xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติยุคสมัยเมาแล้วขับ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

โลกทัศน์ที่เชื่อมั่นว่ายังมี ‘โลกแบบอื่นที่เป็นไปได้’ (Another World is Possible) ซึ่งปลอดภัยกว่าโลกแบบปัจจุบันที่ถนนทุกสายเสี่ยงภัยเมาแล้วขับนับเป็นหนทางสร้างสรรค์ผืนแผ่นดินไทยให้ปลอดเมาแล้วขับอันเกิดจากผู้คนมีวินัยจราจรจริงๆ นอกเหนือจากการไม่ท้อแท้ถดถอยในการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดทั้งกับผู้ใช้รถใช้ถนนและบรรษัทผลิต/นำเข้าเหล้าเบียร์

การเสนอโลกทางเลือกเรื่องเมาไม่ขับที่แตกหักกับโลกเปราะบางอันอันตรายร้ายแรงเกิดได้ทุกวินาทีที่ใช้รถใช้ถนนเพราะคนขับขี่ส่วนหนึ่งไร้สติเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์นั้นไม่เพียงสอดรับกับปฏิญญามอสโก (Moscow Declaration) ที่ผลิบานในการประชุมระดับรัฐมนตรีทั่วโลกเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 1 ว่าด้วยถึงเวลาแล้วที่จะลงมือปฏิบัติ (First Global Ministerial Conference on Road Safety: Time for Action) เท่านั้น ทว่ายังหนุนนำให้ปี ‘คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข’ ของประเทศไทยมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูงขึ้นด้วย

ด้วยวิกฤตการณ์เมาแล้วขับที่เกิดได้ทุกที่ทุกเวลาในสังคมไทยไม่อาจแก้ไขได้ด้วยแนวคิดและวิธีการแบบเดิม ‘การปฏิวัติ’ (Revolution) จึงเป็นทางเลือกที่ผู้คนคาดหวังว่าจะเป็นทางออกของยุคสมัยเมาแล้วขับได้ เพราะถึงที่สุดแล้วการถอนรากถอนโคนโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมไทยหรือเนรมิตประดิษฐ์เทคโนโลยีวิศวกรรมจราจรไม่อาจหยุดยั้งวิกฤตซ้ำซากเมาแล้วขับได้แท้จริง

เพราะการปฏิวัติยุคสมัยเมาแล้วขับที่แท้ต้องปฏิวัติโลกทัศน์ (World View) ว่าด้วยการมองโลกรู้จักโลกของคนขับขี่เสียใหม่ให้คำนึงถึงสิทธิในชีวิตทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางคนอื่นๆ เนื่องด้วยเนื้อแท้แล้ววิกฤตเมาแล้วขับที่กร่อนกัดสังคมไทยในปัจจุบันนี้มีที่มาจากรากฐานทางโลกทัศน์ที่เห็นความปลอดภัยทางถนนสำคัญน้อยกว่าความสนุกสนานรื่นเริง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งแบบไทยและสากลที่เหล้าเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ

ดังสถิติ 7 วันระวังอันตราย 29 ธันวาคม 2552-4 มกราคม 2553 ที่อุบัติเหตุ 3,534 ครั้ง คร่าชีวิต 347 คน และบาดเจ็บ (Admit) 3,827 คน เกิดจากเมาสุราสูงสุดร้อยละ 40.46 ทั้งๆ ที่ห้วงยามนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีเมาสุราแล้วถึง 11,565 ราย หรือร้อยละ 2.57 จากการดำเนินคดี 10 พฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่อนาทรต่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น 449,673 ราย ทั้งไม่มีใบขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร แซงในที่คับขัน และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ

ไม่เท่านั้นก็ยังมีชุดคำสั่งต่อเนื่องถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเรื่องข้อสั่งการในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553

ทว่าจนแล้วจนรอดสาเหตุอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ไม่พ้นเมาแล้วขับ เพราะลำพังปฏิบัติการเพียง 7 วันระวังอันตรายไม่อาจรื้อถอนโลกทัศน์ที่ไม่แยแสผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น รวมถึงชีวิตตนเองและครอบครัวเพื่อนมิตรที่สั่งสมมานานอีก 358 วันลงได้ มิพักจะเอ่ยว่าห้วงปีใหม่ก็ยังคงอนุญาตให้ขายเหล้าเบียร์ได้ตามปกติจนเรียกขานได้ว่า ‘ใครใคร่ค้าค้า ใครใครดื่มดื่ม’

ดังนั้นต่อให้ห้วงปีใหม่รณรงค์เมาไม่ขับเข้มข้น ควบคู่เข้มงวดกวดขันวินัยจราจรก็ไม่อาจทอนปรากฏการณ์เมาแล้วขับได้ ยิ่งระยะยาวยิ่งล้มเหลวถ้าไม่อาจปฏิวัติโลกทัศน์อย่างถึงรากฐานได้ เพราะท้ายที่สุดคนขับขี่ส่วนหนึ่งจะไม่เคารพสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น จนเบียดบังรังแกเมาแล้วขับเพียงเพราะตัวเองไม่คำนึงความพินาศสูญเสียของผู้อื่นที่จะตามมา

ปฏิบัติการปฏิวัติโลกทัศน์ของไทยจึงต้องตั้งต้นแต่เดี๋ยวนี้ในท่วงทำนองสอดผสานกลมกลืนกับธีมทศวรรษแห่งการลงมือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่รณรงค์ให้ปี 2011-2020 สามารถลดความสูญเสียบนท้องถนนลงให้ได้ โดยการใช้คู่มือความปลอดภัยทางถนนสำหรับผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายและผู้ปฏิบัติว่าด้วยดื่มและขับ (Drinking and Driving: a road safety manual for decision-makers and practitioners) ในการวางกรอบการทำงานเพื่อบรรลุชัยชนะเหนือเมาแล้วขับ

ประสบการณ์จากหลากประเทศที่ประสบความสำเร็จลดดื่มและขับที่อัดแน่นในคู่มือฉบับนี้จะเผยแง่มุมหลักฐานข้อมูลเบื้องหลังในการเริ่มต้นเดินหน้าโปรแกรมดื่มและขับ ฉายภาพการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนค่อยๆ คลี่คลายปัญหาไปทีละเปลาะๆ โดยการอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมผ่านแนวทางการวางแผนและติดตาม ตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่จำเป็น การรณรงค์ให้ความรู้สังคม ตลอดจนแนวการประเมินผลโปรแกรม กระทั่งบรรลุเป้าประสงค์เมาไม่ขับ

กรณีศึกษาทั่วทุกมุมโลกนี้นับเป็นแบบปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ที่ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรณรงค์ดื่มไม่ขับได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลางที่มีสภาพเศรษฐกิจคล้ายไทยทว่าตระหนักในวิกฤตเมาไม่ขับเข้มข้นกว่า รวมถึงบางประเทศที่ไม่รู้หนาวรู้ร้อนกับวิกฤตนี้นักแม้นจะมีความสูญเสียมากมายจากการมียวดยานเยอะแยะบนท้องถนน

ทั้งควรวิเคราะห์สถานการณ์เมาแล้วขับอย่างรอบคอบก่อนกำหนดแผนปฏิบัติการ จากนั้นค่อยออกแบบโปรแกรมเมาและขับ นับแต่ขั้นตอนวินิจฉัยปัญหา กำหนดวัตถุประสงค์ ออกแบบกิจกรรม กำหนดกรอบเวลา กำหนดกลไกติดตาม ตลอดจนกำหนดมาตรการประเมินผล พร้อมๆ กันนั้นก็ต้องสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อมวลชนเพื่อเปลี่ยนทัศนคติหรือโลกทัศน์ของกลุ่มเป้าหมาย กระทั่งท้ายสุดสามารถทำลายโลกทัศน์แบบเวรกรรมที่กักขังคนไทยไว้ในความเลวร้ายเมาแล้วขับ

ด้วยไทยก็เหมือนกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลางที่ไม่เพียงระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บจะเท่ากับร้อยละ 4-69 ขณะคนเดินเท้าที่ถูกรถชนจนบาดเจ็บจะเท่ากับร้อยละ 18-90 ส่วนคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับบาดเจ็บจะเท่ากับร้อยละ 10-28 หากแต่ละปียังยินดีปรีดากับรายได้มหาศาลที่เก็บได้จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังปี 2552 ที่เก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์และสุราได้ถึง 48,993.35 และ 37,981.72 ล้านบาทตามลำดับ

ทั้งๆ แท้จริงแล้วรายได้ที่เก็บจากการจำหน่ายเหล้าเบียร์ยิ่งมหาศาลยิ่งหมายถึงปริมาณผู้คนทนทุกข์ทรมานมากมาย ไม่เฉพาะผู้ที่ดื่มเข้าไปเพื่อทำร้ายสุขภาพตนเองเท่านั้น ทว่ารวมถึงผู้สูญเสียจากเมาแล้วขับ และที่ได้รับผลกระทบทางสังคมหลากหลายรูปแบบด้วย

การดึงกลุ่มผู้ผลิต/นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งซัปพลายเออร์และรีเทลเลอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมปฏิวัติยุคสมัยเมาไม่ขับจึงสำคัญเท่าๆ กับการมีผู้กำหนดและตัดสินใจเชิงนโยบาย นักการเมือง ตุลาการ ตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ บริษัทประกัน องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิจัย ครูอาจารย์ มาร่วมทีม

ด้วยถึงต่อกรกันภาคประชาสังคมก็ยากจะชนะบรรษัทเหล้าเบียร์ที่มีเครือข่ายการเมืองแนบแน่นภายใต้สังคมไทยที่ผลกระทบเศรษฐกิจสูงค่าสุด การเปลี่ยนยักษ์ใหญ่ให้เปลี่ยนจากโหมโฆษณาชวนเชื่อผ่าน CSR กลับมามีจิตสำนึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเมาแล้วขับจึงจำเป็น

นอกเหนือจากนั้นก็ต้องบูรณาการความร่วมมือกว้างขวางระหว่างราชการ เอกชน องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาสังคม ตามแบบปฏิบัติของประเทศปลอดเมาแล้วขับที่อำนาจของการไหลเวียนภายในเครือข่ายเมาไม่ขับแข็งแกร่ง และไม่กระจุกตัวอยู่ที่รัฐหรือองค์กรหนึ่งใด ไม่เท่านั้นยังต้องเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่นทว่ามีมุมมองระดับโลกโดยยึดโยงกับเครือข่ายระดับโลกเพื่อร่วมรังสรรค์โลกแบบใหม่ที่ไม่มีเมาแล้วขับขึ้นมาให้ได้เพื่อให้มนุษย์กว่าล้านชีวิตไม่แตกดับในแต่ละปี

ยุคสมัยมวลมนุษย์ทั่วโลก รวมถึงไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีเหล้าเบียร์เป็นเหตุปัจจัยสำคัญเช่นนี้มีแต่การปฏิวัติโลกทัศน์ขั้นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นเท่านั้นที่จะสลายวิกฤตเมาแล้วขับได้ ด้วยเพราะทำให้เข้าถึง ‘หัวใจเมาไม่ขับ’ ที่ตื่นตระหนักในคุณค่าชีวิตผู้อื่น

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น