รายงานพิเศษ
โดย...แสงตะวัน
การตั้งการ์ดสูงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการเดินหน้าตัด “เนื้อร้าย”ของรัฐบาลอย่าง มานิต นพอมรบดี ให้พ้นจากเก้าอี้ รมช.สาธารณสุข
แม้จะโดนมานิตและพลพรรคภูมิใจไทย ทั้งชวรัตน์ ชาญวีรกูล หน.พรรคภูมิใจไทย-เนวิน และชัย ชิดชอบ–สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ออกจากออกมาปกป้องและโดดอุ้มมานิต สุดตัว
โดยไม่สนใจกระแสสังคมที่ต้องการให้ มานิต สร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ตามรอย วิทยา แก้วภราดัย ที่ลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ไปนานร่วมอาทิตย์แล้ว
แกนนำภูมิใจไทยยังพยายามฮุกลำตัวอภิสิทธิ์ ให้การ์ดตกลง โดยเฉพาะการไม่สนใจ “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของอภิสิทธิ์ ที่ข้อหนึ่งระบุ ให้ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย เป็นเพียงกฎเหล็กของประชาธิปัตย์พรรคเดียว พรรคร่วมรัฐบาลไม่จำเป็นต้องยึดถือและปฏิบัติ
ท่าทีเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการตบหน้าอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลจนหน้าชา
เป็นแบบนี้ หากอภิสิทธิ์ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับมานิต ภาวะผู้นำและบารมีการเมืองของอภิสิทธิ์ ก็ป่นปี้ไม่มีเหลือ
จะเป็นการตอกย้ำความเป็นจริงตามสมญานาม “หล่อหลักลอย” ที่ได้รับจากสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล และย่อมกลายเป็น “เด็กอมมือทางการเมือง” ให้พรรคร่วมรัฐบาลมองเป็นหัวหลักหัวตอ ที่ไม่ต้องเคารพยำเกรงเท่านั้น หลังจากกดดันและบีบมานิต ทุกรูปแบบให้ทิ้งเก้าอี้ แต่ไม่สำเร็จ
ดังนั้น สภาพที่เห็น อาการมันชัดว่าศึก”งัดข้อ” กันของอภิสิทธิ์ กับมานิต ต้องจบโดยเร็วที่สุดและไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น
อภิสิทธิ์ต้อง “เขี่ยมานิต” ออกจากครม.สถานเดียว ไม่ใช่ปล่อยให้นั่งทับขี้อีก 30 วัน
อย่างไรก็ตาม วงในบอกว่า อภิสิทธิ์ ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าไม่ปล่อยให้มานิต คนเดียวทำรัฐบาลพังทั้งคณะ หลังให้เวลากับมานิตมาเกือบ 10 วัน เพื่อพิจารณาตัวเอง แต่เมื่อภูมิใจไทย จับมือชนกับอภิสิทธิ์ทั้งพรรค ถึงขั้นออกเป็นมติพรรคอุ้มมานิตไม่ยอมให้ทั้งปลด และเปลี่ยน มันจึงเป็นไฟต์บังคับ ที่อภิสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการต้องโชว์ความเด็ดขาดในฐานะหัวหน้ารัฐบาลด้วยการ
“ปลด” ให้พ้นจากรัฐบาล โดยเร็วที่สุด ในระหว่างมานิต ลาพักร้อน 30 วัน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่มานิต จะกลายเป็นอดีตรมช.สาธารณสุข ภายในไม่เกินสุดสัปดาห์นี้ !
เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ถูกปรามาสมาตลอดว่า ยอมให้ “เนวิน” และภูมิใจไทย ขี่คอมาตลอดเกือบทุกเรื่อง จนทำเอาอภิสิทธิ์เสียหลักเดินแทบไม่เป็นไปหลายงาน
โดยเฉพาะที่เสียหายมากที่สุดก็คือ การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อภิสิทธิ์ไม่สามารถผลักดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เข้ารับตำแหน่ง ผบ.ตร. ตัวจริงได้จนถึงขณะนี้ ก็เพราะถูกกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) สายพรรคเสื้อน้ำเงิน นำโดย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เดินเกมล็อบบี้ ก.ต.ช. คนอื่นเพื่อแทคทีมขวางอภิสิทธิ์ เต็บสูบ
จนทำให้อภิสิทธิ์ เสียหายอย่างหนักที่เป็นถึงผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร และเป็นประธาน ก.ต.ช. แต่กับแค่เก้าอี้ ผบ.ตร. ตำแหน่งเดียว กลับไม่สามารถแต่งตั้งได้
ไม่นับรวมกับการต่อรองการเมืองสารพัดเรื่องของเนวิน และภูมิใจไทย ที่ทำเอาแกนนำ และส.ส.ปชป.หลายคน บ่นอึดอัดและออกปากไล่มาแล้วหลายรอบ ทั้งการจัดสรรผลักดันงบประมาณ และโครงการต่างๆ ที่มีงบประมาณจำนวนมาก และหลายเรื่องถูกมองว่ามีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส มักจะไปกระจุกตัวในหน่วยงานความรับผิดชอบของคนจากพรรคภูมิใจไทยเช่น คมนาคม พาณิชย์ มหาดไทย
รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายแห่ง ที่มักมีข่าว คนจากพรรคเสื้อน้ำเงินขอมีส่วนร่วมทุกครั้ง อย่างล่าสุดที่กำลังเป็นปัญหาก็คือ การที่ภูมิใจไทย พยายามต่อรองกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาล และประธานก.ตร. เพื่อขอมี”เอี่ยว” ในการจัดสรรตำแหน่งสีกากีทั่วประเทศ ในโผโยกย้ายระดับรองผู้บังคับการ-ผู้กำกับการ-สารวัตรทั่วประเทศ ที่เลื่อนมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2552
บนกระแสข่าวจะมีการแลกเปลี่ยนต่อรองกันโดยภูมิใจไทยนำ ตำแหน่งนายอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้ผ่านไปเกือบสี่เดือน ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งมาเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งเรื่องนี้แกนนำและส.ส.ปชป.หลายคน ก็เคยนำไปพูดคุยกันจนอาจได้ยินถึงหูอภิสิทธิ์ว่า ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริหารงานในหลายอำเภอทั่วประเทศ ที่ไม่มีนายอำเภอตัวจริงปฏิบัติหน้าที่
ด้วยเหตุฉะนี้ หากอภิสิทธิ์ ปล่อยให้ภูมิใจไทยคอยข่มตลอดไปโดยไม่ยอมดำเนินการใดๆ กับมานิต โดยปล่อยให้รัฐมนตรีซึ่งมีข้อครหาเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั่งอยู่ในรัฐบาลต่อไป นอกจากบารมีการเมืองของอภิสิทธิ์ จะต้องถูกบดบังและเลือนหายไปเรื่อยๆ แล้ว มันยังส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย ที่จะทำอะไรก็ติดเงื่อนไขต่อรองการเมืองไปทุกเรื่อง
แบบนี้อภิสิทธิ์เสียหายหมดทุกทาง ผลงานไม่มี บารมีไม่เกิด ข้อกล่าวหารัฐบาลทุจริตพอกพูน
ทางออกสถานเดียวก็คือ ต้องชนกับภูมิใจไทย ด้วยการปลดมานิต แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก แม้ล่าสุด ชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคประกาศกร้าว
“เรื่องภายในพรรคภูมิใจไทย นายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่จะมาก้าวก่ายไม่ได้ หากจะปรับอะไร ก็ต้องมาคุยกันก่อน”
ยกเว้นแต่จะมีการต่อรองการเมืองกันของแกนนำพรรคภูมิใจไทย กับอภิสิทธิ์ ในช่วงก่อนอภิสิทธิ์ จะลงนามตามขั้นตอนกฎหมาย บนเงื่อนไขที่แกนนำถูมิใจไทย ไม่ต้องการให้มานิต ซึ่งถือว่าเป็นขุนพลเลือกตั้งภาคกลาง และนายทุนใหญ่ของภูมิใจไทย เสียหน้า ที่ต้องพ้นเก้าอี้แบบมีชนักติดหลังในข้อหาทุจริต ก็อาจเป็นไปได้ที่ทางออกของปัญหานี้จะพลิกผันอีกครั้ง
โดยทั้งมานิต และสมศักดิ์ เทพสุทิน ต้อง “กลืนเลือด” แล้วเก็บหนี้แค้น ไว้ทวงคืนกันทีหลัง
เพราะล่าสุด ก็มีข่าวว่าสุเทพ ต่อสายเคลียร์กับเนวินเรียบร้อยแล้ว และเนวินก็ไม่ขัดข้อง เพราะประเมินแล้วคงยากที่จะอุ้มมานิตต่อไปได้ และผลเสียจะเกิดกับพรรคภูมิใจไทย ในระยะยาว ได้ไม่คุ้มเสีย
เพียงแต่หน้าฉากเนวิน ก็ต้องแสดงตัวว่ายืนฝั่งเดียวกับ สมศักดิ์-มานิต เพื่อไม่ให้ภาพออกมาว่าภูมิใจไทยลอยแพ มานิต และท่าทีดังกล่าวสมศักดิ์ ซึ่งมีกำลังอยู่ในภูมิใจไทยแค่ไม่กี่คน ก็รู้แล้วว่า เนวินกำลังตีสองหน้า ก็พยายามพลิกสถานการณ์อยู่ เพื่อไม่ให้กลุ่มตัวเองเพลี่ยงพล้ำ
ถ้าสุดท้ายบทสรุป ทางออกในการจัดการกับมานิต ออกมาแบบนี้ เสถียรภาพรัฐบาลช่วงแรกอาจมีปัญหาไม่มาก จากการขบเหลี่ยมหักหน้ากันของสองพรรคแกนนำรัฐบาล แต่อภิสิทธิ์ยังพอประคองตัวไปได้ เพราะเงื่อนไขการเมืองไม่เปิดกว้างให้ เนวิน-ภูมิใจไทย ถอนยวง หรือแตกหักจนอยู่ร่วมกันไม่ได้
แต่ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลจะเริ่มหนัก เมื่อมีการเปิดประชุมสภาฯในช่วงปลายเดือนม.ค.-พ.ค. ที่พรรคร่วมจะใช้โอกาสนี้มาเอาคืนอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่อำนาจการต่อรองจะกลับมาอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลยามเมื่ออภิสิทธิ์ถูกเพื่อไทย ยื่นซักฟอก!
ร้าวลึก ปชป.-ภท.รอบนี้ แม้จะไม่ถึงขั้นแยกทางกันเดิน แต่ก็เห็นแล้วว่า มองหน้ากันไม่สนิทใจเหมือนเดิมแล้ว