xs
xsm
sm
md
lg

“ลูบหน้าปะจมูก”

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


การแสดงความรับผิดชอบ และการดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ในแวดวงการเมืองและการบริหารรัฐกิจไทยในช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดีขึ้น... แต่ยังไม่ดีพอ

1)กรณีประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย


ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขนสัมภาระเกินน้ำหนักอนุญาต ใส่ตัวเลขน้ำหนักปลอม โดยไม่ผ่านการเสียภาษีศุลกากร เคยถูกร้องเรียนว่ากระทำมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2550

เมื่อถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้อฉาว นายวัลลภ พุกกะณะสุต ก็ชิงลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย

หลังจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานผลการตรวจสอบ พบว่า นายวัลลภได้ขนสัมภาระน้ำหนักเกินจริง และไม่มีหลักฐานว่ามีการอนุมัติน้ำหนักสัมภาระส่วนเกินสิทธิตามระเบียบบริษัท (พูดง่ายๆ ว่า ไม่ได้รับอนุญาต) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการแก้ไขน้ำหนักสัมภาระคณะนายวัลลภด้วย

ปรากฏว่า นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย แถลงว่า บอร์ดมีมติรับทราบผลสอบ และมอบหมายให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากการขนน้ำหนักเกิน ซึ่งคาดว่าประมาณ 200,000 บาท หรือคิดเป็นค่าปรับ 20 เหรียญต่อกิโลกรัม และให้ยกเลิกการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมของบริษัท เนื่องจากนายวัลลภได้ลาออกไปแล้ว

การลาออกของนายวัลลภ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในฐานที่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบเบื้องต้น

แต่การลาออกของนายวัลลภไม่ควรจะถูกอ้างหรือนำมาใช้เพื่อ “ตัดตอนความรับผิดชอบ” ในด้านอื่นๆ


หากการบินไทยยุติเรื่องเพียงแค่ปรับหรือเรียกค่าเสียหายจากนายวัลลภ ในฐานที่ขนสัมภาระเกินสิทธิโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านี้ ย่อมจะถูกมองว่า เป็นการ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือ “ตัดตอนความรับผิดชอบ”

หลายประเด็นที่ควรจะต้องมีการดำเนินการสอบสวน หรือแม้แต่ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาต่อไป
เช่น
การที่อดีตประธานกรรมการบริหารการบินไทยผู้นี้ได้ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 แสดงว่าการกระทำในลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก และครั้งเดียว ใช่หรือไม่? ดังนั้น ถ้าจะปรับหรือเรียกค่าเสียหาย ก็ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน มิฉะนั้น จะเป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของการบินไทย

กรณีแก้ตัวเลขน้ำหนักสัมภาระ เมื่อพบว่า มีการแก้ตัวเลขจริง ก็ต้องสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำความผิดนี้ต่อไป อย่าลืมว่าน้ำหนักบรรทุกเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยการบิน

ผู้จัดการการบินไทย ประจำโตเกียว จะต้องรับผิดชอบ และหากเป็นการสั่งการ หรือจ้างวาน หรือบงการของนายวัลลภ นายวัลลภก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

กรณีลักลอบขนสินค้าหนีภาษีศุลกากรเข้าในราชอาณาจักรไทย เป็นความจริงหรือไม่? ดำเนินการมาแล้วกี่ครั้ง และควรจะให้กระทรวงการคลังดำเนินคดีอย่างไร? เป็นต้น

ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบกรณีเหล่านี้ ควรจะเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย (ผ่านกระทรวงการคลัง) ได้มีโอกาสรับรู้และมั่นใจในการบริหารที่มีธรรมาภิบาลของการบินไทย โดยที่บริษัทการบินไทยยังอาศัยสิทธิการบินของประเทศไทยด้วย

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาการขนสัมภาระน้ำหนักเกิน นอกจากทำให้การบินไทยเสียผลประโยชน์แล้ว ยังอาจกระทบต่อความปลอดภัยการบินของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งหากได้รับทราบการดำเนินการอย่างเด็ดขาดและเอาจริงของการบินไทยต่อปัญหาเหล่านี้ ประชาชนจึงจะมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในบริการของการบินไทย

2) กรณีครหาในกระทรวงสาธารณสุข

ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบ ชุดที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า การดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุขมีข้อพิรุธสงสัย อาจจะมีการทุจริตคอร์รัปชัน และมีความบกพร่องในการดำเนินงาน

ปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี ได้ลาออกจากตำแหน่ง

การลาออกของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และสะท้อนให้เห็นการแสดง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

แต่การลาออกของบุคคลทั้งสอง ย่อมไม่สามารถ “ตัดตอนความรับผิดชอบ” ในด้านอื่นๆ แม้แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร!

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) มีเจตนาสนับสนุนกลไกการตรวจสอบของรัฐสภา และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็น่าจะสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีขึ้นมาใหม่ ไม่ควรกระทำเยี่ยงรัฐบาลยุคทักษิณที่มีการสลับตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อหนีการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หากฝ่ายค้านต้องการจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ก็สามารถกระทำได้ และถ้ามีข้อมูลชัดเจน มีหลักฐานหนักแน่น ก็สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปด้วยเช่นกัน

ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ เล่นการเมืองเพื่อปลุกปั่น ป่วนบ้านป่วนเมืองไปเรื่อยๆ โดยไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์มานำเสนอ ก็จะเป็นการประจานตัวเอง (อีกครั้งหนึ่ง) และถ้าหากใช้ข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีผู้ใด ก็ย่อมไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

3) กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 และกรณีทำร้ายผู้ชุมนุม ที่ จ.อุดรธานี 24 กรกฎาคม 2551
ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดของนักการเมืองและนายตำรวจระดับสูง ที่กระทำผิดในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 โดยไม่ได้มีการชี้มูลความผิด หรือเอาผิดตำรวจชั้นประทวน หรือตำรวจชั้นผู้น้อยเลย

บุคคลที่ถูกชี้มูลความผิด ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ส่วนกรณีทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม ที่จังหวัดอุดรธานี 24 กรกฎาคม 2551 มีนายตำรวจถูกชี้มูลความผิด ได้แก่ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) อุดรธานี

สำหรับข้าราชการตำรวจที่ถูกชี้มูลความผิด ซึ่งมีทั้งที่ผิดวินัยร้ายแรง กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือแม้กระทั่งผิดกฎหมายอาญา ได้ถูกลงโทษโดยให้ออกจากราชการ

แม้ขณะนี้ ก.ตร.จะพยายาม “อุ้มนายตำรวจทั้ง 3 กลับเข้ารับราชการ” โดยมีมติพลิกคำวินิจฉัยชี้ขาดของ ป.ป.ช. เป็นว่าไม่มีความผิด แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมาย ทำลายอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ยังมีทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเป็นบรรทัดฐานอยู่แล้วว่าหน่วยงานราชการไม่สามารถจะกลับมติของ ป.ป.ช.ได้

นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แสดงท่าทีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน!

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว นายตำรวจทั้ง 3 คงต้องรับโทษไปตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.


ถึงจะเกษียณไปแล้ว ก็ยังต้องรับกรรมที่ตนเองก่อ หนีไม่พ้น ไม่ต่างกับกรณีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตเลขาธิการ ก.พ.

ยิ่งกว่านั้น คนที่พยายามจะอุ้มผู้กระทำผิด ยังอาจจะต้องรับโทษสำหรับการกระทำที่ผิดกฎหมายของตนเองอีกด้วย

แต่สำหรับนักการเมือง 2 คน ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่กลับยังไม่ถูกดำเนินการเพื่อให้รับผิดชอบให้ถึงที่สุด


นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ถูกเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา ปรากฏว่า ปัจจุบัน วุฒิสภาก็ยังไม่ดำเนินการถอดถอน โดยอ้างว่านายสมชาย และพลเอกชวลิต ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

ทั้งๆ ที่ การถอดถอน (impeachment) ตามรัฐธรรมนูญ โดยวุฒิสภา จะมีผลทำให้ผู้ถูกถอดถอนต้องหยุดทำงานการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ถอดถอน ซึ่งต่างกับกรณีการพิจารณาโทษปลดจากตำแหน่งในกรณีผิดกฎหมายหรือผิดวินัยราชการ

การถอดถอนกรณีดังกล่าว น่าจะใช้เวลาไม่มาก เพราะเมื่อประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบมูลความผิด ก็จะได้คำตอบที่รวดเร็ว เพราะ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์ 7 ต.ค.2551 ไปก่อนหน้านี้แล้ว

หากเรื่องนี้ วุฒิสภาละเว้น ละเลย หรือหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้า ก็ย่อมจะถูกมองว่า “ลูบหน้าปะจมูก” หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษา ก็อาจจะถูกนินทาว่า พยายามจะช่วยเหลือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานที่เคยเป็นผู้พิพากษาเหมือนกัน

กรณีเหล่านี้ เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของการเมืองไทย

และในอนาคต บ้านเมืองของเราจะดียิ่งกว่านี้ หากไม่มีการ “ลูบหน้าปะจมูก”

ไม่ “ตัดตอนความรับผิดชอบ”

หรือไม่เอา “ระบบอุปถัมภ์” อยู่เหนือระบบนิติรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมือง

สิ่งเหล่านี้ ลำพังนายกรัฐมนตรีคนเดียว คงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ แต่คนไทยทุกคนที่อยากจะเห็นบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า จะต้องช่วยกัน!

กำลังโหลดความคิดเห็น