xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเกณฑ์อนุมัติไอพีโอ ก.ล.ต.โยนนักลงทุนตัดสินเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ก.ล.ต.เตรียมปรับปรุงเกณฑ์การอนุญาตออกเสนอขายหุ้นใหม่ หวังกระตุ้นเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพิ่ม ยกเลิกการเข้าไปดูการประกอบธุรกิจของบริษัท โดยโยกทิศทางแนวโน้มและความเสี่ยงระยะยาวของธุรกิจให้นักลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจเอง จากเดิมเข้มงวดจัดหากพบมีความเสี่ยงจะไม่อนุญาตให้กระจายหุ้น พร้อมจี้บริษัทยื่นข้อมูลไฟลิ่งต้องครบถ้วน90%ก่อน เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน และลดระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลเป็น 14 วัน จากเดิม 1 เดือน คาดทั้ง 2 หลักเกณฑ์ผ่านการเฮียร์ริ่ง และอนุมัติใช้ได้ภายในปีนี้

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.มีแนวคิดปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ 2 ส่วน เพื่อสนับสนุนให้มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai)ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนักลงทุนจะได้มีข้อมูลมากเพียงพอต่อประกอบการตัดสินในการระดมทุน แบ่งเป็น การปรับปรุงเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายหลักทรัพย์ โดยก.ล.ต.จะไม่เข้าไปดูในเรื่องการประกอบธุรกิจของบริษัท แต่จะให้บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและความเสี่ยงในการทำธุรกิจให้ครบถ้วน ซึ่งจะให้นักลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเข้าไปลงทุนในบริษัทดังกล่าวหรือไม่

สำหรับเกณฑ์การอนุญาตฯปัจจุบันของก.ล.ต. นั้นจะกำหนดว่าบริษัทที่จะมาขออนุญาตฯ จะต้องไม่มีเหตุอันควรสงสัยในการประกอบธุรกิจระยะยาว เช่น บริษัทมีความเสี่ยงจากที่อยู่ระหว่างการการถูกฟ้องร้องคดีในศาล ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทนั้นมีความเสี่ยงที่สูงมาก ซึ่งอาจจะกำไรหรือไม่กำไรก็ได้ในอนาคต โดยหาก ก.ล.ต.ว่าบริษัทมีความเสี่ยงดังกล่าวจะไม่อนญาตให้ออกและเสนอขายหุ้น จากการการทบทวนเกณฑ์ดังกล่าวนั้นมองว่าก.ล.ต.ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินว่าบริษัทใดมีความเสี่ยงการประกอบธุรกิจ แต่ควรจะให้นักลงทุนพิจารณาเอง เพราะ ในการลงทุนนั้นจะมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่ให้ผลตอบแทนที่สูง (ไฮด์ลิสต์ไฮด์รีเทิร์น)อยู่

ทั้งนี้การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้น ไม่ถูกปิดกั้น แต่เกณฑ์การอนุญาตในส่วนของการกำกับกิจการที่ดีและเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหารนั้นก.ล.ต.ยังคงใช้เกณฑ์การพิจารณาเหมือนเดิม โดยจะมีการสำรวจความคิดเห็น(เฮียร์ริ่ง)กับผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณกลางปีนี้
และคาดว่าจะประกาศออกมาได้ประมาณปลายปี2553 ซึ่งก.ล.ต.จะให้เวลาผู้ที่เกี่ยวข้องมีการปรับตัวประมาณ 1 ปี นับจากวันที่มีการประกาศใช้ จึงจะมีผลบังคับใช้

“เกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหุ้นของก.ล.ต.นั้นมีเกณฑ์อนุญาต 10 ข้อ ซึ่งแยกออกเป็น2 ส่วน คือ เกณฑ์ในเรื่องการประกอบธุรกิจ เพราะเดิมนั้นบริษัทที่จะขายหุ้นไอพีโอได้จะต้องไม่มีเหตุอันควรสงสัยในการประกอบธุรกิจระยะยาว ถึงจะอนุญาตให้เข้ามระดมทุนได้ ซึ่งก.ล.ต.มีแนวคิดว่าเราจะไม่ดูในเรื่องดังกล่าวแต่จะให้บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลและความเสี่ยงให้ครบถ้วนโดยให้นักลงทุนตัดสินใจเอง แต่เกณฑ์ในเรื่องการกำกับกิจการที่ดีและผู้บริหารบริษัทนั้นก.ล.ต.ยังดูอยู่เหมือนเดิม” นางณัฐญา กล่าว

นางณัฐญา กล่าวว่า ก.ล.ต.จะมีการปรับปรุงเกณฑ์การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง)เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่จะยื่นไฟลิ่งได้จะต้องมีข้อมูลครบถ้วนถึง 90%ก่อน จากเดิมที่บริษัทจะยื่นไฟลิ่งนั้นมีข้อมูลไม่มากพอก็สามารถที่จะยื่นไฟลิ่งได้ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการเปิดข้อมูลไฟลิ่งลดลงเหลือ 14 วัน จาก 30 วัน ทำให้บริษัทมีการเสนอขายหุ้นได้รวดเร็วขึ้น แต่ระยะเวลาการอนุญาตเสนอขายหุ้นของก.ล.ต.นั้นยังคง 45 วันเหมือนเดิม และก.ล.ต.จะมีการเปิดเผยข้อมูลที่ก.ล.ต.มีข้อสงสัยและมีการสอบถามไปยังที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อให้มีการชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทที่จะเข้ามาขออนุญาตในประเด็นต่างๆ

ทั้งนี้พื่อให้นักลงทุนได้ทราบและเข้าไปอ่านข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจในการลงทุน เพราะ รายละเอียดในข้อมูลไฟลิ่งนั้นนักลงทุนอาจจะเข้าไปดูข้อมูลไม่ครบถ้วนทุกประเด็น ซึ่งก.ล.ต.จะมีการเฮียร์ริ่งการปรับปรุงเกณฑ์ยื่นไฟลิ่ง ไตรมาส1/53 และคาดว่าจะประกาศเกณฑ์ดังกล่าวออกมาได้ประมาณไตรมาส2/53 หรือไตรมาส3/53 ซึ่งก.ล.ต.จะให้ระยะเวลาผู้ที่เกี่ยวข้องมีการปรับประมาณ 6 เดือนถึงจะมีการบังคับใช้จริง

“ในปีนี้ก.ล.ต.มีแนวคิดปรับปรุงเกณฑ์การออกเสนอขายหลักทรัพย์ โดยจะให้บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น (Much More Discloser Base) แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การยื่นแบบไฟลิ่ง และ การอนุญาตการออกเสนอขายหุ้น ”
นางณัฐญา กล่าว
ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์การออกตราสารศุกูก และหลักเกณฑ์ของทรัสตีสำหรับการออกตราสารศุกูก เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ผู้ระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงช่วยขยายฐานผู้ลงทุนไปยังกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับกองทุนรวมอิสลามของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ 8 มกราคม 2553 ทั้งนี้ ก.ล.ต. อนุญาตให้ผู้ระดมทุน หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่ผู้ระดมทุนจัดตั้งขึ้นเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เป็นทรัสตี เพื่อการออกตราสารศุกูก (asset trustee) โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการอนุญาต ซึ่งผลตอบแทนของตราสารจะเกิดจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและรับความเสี่ยงร่วมกัน ที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยและสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ โดยสินทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงการทำธุรกรรมต้องสอดคล้องกับหลักชาริอะฮ์หรือหลักศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารศุกูกเป็นไปในแนวทางเดียวกับการเสนอขายตราสารหนี้ เนื่องจากตราสารศุกูกมีความเสี่ยงเทียบเคียงกับตราสารหนี้ แต่มีข้อกำหนดในบางเรื่องที่แตกต่างกัน อาทิ เพิ่มประเภทผู้ออกและเสนอขายตราสารศุกูก โดยอาจเป็นนิติบุคคลที่กฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นก็ได้ ส่วนในเรื่องลักษณะการเสนอขายตราสาร จะไม่สามารถเสนอขายต่อเจ้าหนี้ตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เหมือนกับการเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไป

ขณะเดียวกัน นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานก.ล.ต.กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการยกระดับให้ที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้น และเพื่อลดระยะเวลาการพิจารณาแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ให้รวดเร็ว จึงได้ให้ทางสมาคมวาณิชธนกิจร่วมกันกำหนดแนวทางการทำงานและจรรยาบรรณของวาณิชธนกิจ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2553 และจะเริ่มใช้ในปี 2554

สำหรับแนวทางที่จะเปิดให้ที่ปรึกษาการเงินเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มตัวและไม่ต้องให้ ก.ล.ต.เข้ามาตรวจสอบเหมือนปัจจุบันนั้น จะใช้หลักการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น (Must More Discloser Base) ซึ่งตัวบริษัทจะต้องมีความพร้อมของข้อมูลไฟลิ่งถึง 90% แล้ว จึงจะยื่นให้ ก.ล.ต.พิจารณา โดยในส่วนของ ก.ล.ต
.จะเข้าไปตรวจสอบพิจารณาข้อมูลในแต่ละประเด็นที่สำคัญ เพื่อเตือนนักลงทุนพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ อย่างระมัดระวังเพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญของบริษัท ซึ่งจะแตกต่างจากปัจจุบันที่การยื่นไฟลิ่งของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนพบว่านักลงทุนไม่ได้เข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกของบริษัทดังกล่าว
แต่ยังมีบางประเด็นที่ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่เห็นร่วมกันเกี่ยวกับการจำกัดคำนิยามการให้ที่ปรึกษาการเงินเป็นผู้สนับสนุน ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน (Discloser Base) เนื่องจากลักษณะดังกล่าวทาง ก.ล.ต.คิดว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล และควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินในการเข้ามาดูแลจนถึงกระบวนการเข้าตลาดหุ้นแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีที่ปรึกษาทางการเงินรายไหนพร้อมที่จะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ และยังต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น