xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับ4กทช. เอกชนถอดใจ3Gลากยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักราชเลขาฯ ส่งเรื่องการขอโปรดเกล้าแต่งตั้งกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) 4 ราย แทน กทช. ที่จับสลากออก 3 คน ได้แก่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการด้านวิทยุชุมชน กทช. รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม อดีตประธานคณะอนุกรรมการเคเบิลทีวี ของกทช.และนายบัณฑูร สุภัควณิช และแทนกทช.ที่ลาออก 1คนได้แก่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช. กลับคืนมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ตรวจสอบคุณสมบัติทั้ง 4 ใหม่ ซึ่งคาดว่าขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้วุฒิสภาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

โดยสาเหตุของการส่งเรื่องคืนครั้งนี้ น่าจะเกิดจากกรณีนายธรรมนูญ จุลมณีโชติ หนึ่งในผู้สมัครคัดเลือกกรรมการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ยื่นหนังสือฟ้องศาลปกครองกลาง โดยยื่นฟ้องนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และเลขาธิการวุฒิสภา ขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีงดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือก พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นกรรมการ กทช. เนื่องจากมีปัญหาจากการถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่และอยู่ในระหว่างการสอบสวนของปปช.รวมทั้งขอให้ถอนเรื่องคืนจากการนำเรื่องเสนอทูลเกล้าฯ

ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครกทช.ทั้ง 4 คนอีกครั้งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร ถึงจะสามารถนำเสนอเรื่องดังกล่าวขอโปรดเกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาได้ประชุมเพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจงต่อศาลปกครอง หลังจากถูกเรียกเข้าให้ข้อมูลจากศาลปกครอง กรณีพ.อ.นที ศุกลรัตน์ มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเพราะมีรายชื่อถูกตรวจสอบที่ ปปช.

นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ กล่าวว่าหลังจากได้ยื่นเรื่องศาลปกครองแล้ว ทราบว่าศาลไม่สามารถมีคำสั่งคุ้มครองได้ จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักราชเลขาฯเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติไม่ถี่ถ้วนเพียงพอ เนื่องจากศาลปกครองยังไม่ได้มีคำตัดสินชี้ขาดลงมา นอกจากนี้ในระหว่างการเรียกเอกสารเพิ่มเติมยังพบว่ากรณีพ.อ.นที ศุกลรัตน์ ในช่วงรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที ไม่ได้ลาออกจากราชการ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฏหมายและขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วย

'ผมไม่อยากให้เกิดกรณี โปรดเกล้าฯ แล้ว ศาลปกครองชี้ว่าขาดคุณสมบัติ อยากให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งคาดว่าทุกอย่างน่าจะกระจ่างในเดือนก.พ.ที่จะถึงนี้'นายธรรมนูญกล่าว

ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่าในความเห็นส่วนตัวคิดว่าภายใน 2 ปีนี้ กระบวนการประมูลคลื่นความถี่และให้ใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3G ของกทช.คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าคณะกรรมการกทช.ชุดใหม่จะเข้ามาทำงานจริงได้เมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้กรรมการกทช.ชุดเดิมก็ไม่น่าจะกล้าตัดสินใจเดินหน้าเรื่องใบอนุญาต 3G นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาอัยการสูงสุดและสภาทนายความต่างมีความเห็นว่าควรรอพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ออกมาก่อน เพื่อความรอบคอบไม่ให้ซ้ำรอยกรณีมาบตาพุด

'มีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง ทำให้ผมไม่แน่ใจว่ากรรมการกทช.ใหม่ 4 คนจะแต่งตั้งได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งแต่งตั้งได้แล้ว จะกล้าประมูลใบอนุญาตหรือไม่'

นายวิเชียรกล่าวว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเอไอเอส ในฐานะบริษัทคู่สัญญาร่วมการงานกับบริษัท ทีโอที เห็นว่าหากทีโอทีสามารถขยายโครงข่าย 3G ครอบคลุมได้ทั่วประเทศ เอไอเอสก็พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับทีโอทีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในการพัฒนาโครงข่าย หรือความร่วมมือในด้านการตลาด ในลักษณะการเป็นพันธมิตรแล้วแบ่งรายได้กัน หรือเอไอเอสเป็นตัวแทนทำการตลาดให้เหมือนอย่างฮัทช์ที่ทำตลาดระบบซีดีเอ็มเอในภาคกลาง 25 จังหวัดให้บริษัท กสท โทรคมนาคม

'เราคงต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ 3G เพราะบริการซูเปอร์ 3G บนความถี่เดิมก็มีข้อจำกัดเรื่องช่วงกว้างความถี่ทำให้ขยายฐานลูกค้าไม่ได้มาก แต่อย่าลืมว่าเอไอเอสเป็นบริษัทคู่สัญญาร่วมการงานที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที ยิ่งเอไออสมีโอกาสที่จะทำรายได้มากขึ้นจาก 3G ทีโอทีก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้มากขึ้นตามไปด้วย'
กำลังโหลดความคิดเห็น