xs
xsm
sm
md
lg

ชะลอโปรเจกต์ยักษ์ฝั่งลาว-สะพานโขง 4 ผ่ากลาง “ทุนไทย-เกาหลี”ช้ำรอ สปป.ลาว ช่วยซับน้ำตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สิชา สิงห์สมบุญ
เชียงราย – ทุนไทย/เกาหลี ในลาว หมดทางเลี่ยง หลังทางหลวงไทย เดินหน้าเปิดประมูลสร้างสะพานข้ามโขง 4 ผ่ากลางพื้นที่สัมปทานฝั่งลาว กระทบแผนลงทุน 1,320 ล้าน สุดท้ายต้องชะลอโปรเจกต์ใหญ่บางส่วน รอ สปป.ลาว ช่วยซับน้ำตาให้

ขณะที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ของไทยเปิดประมูลโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 โดยยึดแนวถนนเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทาง R3a ฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว วานนี้(7ม.ค.) ตามแปลนเดิมที่ตัดผ่านพื้นที่สัมปทานโครงการนาคราชนคร ของบริษัท เอเอซี กรีนซิตี้ จำกัด บริษัทร่วมทุนไทย-เกาหลีใต้ ที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ 1,200 ไร่ จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ระยะเวลา 40 ปี (ต่ออายุได้อีก 40 ปี รวมเป็น 80 ปี) ตามที่ได้แจ้งต่อกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ของ สปป.ลาว ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม2552 นั้น

ดร.สิชา สิงห์สมบุญ ประธานบริษัท เอเอซีฯ กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า เป็นที่น่าเสียใจที่กรมทางหลวงของไทย ไม่ได้ตอบสนองต่อการลงทุนของกลุ่มทุนไทยในต่างแดน และไม่กังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งที่ตามหลักแล้วไม่จำเป็นต้องเร่งรัดโครงการมากถึงขนาดนี้ หรือหากเร่งรัดก็สามารถปรับแบบแปลนเพียงเล็กน้อย ซึ่งบริษัทยินดีร่วมมือกับคณะวิศวกรของกรมทางหลวง หรือบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่จะไม่กระทบกับแบบแปลนเดิมเลย

ดร.สิชา บอกว่า การที่กรมทางหลวงของไทย เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างตามแปลนเดิม ทำให้รัฐบาล สปป.ลาว กังวลเช่นกัน เพราะได้ให้สัมปทานพื้นที่แก่บริษัทตั้งแต่กลางปี 2550 และระยะที่ผ่านมาบริษัทก็ลงทุนปรับพื้นที่ สร้างถนน โรงแรม รีสอร์ต พื้นที่ทางการเกษตร ฯลฯ ไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท จากเป้าหมายลงทุนทั้งหมด 1,320 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนยังสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่บางโปรเจกต์อาจต้องชะลอดูก่อน เช่น โรงแรม 5 ดาว ขนาด 120 ห้องพร้อม ห้องเอนเตอร์เทนเมนต์ ยังทำต่อได้ เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งน่าจะเปิดได้ทันต้นปี 2554

โครงการอื่น ๆ โดยเฉพาะสนามกอล์ฟ 18 หลุม รีสอร์ต ฯลฯ คงจะได้รับผลกระทบจากแนวถนน – อาคารด่านพรมแดนตามแปลนของกรมทางหลวงไทย เต็มที่ เพราะก่อสร้างผ่าเข้าพื้นที่ก่อสร้างเป็นเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ แต่กรมทางหลวงขอใช้พื้นที่เพิ่มเติมเป็น 120 ไร่ เป็นต้น

เธอบอกว่า แม้บริษัทยังสามารถเดินหน้าโครงการบางส่วนต่อได้ในระดับหนึ่ง แปลนก่อสร้างของกรมทางหลวงไทย ก็ส่งผลกระทบกับแผนงานเดิมของบริษัท ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่โดยเน้นความเป็นธรรมชาติ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

นอกจากนี้บริษัทอาจจะต้องชะลอแผนความร่วมมือกับกลุ่มพีค็อกจากมณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้หารือเบื้องต้นเรื่องเข้ามาลงทุนด้านลอจิสติกส์ ห้องเย็น การขนส่งทางเรือ ฯลฯ ผ่านพื้นที่ของบริษัท เชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังของไทยก่อน เพราะขณะนี้ยังมองภาพไม่ออกว่า จะร่วมลงทุนกันอย่างไร เมื่อพื้นที่สัมปทานได้รับผลกระทบจากแนวถนนเช่นนี้

ประธานบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามบริษัทคาดหวังว่าจะได้รับการดูแลจากรัฐบาล สปป.ลาว ที่จะช่วยดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งทราบว่าทางผู้ใหญ่ของลาวได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยดูแลเบื้องต้นแล้ว

“บริษัทยืนยันว่าจนถึงวัน นี้เรายังพร้อมหารือกับคณะวิศวกรของกรมทางหลวง ด้วยการแก้ไขแบบแปลนเพียงแค่เล็กน้อยด้วยการสร้างถนนอ้อมไปทางด้านหลังที่ดินสัมปทานของบริษัท ซึ่งระยะทางจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 กิโลเมตร(กม.)หรือเพิ่มขึ้นแค่ 500 เมตร จากแปลนของกรมทางหลวงไทย ที่ออกแบบถนนตัดผ่านโครงการ 6.3 กม.”

ดร.สิชา บอกอีกว่า อย่างไรก็ตามบริษัทก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ประจำนครเวียงจันทน์ ที่ช่วยประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ให้แก่บริษัทซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทยที่กล้าเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งเราถือเป็นกลุ่มทุนไทยที่กล้าเข้าไปลงทุนและสามารถยึดหัวหาดพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มทุนจีนกำลังรุกหนักทั้งด้านสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน ซึ่งมีโครงการก่อสร้างใหญ่โต หรือการพัฒนาตามแนวชายแดนมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ กับเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว บนถนน R3a ซึ่งน่าเสียดายว่าประเทศจีนเขาให้การสนับสนุนกลุ่มทุนจีนในการขยายการลงทุนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับประเทศไทยนอกจากจะไม่สนับสนุนยังทำให้การลงทุนได้รับผลกระทบอีก

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย ดังกล่าวกรมทางหลวง ได้กำหนดให้มีการเปิดซองประมูล เพื่อจัดหาเอกชนในการรับเหมาก่อสร้างสะพานในวันที่ 7 มกราคม2553 รวมทั้งการสร้างถนนเชื่อมสะพานและอาคารด่านพรมแดนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว กำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลา 30 เดือน ตั้งแต่ปี 2553-2555

ส่วนบริษัทเอเอซี กรีน ซิตี้ ลาว จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่างเอกชนไทย 80% และเกาหลีใต้ 20% บริหารโดยเอกชนซึ่งเคยเข้าไปลงทุนในกิจการธนาคารใน สปป.ลาว มาอย่างยาวนานกว่า 36 ปี โดยสามารถจัดตั้งธนาคารร่วมพัฒนาซึ่งมีสาขาอยู่ที่นครเวียงจันทน์ และเป็นเจ้าแรกที่เปิดให้บริการวีซ่ามาสเตอร์การ์ดใน สปป.ลาว
กำลังโหลดความคิดเห็น