xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โยนพรรคร่วมแก้รธน.รัฐบาลชิ่งโยนให้สภาตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (27 ธ.ค.) วัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังบ้านพักนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ย่านถนนติวานนท์ เพื่อหารือสถานการณ์การเมืองร่วมกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และแกนนำพรรคโดยใช้เวลาหารือนาน 3 ชั่วโมง ก่อนออกจากที่ประชุม ขณะที่แกนนำพรรคคนอื่นๆ ยังคงหารือกันจนถึงเวลา 16.00 น.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการประเมินภาพรวมการทำงานทั้งหมดโดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาล และวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ในปี 2553 อกจากนี้ยังหารือถึงท่าทีของ พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ตอนนี้มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกัน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าถ้าฝ่ายค้านไม่มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ควรทำ เพราะถ้าทำไปก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่าควรแก้ไขในบางประเด็นน่าจะสามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวในแง่ของการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนก็ให้เป็นเรื่องของสภาฯดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลายเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระของพรรคชาติไทยพัฒนาที่เสนอให้แก้ไขไม่ใช่วาระในการสร้างสมานฉันท์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ปฎิเสธว่า มันคนละเรื่องกัน เพราะเดิมที่เราพูดกันคือ ในกรอบสมานฉันท์ 6 ประเด็น แต่ถ้ามีประเด็นไหนที่ไม่มีความละเอียดอ่อน และใครอยากเสนออะไร คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อถามย้ำว่า หมายความให้พรรคชาติไทยพัฒนาเป็นคนเสนอ ต่อสภาฯเองใช่หรือไม่ นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือเรื่องในนามพรรคร่วมรัฐบาล
ต่อข้อถามว่านอกจากมาตรา 190 แล้วพรรคประชาธิปปัตย์ เห็นด้วยกับมาตราไหนอีก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีเรื่องอื่น แต่เข้าใจว่า พรรคร่วมรัฐบาลอยากเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคเสนอไป และเป็นเรื่องสภาฯที่จะพิจจารณา ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกัน และเห็นว่า เขตใหญ่ยังดีกว่า แต่ถ้าเดินในกรอบสมานฉันท์ 6 ประเด็นแล้วประชาชนเห็นชอบ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่า 2 ประเด็นที่พรรคร่วมเสนอแก้ไข จำเป็นต้องมีการทำประชามติด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ต้องเพราะเป็นเรื่องของสภาฯไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง หรือมีคนออกมาต่อต้านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าถ้าเป็น 2 ประเด็นนี้ ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นก่อนหน้านี้ที่กังวลกัน คือการรับโทษที่เกิดขึ้นจากการซื้อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเด็นมาตรา 265และ266 ที่คนมองว่าเป็นการแก้เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ส.ส.แต่เรื่องมาตรา 190 เป็นเรื่องเทคนิคจริงๆ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นเป็นความ คิดเห็นที่หลากหลาย ต้องให้สภาฯตัดสิน และหากเป็นประเด็นที่ไม่มีความละเอียดอ่อน ก็น่าจะให้อิสระที่พรรคการเมืองจะเสนอได้

ให้อิสระส.ส.โหวตไม่เกี่ยวรัฐบาล
เมื่อถาม่าหากพรรคร่วมเสนอ เข้าสู่สภาฯ พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตให้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของสภาฯก็คงจะเป็นอิสระ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเสนอเงื่อนไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูปี 2540 บ้างหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี ความจรริงเมื่อต้นปี 2549 ทุกพรรคการเมืองบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ต้องรื้อทั้งฉบับ รวมทั้งพรรคไทยรักไทยด้วย เราก็ทราบดีว่ามีจุดอ่อนทุกฉบับ เราก็ต้องแก้ไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็น เขตเลือกตั้งแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ยกมือในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ไปถึงตรงนั้น เพียงแต่บอกว่ารัฐบาลคงไม่เป็นเจ้าภาพในการเสนอ เรื่องนี้ แต่พรรคการเมืองย่อมมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้และประเด็นนี้ตนเห็นว่า เป็นมุมมองข้อดีข้อเสีย เขตใหญ่เขตเล็กในระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสากล เพราะระบบเลือกตั้งหลากหลายมากในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีประเด็น ละเอียดอ่อน ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ของส.ส.
ส่วนจะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่ เพราะยังมีเวลาในการพูดคุยกันว่าส.ส.จะคิดอย่างไร แต่คิดว่ารัฐบาลน่าจะเป็นเจ้าภาพในเฉพาะกรณีที่ มีวัตถุประสงค์ ในเรื่องสมานฉันท์ ซึ่งจะต้องกลับไปสู่กรอบเดิมคือ เรื่องประชามติ และการให้ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน

รับปชป.ไม่เห็นด้วยแก้เขตเลือกตั้ง
เมื่อถามว่าหลังปีใหม่จะมีการนัดหมายหารือพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าก็อยากจะหาโอกาสพูดคุยกันอยู่ เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลอยากให้มีการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะช้าในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละพรรคมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนในเรืองที่เกี่ยวข้องกับเขตเลือกตั้งว่าเราสนับสนุนระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน แต่เราก็ไม่ขัดข้องถ้าพรรคร่วมอยากจะเสนอแก้ไขก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร เพราะแต่เดิมพอบอกว่าจะแก้ไขเพื่อสมานฉันท์ เราก็ยอมถอย จากจุดยืนเดิมได้ เพราะทำแล้วบ้านเมืองสงบ มันก็คุ้มค่า เราก็ต้อมยอมถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่วันนี้ เมื่อฝ่ายค้าน บอกว่าไม่เอาด้วย ก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะมีวัตถุประสงค์ในการ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร ถ้าจะเป็นเรื่องเทคนิคอย่างนี้ก็เป็นเรื่องให้สภาฯพิจารณาไป

จาตุรนต์เชื่อปชป.เล่นเกมแก้รธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย(ทรท.) กล่าวที่พรรคประชาธิปัตย์เชิญชวนให้พรรคเพื่อไทยร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางมาตรานั้น คิดว่าเป็นเกมการเมืองมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญกับฝ่ายค้าน แลการเชิญชวนพรรคเพื่อไทยเป็นเพียงการหวังของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะอยู่ครองอำนาจที่มีอยู่ในขณะนี้ให้ยาวนานต่อไปเท่านั้น เพราะขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลา ซึ่งหากมีถ่วงเวลาของรัฐบาลด้วยการ สร้างเงื่อนไขใดๆ ขึ้นมาอีกก็ตาม ย่อมทำให้รัฐบาลได้โอกาสที่จะรักษาอำนาจของตนเองให้นานยิ่งขึ้น
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ครั้งก่อนที่รัฐบาลเคยเสนอให้ พรรคเพื่อไทยร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นตนมองว่า พรรคเพื่อไทยพลาด ด้วยเหตุที่รู้ไม่เท่าทันพรรคฝ่ายรัฐบาล สุดท้ายเมื่อแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ความเสียหายรัฐบาลจึงโยนมาให้แก่พรรคฝ่ายค้าน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าฝ่ายค้านทำให้เสียเวลาและเป็นอุปสรรคของการแก้รัฐธรรมนูญ และมาครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ พรรคเพื่อไทยต้องได้รับความผิดพลาดซ้ำรอยเดิม จะต้องวิเคราะห์และศึกษาข้อมูล อย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจใด ๆ ลงไป

คาด2-3เดือนก๊กแดงทำรัฐบาลยุบสภาแน่
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุมเร้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้ คาดว่า ภายใน 2-3 เดือนจากนี้ไป อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งหากรัฐบาลไม่ยอมยุบสภาหรือลาออก ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย จากการเลือกตั้งมาโดยตลอด คงไม่สามารถยินยอมให้รัฐบาลอยู่ต่อไปหากครบวาระขณะที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการผลัดดันแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าจะเน้นแก้ มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค เพราะเริ่มไม่แน่ใจคดียุคพรรคจากเรื่องเงินบริจาคพรรค จำนวน 258 ล้านบาท และเงินที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สนับสนุนพรรคการเมือง 23 ล้านบาท ที่พรรคประชาธิปัตย์ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งการวินิจฉัย กกต. 1 เสียง คือ นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ลงมติว่า ควรส่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ให้อัยการสูงสุดดำเนินการ ส่วนอีก 4 กกต. มีมติให้รอวินิจฉัย ปี 2553 ว่าจะยุบพรรคหรือไม่ ดังนั้นทางออกสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะต้องยอมแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางออกเอาไว้ก่อนกันตายหมู่
นายพร้อมพงศ์ ยังเรียกร้องไปยังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยคัดค้านอย่างชนิดหัวชนฝา เมื่อครั้งที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล มีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ร่วมกันออกมาคัดค้านเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติโดยส่วนรวม มากกว่าแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
ขอให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาแสดงจุดยืนว่า ยังคงมีแนวคิดเดิมที่จะคัดค้าน การแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะเปลื่ยนไปสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะเพียงแค่รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว หลักการเดิมก็เป็นแค่ข้ออ้าง เพื่อล้มรัฐบาลที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น