xs
xsm
sm
md
lg

เกมแก้รธน.เข้าทางแม้ว หวั่นพรรคร่วมแตก-ยันต้องประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น คือมาตรา 190 และ เรื่องเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว หากไม่ดำเนินการ จะไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยทันทีว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้พบกับนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ได้พูดแนวทาง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
ส่วนที่พรรคเพื่อแผ่นดินระบุว่า หากเสนอสู่สภาฯ พรรคร่วมต้องไปในทิศทางเดียวกัน มิฉะนั้นจะแตกกันนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่ได้เสนอในนามรัฐบาล และเรื่องนี้ยังมีเวลาที่จะมาพูดคุยกัน
ส่วนที่มองกันว่า เรื่องนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาสำหรับรัฐบาลและพรรคร่วมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่ ที่สุดทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาลต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองสามารถเดินไปข้างหน้าได้ หากทำอะไรแล้วไปกระทบ ทำให้เกิดความขัดแย้งความวุ่นวายขึ้น ก็คงไม่เป็นประโยชน์กับใครทั้งสิ้น เราก็เห็นสภาพมาแล้วเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใคร ไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่สำคัญประชาชนเดือดร้อน
"การประเมินสถานการณ์อาจไม่ตรงกัน ก็จะพูดคุยกัน แต่โดยหลักขณะนี้ทุกคนน่าจะมองตรงกันแล้วว่า กรอบเดิมที่ทำในคณะกรรมการสมานฉันท์ ถ้าฝ่ายค้านเขาไม่ร่วมมันก็ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตอนนี้มีอยู่ว่ามีความต้องการของแต่ละพรรคในการแก้ไขประเด็นไหน อย่างไร ก็เห็นแยกออกมาสองประเด็น และก็บอกว่าเป็นเรื่องของสภาฯ ส่วนแต่ละพรรคจะมีจุดยืนอย่างไรก็มาพูดคุยกันได้อีก" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า เมื่อเจตนารมณ์ไม่ตรงกัน จะอยู่เป็นพรรคร่วมต่อไปได้หรือไม่ นาอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ตรงกัน เจตนารมณ์คือ ต้องการที่จะทำงานให้ทุกอย่างเดินไปด้วยความเรียบร้อยแต่จะประเมินสถานการณ์ยังไม่ตรงกันก็มาคุยกัน คิดว่าหลังปีใหม่น่าจะหาจุดร่วมด้วยกันได้
เมื่อถามว่าเหมือนกับเขาพยายามบีบให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเห็นด้วยกับเรื่องเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าไม่มีใครบีบใคร
เมื่อถามว่าเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว จะกลายเป็นตัวความขัดแย้งหรือไม่ นาอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆประเด็นนี้เป็นประเด็นในเรื่องเทคนิคของระบบ เพียงแต่ความเห็นต่างกันเท่านั้น ว่าระบบไหนน่าจะทำให้การเมืองดีกว่ากัน หรือนักการเมืองมีคุณภาพกว่ากันเท่านั้นเอง
"อยากเรียนว่าประเด็นเรื่องเขตนั้น ความเห็นในพรรคตัวเองก็มีความเห็นไม่ตรงกันเกือบทุกพรรค ฉะนั้นเป็นประเด็นที่สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้"
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นเหตุให้มีการพลิกขั้วทางการเมืองอีกครั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเรียนว่าการตัดสินใจของแต่ละพรรคการเมือง เป็นเอกสิทธิ์ของเขา ตนมีความมั่นใจว่า แนวทางที่จะพูดคุยกันจะเป็นแนวทางที่ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากที่สุด
"ผมคิดว่าเราต้องเก็บเกี่ยวบทเรียนจากปี 2551 ว่าถ้าไปหยิบเอาสิ่งที่เป็นประเด็นความละเอียดอ่อนและมีความขัดแย้งสูงในสังคม และคิดว่าจะผลัดดันกันไปได้โดยคิดว่ามีเสียงในสภาฯ สุดท้ายบ้านเมืองเดินไม่ได้ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับใคร ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้จากปี 2551 เราจะจัดการและหาคำตอบเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**พรรคร่วมขัดแย้งจะเข้าทางแม้ว
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านพักของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาล ทวงถามความคืบหน้าการแก้ไข รธน. 6 ประเด็น ตามมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยยอมลดเงื่อนไขให้แก้เพียง 2 ประเด็น ในมาตรา 190 และการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก่อน โดยที่ประชุมประเมินว่าเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เห็นว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ มักจะเสนอเงื่อนไขขึ้นมาต่อรอง เพื่ออ้างเสถียรภาพของรัฐบาล และเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไม่สามารถประคองสถานการณ์ได้ จนถึงขั้นยุบสภา พรรคร่วมรัฐบาล ก็จะสู้พรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมเห็นว่า การแก้ไขรธน. เป็นเรื่องของสภาที่ต้องเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน. แต่พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่ร่วมด้วย จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการพรรค ไปทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง หากพรรคร่วมยังตีกันเรื่องแก้ไขรธน. ก็จะเข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามแยกพรรคร่วมรัฐบาลออกจากกัน ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ และหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เร็วที่สุด ทั้งเป็นไปตามกฎหมาย และนอกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม
ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันประคองสถานการณ์ให้พ้นเดือนม.ค.-ก.พ.-มี.ค. ไปให้ได้ก่อน และในระหว่างนั้น จะช่วยหาทางออกเรื่องการแก้ไขรธน. เพราะไม่อยากให้เสียแนวร่วมภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดง
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังเทศกาลปีใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะมีการนัดประชุม ส.ส.อีกครั้ง เพื่อกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขรธน. เพราะเงื่อนไขการแก้ไขครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามแนวทางของการสมานฉันท์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ขณะที่ภาคประชาสังคม ก็ไม่เห็นด้วย ยิ่งรัฐบาลเดินหน้า ยิ่งเกิดผลประทบต่อพรรคร่วมรัฐบาล

**"บัญญัติ"ขวางแก้รธน.
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างศึกษาแก้ไขรธน.ของพรรค กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา บีบให้รัฐบาลเดินหน้าเร่งแก้ไขรธน. ว่า ขณะนี้จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเดิมคือ 1. ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรธน. โดยเฉพาะการแก้ไขที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแก้ไขกันเองโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน เรื่องนี้ได้เสนอผ่านหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ต้องทำประชามติก่อน
"เดิมเป็นที่เข้าใจของฝ่ายการเมืองคือ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ในการร่วมกันที่จะแก้ไขรธน. แล้วจะมีความสมานฉันท์ในระหว่างกันเองในระดับหนึ่ง แต่วันนี้เมื่อเห็นไม่ตรงกันแล้วจะไปทำประชามติได้อย่างไร ผมว่าจุดยืนท่านายกฯ ยังอยู่ตรงนี้ ทีนี้ปัญหามันมีว่า ถ้าอยู่ๆ มีคนเสนอแก้ไขรธน. เข้าไปในสภา ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ แต่ก็ย่อมหมายความว่า เป็นการเสนอกันเองโดยเอกเทศ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพรรคร่วม และไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว กรณีเช่นนี้แต่ละพรรคย่อมมีเอกสิทธิ์ที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร" นายบัญญัติกล่าว
เมื่อถามว่า ปัญหาการแก้ไขรธน. จะเกิดแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า เราต้องเข้าใจในจุดยืนของการแก้ไขแต่ละพรรคว่าไม่เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขเดิมคือ ทุกพรรคต้องเห็นตรงกัน และต้องผ่านการจัดทำประชามติ เมื่อทำประชามติแล้ว หากประชาชนมีมติให้แก้ ก็จะแก้ ถือเป็นเงื่อนไขที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากอยู่ๆ ฝ่ายการเมืองมาเสนอแก้กันเอง ก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนว่า จะคิดอย่างไรก็ได้ หากได้เสียงข้างมากไปแก้ได้ ก็จบ แต่หากได้เสียงไม่พอ ก็แก้ไม่ได้ ดังนั้นจะไปบีบบังคับให้ทุกคนเห็นตรงกันย่อมเป็นไปไม่ได้ จะไปบังคับให้คนอื่นเห็นชอบกับตัวเองคงไม่ได้ หากมติประชาชนว่า เอาด้วย ทุกอย่างก็โอเค ทุกคนก็พร้อมจะทำตาม
เมื่อถามว่าที่สุดแล้วหากมีการเสนอแก้ไขรธน. เข้าไปในสภา และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย จะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า "ก่อนเสนอ คงต้องทำใจ เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ทิ้งหลักการ โดยเห็นแก่เสถียรภาพของรัฐบาลอย่างเดียว เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผมคิดว่าพรรคการเมือง เรื่องของหลักการ และจุดยืน ถือเป็นเรื่องใหญ่ การเปลี่ยนแปลงบ้าง ต้องไม่ให้เสียหลักการใหญ่ ผมคิดว่าพรรคการเมืองต้องคิดเช่นนั้น เพราะตอนที่จัดตั้งรัฐบาลนายกฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าวันนี้ เมื่อมาทำงานร่วมกับเพื่อน แล้วเพื่อนอยากให้แก้ เราก็ใจกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็น"
นายบัญญัติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ขึ้นมาภายใต้ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย และคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้สรุปประเด็นการแก้ไขและบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสมานฉันท์ เราก็เอาด้วย และขอฟังเสียงของประชาชนก่อน แต่แล้ววันหนึ่งก็มาถึงจุดที่ไม่สมานฉันท์กันแล้ว เพราะมีบางฝ่ายไม่เอาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันเอาไว้ตั้งแต่ต้น
"ผมคิดว่า คนมาร่วมรัฐบาลกันจะไปเอาเรื่องเพียงเรื่องเดียวมาเป็นตัววัดเรื่องเสถียรภาพคงไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องแสดงจุดยืน พรรคร่วมก็น่าจะเข้าใจได้ว่า นี่คือจุดยืนของเรานะ เราจะไปล่วงละเมิดเขามากก็ไม่ได้ ยิ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 พรรคไม่สามารถครอบงำสมาชิกในการลงมติเรื่องนี้ได้ด้วย ผมยังเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ว่าถ้าแก้ได้ก็ดี ถ้าแก้ไม่ได้ก็คือไม่ได้" นายบัญญัติกล่าว

**"ชวรัตน์"ปัด"เนวิน"ขู่เปลี่ยนขั้ว
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ออกมาขู่พรรคประชาธิปัตย์ หากไม่เร่งแก้รธน. พรรคภูมิใจไทย อาจจะไปร่วมลงชื่อการแก้รธน. กับพรรคเพื่อไทย ว่า เรื่องนี้ไม่จริง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยอยู่แล้ว ซึ่งพรรคได้กำหนดไว้ว่า หากรัฐธรรมนูญประเด็นไหนไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ควรจะดำเนินการแก้ไขในข้อนั้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการแก้มาตรา 190 และระบบเขตเดียวเบอร์เดียวแล้ว ยังเห็นว่ามีอีกหลายประเด็นที่ควรแก้ไข แต่ตอนนี้ยังไม่ได้พูดถึง เพราะตอนนี้มีแต่ข่าวลือ ข่าวโคมลอย ว่า หากไม่เร่งแก้รธน. จะมีการแยกตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่อยากหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยกันเพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้าง
"เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องเป็นผู้นำเพื่อที่ทุกพรรคจะได้เตรียมตัวว่า ต้องแก้ประเด็นใด มาตราไหนบ้าง แต่เท่าที่รู้คือ แก้ 6 มาตรา ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทย ที่จะไม่เข้าร่วมในการแก้ไขนั้น นายกฯ จะต้องมีการเจรจากับพรรคเพื่อไทย" นายชวรัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากปชป. ดึงเกมการแก้รัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจของส.ส.ภูมิใจไทย หรือไม่ นายชวรัตน์ นิ่งคิดสักพักก่อนกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นคนละเรื่อง
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่หากมีการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทย อาจไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยใช้รัฐธรรมนูญปี 40 นายชวรัตน์ กล่าวว่า"เรื่องนี้ยังไม่อยากพูดถึงตอนนี้ เพราะการเมืองมีการแปรผันไปได้เรื่อย ๆ ตามความเหมาะสม"

**"พผ."ขู่หากเห็นต่างรัฐบาลพัง
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอให้แก้ไขรธน. มาตรา 190 และ การเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะเป็นจุดยืนตั้งแต่เริ่มของพรรคอยู่แล้ว
ส่วนที่มีการขู่ว่าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการอาจจะไปสนับสนุนฝ่ายค้าน ที่จะเสนอให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้นั้น ตนไม่ทราบ ไม่รู้รายละเอียดว่าข่าวนี้เป็นอย่างไร และในการหารือของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล วันนั้นตนก็ไม่ได้ยิน อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคก็คงจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ ต้องคิดร่วม ตกผลึกเป็นแนวเดียวกัน
" จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เขาชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของเขตเลือกตั้ง ที่หากเป็นเขตใหญ่ ทางภาคใต้เขาก็ชอบ แต่พรรคร่วม ก็ได้หารือกันว่ารัฐธรรมนูญใช้มาหลายฉบับ เรารู้ดีว่าถ้าเขตเล็ก การใกล้ชิดกับประชาชน การทำหน้าที่ร่วมกับประชาชน จะง่ายกว่า 30 นาที ก็ไปถึง แต่ถ้าเป็นเขตใหญ่เรียงเบอร์ การทำงานของ ส.ส.ก็จะไม่มีผลงานชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้เป็นเรื่องของสภาที่จะพิจารณากัน แต่ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็คงต้องให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าปล่อยให้เกิดความต่างขึ้น ก็อาจจะนำไปสู่อย่างอื่น ผมว่าอย่างไรก็ตามการเป็นรัฐบาลร่วม เป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ควรต้องมีความเห็นเหมือนกัน ถ้าคิดไม่เหมือนกันมันก็ต้องแตกกันอยู่แล้ว ต้องคิดเหมือนกัน แต่ตอนนี้ยังไม่คิดว่าจะมีตรงไหนที่จะทำให้แตกแยก" หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าว

**เด็กชทพ.โวยนายกฯ ตีสองหน้า
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การจะแก้ไข 2 ประเด็นก่อน หรือ 6 ประเด็นนั้น ทำได้อยู่แล้ว ไม่มีใครขัดข้อง ปัญหาตอนนี้คือต้องถามจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งบอกว่าสนับสนุนให้แก้ไข แต่กลับปล่อยให้อีกฝ่ายในพรรคออกมาต่อต้าน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เดินหน้าต่อไปลำบาก ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นลักษณะการยื้อเวลา ตีสองหน้ามาตลอด
"พรรคประชาธิปัตย์ จะเอาอย่างไรก็ขอให้บอกมาว่าจะแก้หรือไม่แก้ ถ้าจะแก้ก็ต้องช่วยกันทำไม่ใช่ยื้อเวลาอยู่แบบนี้ แต่ถ้าจะไม่แก้ก็ให้บอกมา พวกผมจะได้ไปหาช่องทางอื่นๆเพื่อที่จะเดินตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ อาจจะไปหา ส.ส.มาลงชื่อ 1 ใน 5 แล้วเสนอ หรือถ้าพรรคเพื่อไทย เสนอจะใช้รัฐธรรมนูญ 40 ทั้งฉบับ ถ้าพวกผมเห็นว่า สามารถนำ 6 ประเด็น ไปแก้ไขด้วย ก็อาจจะไปร่วมลงชื่อกับพรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่เบื้องต้นขอทิศทางที่ชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อน ไม่ใช่ยื้อไปมาอยู่แบบนี้" นายภราดรกล่าว

**ปธ.วิปนัดถก 3 ฝ่าย 21 ม.ค.นี้
นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ และขอให้ยึดหลักในการประชุมร่วมกันของ 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตนเอง นายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวิปวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานวิปวุฒิสภา นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีผลการประชุมที่ชัดเจนว่า ทั้งเรื่องการเห็นด้วยกับคณะกรรมการสมานฉันท์ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น โดยหากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วิปทั้ง 3 ฝ่าย จะร่วมลงชื่อด้วยกัน โดยเห็นด้วยในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการจัดทำประชามติ ดังนั้นจึงขอมติของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตนจะขอเป็นตัวแทนในการประสานงานกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเปิดสมัยประชุมวันที่ 21 ม.ค. จะ ได้เชิญ 3 ฝ่ายมาหารือทันที หากยอมรับร่วมกัน ก็จะผลักดัน

**แก้เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำไม่ได้
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ชัดเจนว่าแก้ไขได้ แต่การแก้ไขนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง และรธน.ยังเปิดโอกาสให้แก้ไขได้ทุกเวลา แต่รธน.ปี 2540 ได้บัญญัติไว้ว่า แก้ไขได้หลังจาก 5 ปีของการใช้ได้ผ่านพ้นไป
สำหรับการเสนอแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น อย่างที่บอกว่า ถ้าแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีปัญหา แต่หากการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะแล้ว เป็นการขัดผลประโยชน์ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพราะฉะนั้นมีความผิด แก้ไขไม่ได้ อย่างที่เสนอให้แก้ไข 5-6 ประเด็นที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ผลประโยชน์ของนักการเมือง และพรรคการเมืองทั้งสิ้น เท่าที่ติดตามดูประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร
ส่วนประเด็นประชามติ ขอให้ข้อคิดว่ารธน.ปี 50 ผ่านการลงประชามติของประชาชน 14 ล้านคนเศษ เกือบ 15 ล้านคน ก็เท่ากับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองเห็นชอบด้วย ถ้าแก้ไขเรื่องใด อย่างน้อยต้องถามประชาชนก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น