xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯขู่ฟ้องก.ตร. ซัด"เทือก"จงใจท้าทายอำนาจป.ป.ช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะให้ตนไปชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับมติ ก.ตร. ที่ให้ 3 นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 51 ว่า ป.ป.ช.คงไม่มีหน้าที่มาสั่งตน แต่เรื่องนี้ตนคิดว่ามีขั้นตอนอยู่ เพราะเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นไปถึงนายกฯ จากนั้นนายกฯจึงสั่งให้ตนดำเนินการ นำเข้าสู่ที่ประชุม ก.ตร. เพื่อให้ทบทวน ตนจึงได้สั่ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการ ผบ.ตร. ดำเนินการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของก.ตร. ในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค.นี้
ส่วนก.ตร. จะพิจารณาแล้วเห็นเป็นอย่างไรก็แล้วแต่มติเสียงส่วนใหญ่ ตนทำหน้าที่เพียงประธานเท่านั้น เสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ตนก็ต้องรับผิดชอบร่วมไปกับเขา แต่ทั้งหมดก็มีเหตุมีผลอยู่ในข้อกฎหมาย ซึ่งตนก็ต้องฟังว่า คนที่มีความรู้ทั้งหลายเขาว่าอย่างไร ไม่มีอะไรซับซ้อนในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าทางทางป.ป.ช.บอกว่า หากรัฐบาลสนับสนุนมติก.ตร. ที่ให้รับ 3 ตร. กลับเข้าทำงานอีก เท่ากับเป็นการละเมิดกฎ นายสุเทพ กล่าวว่า "ผมคิดว่าป.ป.ช. คงต้องทำเท่าที่ขอบเขตอำนาจของป.ป.ช. และป.ป.ช. ก็ได้ทำไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นก็ว่ากันไป เพราะมีช่องทางที่ต้องทำ วันนี้การที่ใครจะไปวิจารณ์หน่วยงานอื่นคงไม่เหมาะ เราไม่ต้องไปวิจารณ์คนอื่น อย่างผมก็ไม่ไปวิจารณ์ป.ป.ช. และทางป.ป.ช. ก็คงไม่ต้องมาวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่คู่กรณีกัน" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้นายกฯได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ากรณีอย่างนี้ เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเอาไว้แล้ว และเห็นว่า ก.ตร.ไม่น่าจะรับอุทธรณ์ได้ เพราะถ้าดำเนินการอย่างนั้น จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายกฯ จึงได้สั่งให้ตนดูแลแก้ไขเรื่องนี้ ตนก็ได้ส่งให้ ก.ตร.กลับไปพิจารณาใหม่
เมื่อถามว่าหากก.ตร. ยังยืนยันในมติเดิม แนวทางต่อไปจะเป็นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไร ยังไม่รู้ว่า ก.ตร.จะมีมติอย่างไร อาจจะเปลี่ยนใหม่ หรือคงมติเดิมก็ได้ อยู่ที่ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร.ทั้งหลายจะว่าอย่างไร กฎหมายมีความเห็นต่างกันได้ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วการพิจารณาแต่ละเรื่องก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลในขณะนั้นด้วยว่า มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งตนได้ส่งหลักฐานทั้งหมดที่ได้รับจากนายกฯไปให้ ก.ตร.ดู ซึ่งในที่ประชุม ก.ตร.วันนั้นไม่ได้เห็นหลักฐานอย่างนี้ ก็อยู่ที่ว่าเมื่อเขาเห็นข้อมูลหลักฐานอย่างนี้แล้ว เขาจะว่ากันอย่างไร
เมื่อถามว่ากฎหมายบ้านเมืองดูเหมือนว่าจะขึ้นอยู่กับว่าใครเล็ก ใครใหญ่ รองนายกฯ กล่าวว่า กฎหมายไม่เกี่ยวกับใครเล็ก ใครใหญ่ กฎหมายก็เป็นบรรทัดฐานปกติ แต่ในระดับที่รู้ไม่ค่อยจริง ก็เถียงกันให้มากขึ้น แต่ในระดับที่สูงขึ้นไป ก็จะเถียงกันน้อยลง และมีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร ก็ต้องยุติ


นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ ก.ตร. พยายามจะมีมติรับนายตำรวจ 3 นาย ทั้งที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ว่า ในแง่กฎหมาย ก.ตร.ทราบดีว่าทำไม่ได้ จะทำได้เพียงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ โดยนายตำรวจทั้ง 3 อาจจะร้องต่อศาลปกครองได้ แต่จะไปเปลี่ยนคำวินิจฉัย ของ ป.ป.ช. จากผิดเป็นถูก หรือจากไล่ออกแล้วให้กลับมารับราชการนั้น ทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะถือว่าข้อเท็จจริงจบไปแล้ว
เรื่องนี้ก็มีบรรทัดฐาน กรณีนายวีรพล ดวงสูงเนิน อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ชี้เขตอำนาจ ป.ป.ช.ไว้แล้วว่า ข้าราชการที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยชี้มูลไล่ออก จะเอากลับมารับราชการไม่ได้ แต่แปลกที่ ก.ตร. ดื้อดึงในเรื่องนี้ ท่านนายกฯ ก็วินิจฉัยชัดเจนแล้วว่าทำไม่ได้ แต่นายสุเทพ ที่ดูแล สตช.แทนนายกฯ กลับไม่ฟัง และบ่ายเบี่ยง อ้างเป็นมติ ก.ตร. ชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ยังต้องจับตา เพราะมีขบวนการท้าทายอำนาจนายกฯ พยายามแทรกแซงงานตำรวจ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
"ผมคิดว่า ก.ตร.ชุดนี้กำลังมีเจตนาพิเศษ จงใจละเว้น และละเมิดการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะการดำเนินการลงโทษกับข้าราชการตำรวจที่ถูก ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยชี้มูลความผิด ถือเป็นการดื้อแพ่ง และท้าทายอำนาจของ ป.ป.ช. ทั้งที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นบรรทัดฐานให้กับองค์กรต่างๆ ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว"
นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า การดื้อแพ่งของ ก.ตร.นอกจากท้าทายกฎหมายแล้วยังถือเป็นการขุดศพวีรชนพันธมิตรฯ ขึ้นมาฆ่าอีกครั้ง พันธมิตรฯรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด เราจะคัดค้านทั้งช่องทางกฎหมาย และช่องทางสังคม ที่ต้องยืนหยัดหลักการ คนผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่ ก.ตร.กลับพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และอุ้มกลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากการประชุม ก.ตร.วันศุกร์นี้ ยังยืนยันมติเดิมในเบื้องต้นทางพันธมิตรฯ จะหารือกับทนายความ เพื่อดำเนินคดียื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนเอาผิด ก.ตร.ทั้งคณะ ซึ่งเชื่อว่าหาก ก.ตร.ดื้อด้าน ดันทุรัง รับรองว่าติดคุกทั้งคณะ เพราะเรื่องนี้นอกจากเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการคุกคามอำนาจ ป.ป.ช.ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ประการสำคัญ คำสัมภาษณ์ของนายสุเทพ ที่บ่ายเบี่ยงต่อความเห็นของนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชา และดื้อแพ่งต่อคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ก็เท่ากับเป็นการสารภาพผิดกลางแจ้งว่ามีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น