าเช่นนั้นทางออกก็มีทางเดียวคือ ไปฟ้องศาลปกครอง คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ตามกระบวนการที่เคยทำมา ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ อุทธรณ์แล้วผู้มีอำนาจอุทธรณ์พิจารณา ถ้าตามกฎหมาย ป.ป.ช. ก็ต้องพิจารณา เขาใช้ดุลพินิจได้อย่างเดียว แต่พิจารณาในเรื่องฐานความผิดไม่ได้ ถึงตอนนั้นผู้ที่ถูกลงโทษก็สามารถที่จะเสนอเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาได้

เมื่อถามว่า 3 นายพล จะอ้างได้หรือไม่ว่า การอุทธรณ์ลงโทษ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ถ้าจะอุทธรณ์ ก.ตร. ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ถ้าจะโต้แย้งความเห็นของป.ป.ช. ก็น่าจะไปโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ป.ป.ช. ผิดถูกอย่างไร

**หากมติมิชอบนายกฯ ไม่ต้องทำตาม


เมื่อถามว่าที่ ก.ตร. มีมติให้ 3 นายพล กลับเข้ามาทำงาน นายกฯ ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ความจริง ก.ตร. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. และโดยปกติถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ชอบ ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติตาม ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติตาม

เมื่อถามย้ำว่านายกฯไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ก.ตร. ถ้าเป็นความเห็นโดยมิชอบในเรื่องของการอุทธรณ์คำสั่ง คุณพรทิพย์ กล่าวว่า การอุทธรณ์คำสั่ง ก.ตร.เขาพิจารณาแล้ว ส่วนจะปฏิบัติหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่จะสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่หรือเปล่า คือตรงนั้น นอกจากนี้ในเรื่องของถ้าไม่ใช่ตัว ผบ.ตร. เข้าใจว่าจะไม่ใช่อำนาจนายกฯ แต่จะเป็นอำนาจของ ผบ.ตร. แต่ ผบ.ตร.ก็เกษียณแล้ว รู้สึกว่ายังเป็นปัญหาไม่รู้ว่าจะไปทางไหน

เมื่อถามว่านายกฯ เป็นแค่เสียงเดียวใน ก.ตร. แบบนี้ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร. หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า อย่างที่เรียนคือ ถ้าหากว่าเป็นมติที่ชอบ ก็ต้องปฏิบัติตาม เมื่อถามว่ากฤษฎีกาต้องตีความว่า มติ ก.ตร.ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่า ก.ตร.ถามว่าอย่างไร แต่ย้ำว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เคยมีความเห็นแล้ว ก็มีระเบียบที่เปิดช่องให้ส่งความเห็นที่เคยให้ความเห็นแล้วกลับไปได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีความเห็น ก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการฯ อย่างน้อยๆ ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น