xs
xsm
sm
md
lg

ดึงกฤษฎีกาถก หาช่องกฎหมาย ตั้งองค์กรอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- คณะกรรมการ 4 ฝ่ายถกอีกรอบ 6 ม.ค.นี้เตรียมหารือร่วมกับผู้แทนกฤษฎีกาเพื่อหาช่องกฎหมายตั้งองค์กรอิสระ หลังมีข้อสังเกตตั้งเป็นนิติบุคคลออกประกาศสำนักนายกฯไม่ได้ เล็งหาช่องไม่ตั้งเป็นนิติบุคคลและใช้วิธีฝากงบประมาณไว้กับหน่วยงานราชการแทน

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานเปิดเผยว่า วันที่ 6 มกราคมนี้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะหาข้อสรุปถึงแนวทางการจัดตั้งองค์กรอิสระโดยการเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็นเนื่องจากล่าสุดพบว่าหากจัดตั้งด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอาจขัดต่อระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ. 2534

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการจัดประเภทกิจการรุนแรงนั้นคณะอนุกรรมการ ที่มีนายธงไชย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธานจะมีการหารือเพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความเห็นในช่วงเช้าวันที่ 6 ม.ค.ก่อนที่จะประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะได้รายละเอียดทั้งหมด

นายสุทธิ อัฌาชาศัย กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกล่าวว่า การหารือครั้งนี้ได้ยกยอดจะไปหาทางออกถึงการแก้ไขการจัดตั้งองค์กรอิสระในวันที่ 6 ม.ค. เนื่องจากมีข้อสังเกตุจากกฤษฎีกาถึงการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เป็นนิติบุคคลและมีองค์กรย่อยที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติแต่กระบวนการทั้งหมดจะล่าช้ากว่าการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังนั้นจึงต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้การจัดตั้งเกิดปัญหาในอนาคต

สำหรับแนวทางการจัดตั้งองค์กรอิสระหลักการเห็นพ้องกันว่า จะเป็นองค์กรระดับชาติองค์กรเดียวแล้วมีองค์ประกอบด้วยองค์กรอิสระย่อยเพื่อเสนอความเห็นประกอบต่อองค์กรอิสระใหญ่คล้ายกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีคณะทำงานจำนวนมากมาประกอบความเห็นซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะลดปัญหาการผูกขาด

“คณะทำงาน 4 ฝ่ายทำงานถึงวันนี้เราไม่คิดประเมินผลงานตนเองแต่ถึงจุดนี้เราถือว่าได้ทำตามรัฐธรรมนูญไประดับหนึ่งแล้วจึงมองว่าระยะเวลา 6 เดือนทั้งหมดที่เราวางไว้คงจะบรรลุเป้าหมายกรรมการ 4 ฝ่ายถึงเวลานั้นก็คงจะหมดหน้าที่”นายสุทธิกล่าว

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า การหารือถึงการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระมีความเห็นห่วงในแง่การตั้งเป็นนิติบุคคลและการจัดสรงบประมาณในส่วนที่ไม่เป็นนิติบุคคลไม่ได้ ดังนั้นจึงจะสรุปกันอีกครั้งวันที่ 6 ม.ค.เพื่อหาทางออกซึ่งเบื้องต้นอาจไม่จำเป็นที่จะตั้งเป็นนิติบุคคลชั่วคราวเพื่อให้มีทางออกของปัญหา ส่วนงบประมาณอาจใช้วิธีฝากไว้กับหน่วยงานรัฐเช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการตั้งให้เป็นฝ่ายเลขานุการ

**มององค์กรอิสระอาจผูกขาด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรอิสระนั้นเอกชนเห็นว่าประเภทกิจการนั้นมีจำนวนมากหากองค์กรอิสระมีเพียงองค์กรเดียวให้ความเห็นจะเป็นการผูกขาดหรือชี้นำได้แม้จะมีองค์กรย่อยๆ เข้ามาประกอบก็ตาม ขณะที่ต่างประเทศนั้นกิจการประเภทรุนแรงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ขั้นแรก ก็จะทราบอยู่แล้ว ซึ่งจะมีในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาประกอบเพราะหากกิจการนั้นรุนแรงถ้ามีเทคโนโลยีแก้ไขได้ก็จบ

**มองขั้นตอนเกิน 6 เดือนรอลุ้นศาลฯ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า การจัดทำรายงาน EIA และสุขภาพ (HIA) หลักเกณฑ์ที่ออกมาแล้วมองว่าจะใช้เวลาเกิน 6 เดือนเนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติไม่แน่ใจว่าจะติดขัดอะไรอีกหรือไม่เพราะเพิ่งเริ่มทำครั้งแรก ดังนั้นระหว่างนี้เอกชนคงทยอยยื่นศาลปกครองกลางในสัปดาห์นี้เพื่อขอให้คุ้มครองคำสั่งระงับกิจการชั่วคราวเพื่อให้กิจการ 64 โครงการเดินหน้าได้ต่อไปโดยเชื่อว่ากลุ่มปตท.จะมีโอกาสยื่นมากที่สุด

“ ทุกกิจการคงจะพยายามยื่นศาลฯเพื่อให้โครงการเดินหน้าโดยเฉพาะกิจการที่ก่อสร้างอยู่และก่อสร้างเสร็จแล้วเพราะหากหยุดยาวจะกระทบมากเพราะเชื่อว่าทุกโครงการไม่ต้องการหยุดการดำเนินการ”นายพยุงศักดิ์กล่าว

**กนอ.เตรียมตั้งคณะทำงานดูแล

นายวีระพงษ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าการกนอ.อยู่ระหว่างตั้งทีมในรูปแบบของคณะทำงานประสานการดำเนินตามมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อดูแลรับผิดชอบงาน 2 ส่วน คือ 1.ระหว่างที่เอกชนทำHIA นั้น กนอ.จะช่วยดูว่าขั้นตอนไหนที่ซ้ำซ้อนกันสามารถตัดทิ้งได้ 2.ประสานกับผู้ว่ากนอ.ในออกใบอนุญาตประกอบการกิจการ หลังจากคณะทำงานผู้ชำนาญการให้ความเห็น จะส่งให้กนอ.ดูขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นพร้อมกันกับการให้ความเห็นขององค์การอิสระ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น และสุดท้ายกนอ.จะเป็นผู้อนุมัติอนุญาต ทั้งนี้คาดว่าคณะทำงานของกนอ.ชุดนี้จะตั้งเสร็จได้ภายใน 1 สัปดาห์เพื่อเริ่มทำงานทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น