xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯเก็งจีดีพีโต2.5-3.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ปีหน้าขยายตัวได้ 2.5-3.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 3 เรื่อง "เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้น-ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์-ปัจจัยภายในประเ ทศของไทย" ขณะที่ค่าเงินบาทปีหน้าแข็งค่าขึ้นแตะ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปลายปีนี้คาดอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบโต 4.2% จากปีนี้ติดลบ 0.6%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2552 ได้เป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 แล้ว จากที่ไตรมาส 2 ของปีนี้จีดีพีของไทยขยายตัวประมาณ 2.2% ขณะที่ไตรมาส 3 ขยายตัวประมาณ 1.3% ส่วนไตรมาส 4 ก็คาดว่าตัวเลขจีดีพีจะขยายตัวเป็นบวกอย่างแน่นอนแต่เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ดังนั้น ตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีทั้งปีนี้ก็จะยังติดลบอยู่ที่ 3.1% ตามที่เคยประมาณการณ์ไว้

ส่วนการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 นั้น บริษัทได้การประมาณการว่าตัวเลขจีดีพีน่าจะขยายตัวประมาณ 2.5-3.5% โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งปัจจัยบวกที่คาดว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าคือ สภาพคล่องทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรวมถึงรัฐบาลหลายๆประเทศทั่วโลก

"ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยยอดขายบ้านเก่าของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 44.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดบ้านรอปิดการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ส่วนราคาบ้านในสหรัฐฯก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และจำนวนบ้านค้างขายลดลงเหลือประมาณ 7 เดือนของยอดขายปกติเทียบกับที่เคยอยู่ที่ 10.2 เดือนในปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังการใช้จ่ายของคนในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯดีขึ้นเช่นกัน"นายเชาว์ กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบและกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ดังนี้ 1.เรื่องของการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าอาจจะปรับสูงขึ้นกว่าในปี 2552 เพราะเงินในระบบจะมีมากขึ้น 2.สัญญาณภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น 3.อันดับความน่าเชื่อถือของบางประเทศที่ปรับลดลง อาจจะถูกปรับลดลง และ 4.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองของไทยรวมถึงปัญหาที่กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะปัญหามาบตาพุด

ส่วนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ก็คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทของไทยในต้นปีหน้าน่าจะมีการแข็งค่าขึ้นแตะที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปีนี้ที่คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเชื่อว่าค่าเงินบาทในปีหน้าน่าจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ประกอบการที่ส่งออกไปยังต่างประเทศคงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าไทยก็จะยังสามารถแข่งขันกับประเทศเวียดนามได้ เนื่องจากเชื่อว่าค่าเงินด่องยังคงอ่อนค่าลง

นายเชาว์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้าจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าทั้งปีอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.75% ทั้งนี้การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วในไตรมาส 3 ถึงแม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีก่อน เนื่องจากเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาภาวะฟองสบู่แตกหลังราคาอสังหาฯในบางประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ส่วนนางสาวพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะฟื้นตัวดีขึ้นเชื่อว่าจะส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบน่าจะเติบโตประมาณ 4.2% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวมไปถึงการปล่อยกู้ในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลด้วย จากยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งปีนี้ที่ติดลบ 0.6% หรือคิดเป็นเม็ดเงินการปล่อยใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขการเติบโตสินเชื่อจะไม่มากเท่ากับ 5 ปีที่ผ่านมาที่กรอบการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 7.8% ตามทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก
กำลังโหลดความคิดเห็น