xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเด็นความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกหรือ Global Imbalance เป็นประเด็นที่พูดถึงกันบ่อยๆในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ หากกล่าวถึงความหมายของ Global Imbalance อย่างง่ายๆ คือ ความไม่สมดุลทางการค้าและ/หรือความไม่สมดุลทางการออมของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของประเทศสหรัฐฯ ที่ได้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาในขณะที่ประเทศในในแถบเอเชีย เช่น จีน มีการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องกับสหรัฐฯ ซึ่งมีนัยถึงการออมภายในประเทศสหรัฐฯที่มีไม่เพียงพอต่อการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ หากอธิบาย Global Imbalance อีกมุมหนึ่งก็คือ กรณีที่เศรษฐกิจโลกมีกลุ่มประเทศอยู่ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งมีเงินออมจำนวนมากต้องการลงทุนให้ปลอดภัยและเกิดประโยชน์มากที่สุดกับอีกกลุ่มประเทศมีการออมน้อยแต่ต้องการเงินลงทุนในประเทศจากต่างประเทศจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551ได้มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการออมและการลงทุนของประเทศต่างๆ มีความระมัดระวังมากขึ้น Global Imbalance ดูเหมือนว่าจะดีขึ้น ถามว่าแล้วในระยะต่อไปยังต้องกังวลในประเด็น Global Imbalance อีกไหม พอดีผมได้อ่านบทความของ IMF ที่ส่วนหนึ่งมีการพูดถึง ข้อดีและข้อเสียของ Global Imbalance จึงอยากสรุปสั้นๆมาให้อ่านกัน

ในส่วนแรกขอกล่าวถึงข้อดีของ Global Imbalance ก่อน กล่าวคือ 1) เมื่อโครงสร้างการออมของประเทศต่างๆในโลกมีความแตกต่างกัน บางประเทศอาจมีโครงสร้างของประชากรที่มีคนวัยทำงานมากกว่าประเทศอื่นๆ ประเทศนั้นๆก็สามารถออมและมีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อเตรียมความพร้อมหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคตได้ 2) สำหรับประเทศที่มีเงินลงทุนในประเทศไม่เพียงพอก็สามารถใช้เงินลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในประเทศได้ 3) ผลดีของประเทศที่มีโครงสร้างตลาดการเงินที่ดีจะเป็นที่น่าสนใจในการลงทุน ทำให้มีการลงทุนและผลตอบแทนที่ดีในประเทศนั้นๆ ซึ่งในสองข้อหลังนี้จะนำมาซึ่งการแข็งค่าของเงินและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในประเทศนั้นๆ ด้วยเหตุผล 3 ข้อนี้ดูเหมือนว่า Global Imbalance จะแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการทางด้านเงินทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม Global Imbalance อาจจะนำมาซึ่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้ กล่าวคือ 1) ในกรณีที่มีการออมมากและผู้ออมมีความระมัดระวังมาก อาจนำสู่ประเด็นเรื่องความด้อยในการบริหารความเสี่ยง แต่หากการออมในประเทศมีน้อยไปก็อาจนำไปสู่ปัญหาการลงทุนในประเทศได้ 2) ในปัจจุบันที่หลายๆประเทศได้มีการพึ่งพิงการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากประเทศต่างๆ หันมาใช้กลยุทธ์เดียวกันก็อาจเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกได้ นอกจากนี้ เมื่อหลายประเทศมีการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อป้องกันตัวเองมากขึ้นก็จะเป็นความยากในการร่วมกันแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ เช่น การจัดตั้งกองทุนเงินสำรองในภูมิภาค หรือการป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่ร่วมมือกันในระดับระหว่างประเทศ 3) การที่ค่าเงินแข็งขึ้นจากการมีเงินทุนไหลเข้าประเทศอาจทำให้เกิดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ กลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในประเทศได้และ 4) หากปัญหา Imbalance เกิดขึ้นในหลายๆประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรี การลงทุนในประเทศที่มีปัญหาอาจมีไม่เพียงพอกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องและกระทบต่อระบบการเงินโลกโดยรวมได้

แม้ Global Imbalance จะปรับตัวดีขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา แต่ประเด็นดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก การแก้ไขปัญหาและการบริหารประเทศเพื่อป้องกันผลกระทบของ Global Imbalance อาจมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมการออมในประเทศ การบริหารค่าเงินของประเทศให้อ่อนค่าลง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยหรือหลายประเทศในโลกที่ภาคต่างประเทศมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่ความสำคัญของเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่เข้มแข็งมากนัก ภายใต้ประเด็นของ Global Imbalance ที่ยังคงมีอยู่ความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวและหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศนั้นมีมากขึ้น การพึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไปก็อาจเป็นผลเสียต่อประเทศได้ครับ

                                surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น