xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เวลานี้มีข่าวเกี่ยวกับการบินไทยว่า ภายในมีการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า และมีการเมืองมาก เหตุที่มีการกล่าวหาเช่นนี้ก็เพราะมีการขนของเกินน้ำหนักจากโตเกียวหลายร้อยกิโล โดยมีอดีตพนักงานระดับสูง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของการบินไทยเข้าไปพัวพัน เมื่อเกิดข่าวนี้ขึ้นก็มีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์เขียนในทำนองว่า ที่โดนโจมตีเช่นนี้เพราะเป็น “เรื่องการเมือง”

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มีการนำของเกินน้ำหนักขึ้นเครื่องโดยไม่จ่ายเงิน และของนั้นก็เลี่ยงมาเก็บไว้ที่แผนกของหายไม่ต้องผ่านศุลกากรจริง เข้าใจว่าผู้เขียนคอลัมน์คงอยากช่วยผู้ซึ่งถูกกล่าวหานั้น

การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำหุ้นเข้าตลาดไปแล้ว จึงเป็นบริษัทมหาชน การที่การบินไทยสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกได้ นับว่าเก่งมาก เพราะเวลานี้มีแต่การขาดทุน หลายแห่งต้องปิดกิจการเพราะล้มละลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้ำมันมีราคาแพง มีอยู่ระยะหนึ่งที่คิดกันว่า การทำลายการบินต้นทุนต่ำจะเป็นทางออก แต่เวลานี้สายการบินต้นทุนต่ำก็แย่พอๆ กัน มีสายการบินเอมิเรตส์ที่ยังพอไปได้ เพราะรัฐบาลช่วยพยุงอยู่ จึงคิดค่าโดยสารได้ต่ำกว่าสายการบินอื่นๆ

ตอนที่การบินไทยย่ำแย่นั้น พนักงานได้เสียสละมาก โดยเฉพาะพวกสจ๊วต และแอร์โฮสเตสซึ่งต้องยอมลดเวลาที่อยู่ในต่างประเทศลง 1-2 วัน และลดจำนวนชั่วโมงบินทำให้ลดรายได้ลงไปถึง 20-30% พนักงานก็ไม่ได้โบนัส

ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน แขวนพนักงานระดับผู้อำนวยการ (director) ร้อยกว่าคน นอกจากนั้น ระดับสูงกว่านั้นคือ EVP (Executive Vice-President) สอง-สามคนก็โดนแขวนไม่มีงานทำด้วย

การกู้สภาพการบินไทย ทำได้ด้วยการลดรายจ่ายมากกว่าการเพิ่มรายได้ เพราะอุตสาหกรรมการบินมีการแข่งขันสูง กำไรจึงต่ำ และเครื่องบินนั้นไม่เหมือนกิจการอื่นคือ เมื่อบินขึ้นไปแล้ว หากที่นั่งว่างก็จะสูญเปล่า ราคาตั๋วถ้าต่ำเกินไป แม้ผู้โดยสารจะเต็มหรือเกือบเต็มก็ยังขาดทุน เพราะค่าน้ำมันแพงมาก อย่างสายนิวยอร์กบินตรงที่เพิ่งยกเลิกไป คนโดยสาร 70-80% ก็ยังขาดทุนอยู่ แม้จะเป็นที่นิยมเพราะบินตรงก็ตาม

การลดค่าใช้จ่ายเป็นการร่วมมือของทุกแผนกคือ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ลดรายจ่ายไปได้หมื่นกว่าล้านบาท และเวลานี้มีผู้โดยสารเฉลี่ยเที่ยวละ 80% ทำให้การบินไทยน่าจะมีกำไรสัก 2,000 ล้าน ซึ่งนับว่าดีมาก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

การตัดรายจ่ายบางอย่างก็มีผลในเชิงสัญลักษณ์อย่างสิทธิพิเศษของบอร์ด และพนักงานระดับสูง สมัยผมเป็นประธานฯ ก็สั่งยกเลิกสิทธิการบินชั้นหนึ่งตลอดชีวิตของประธานกรรมการบริษัท ที่จริงปีหนึ่งๆ แต่ละคนก็เดินทางไม่กี่เที่ยว แต่มีคนพูดว่าบอร์ดบางคนไปกินอาหารกลางวันที่ฮ่องกงแล้วก็บินกลับ บ้างก็ว่าภรรยาของบอร์ดไปซื้อนาฬิกา และแหวนเพชรโดยให้การบินไทยจ่ายเงินให้ พอมีข่าวเรื่องการขนของเกินน้ำหนัก ก็มีพนักงานออกมานินทาว่า มีอดีตประธานฯ คนหนึ่งขนไวน์เป็นร้อยลังมาจากออสเตรเลีย แถมให้ทางบริษัทจ่ายเงินเสียด้วย จะเป็นใครก็ไปสืบกันเองก็แล้วกันว่าใครชอบกินไวน์แดง bin 700 กว่าๆ ของออสเตรเลียบ้าง

ผมเคยเป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ ตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็ได้เบี้ยประชุมเดือนละ 6,000 บาท แต่ต้องเซ็นเช็คใบละหลายร้อยล้านบาท ต่อมาเป็นบริษัทมหาชนได้เงินเดือนละห้าหมื่นบาท นับว่ามาก แต่คิดไปแล้วก็ไม่คุ้มกับความรับผิดชอบ เมื่อพ้นจากการเป็นประธานฯ ผมก็ยังเป็นกรรมการต่อ มีคนตำหนิว่าเป็นถึงประธานฯ แล้ว ยังลดตัวมาเป็นกรรมการอีก ผมก็แปลกใจเหมือนกับพูดว่า คนที่เคยเป็นคณบดีหรืออธิการบดีมาแล้ว จะมาเป็นอาจารย์ธรรมดาๆ ไม่ได้

ผมภูมิใจที่ไม่เคยหาเศษหาเลย หรือมีส่วนได้รับผลประโยชน์นอกเหนือไปจากเบี้ยประชุมจากการบินไทยเลย ตอนเป็นประธานฯ จัดซื้อที่นั่ง ผมก็ให้มีการตั้งพนักงานเข้ามามีส่วนร่วม มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และระมัดระวังไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะจากนักการเมือง

ผมเห็นว่าโดยรวมแล้ว คนการบินไทยมีความสามารถ และมีความรักองค์กร ตั้งใจทำงาน โดยเฉพาะพนักงานต้อนรับและฝ่ายช่าง ส่วน “การเมือง” ถ้าจะมีก็จำกัดอยู่ในแวดวงฝ่ายบริหารในสำนักงานใหญ่ สหภาพแรงงานของการบินไทยเวลานี้เข้มแข็ง และได้คนดีอย่างคุณแจ่มศรี และทีมงานเข้ามาดูแล หลังจากโดนกลั่นแกล้งกีดกันไปนาน สมัยผมอยู่มีใบปลิวเกือบทุกเดือน และเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต้อนรับบนเครื่องกับฝ่ายนักบิน แต่เวลานี้น่าจะหมดไปแล้วเพราะไม่ได้ยินข่าวอะไร ตอนที่ผมอยู่ ผมได้สนับสนุนให้มีฝ่ายวิจัย และทำโครงการดูแลสุขภาพพนักงาน เพราะเมื่อทำงานไปนานๆ พนักงานบนเครื่องจะมีปัญหาปวดคอ ปวดหลัง เพราะต้องยกของหนัก นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยก็น่าจะทำการศึกษาเกี่ยวกับการมีสายการบินต้นทุนต่ำ และเรื่องอื่นๆ อีก

การบินไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำไรก็จากการขายตั๋ว เท่าที่ผ่านมาการขายตั๋วทำผ่านเอเยนต์ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้การบินไทยถูกเอาเปรียบมาก หากยังจัดการกับเรื่องนี้ไม่ได้ การจะทำกำไรก็คงจะยากมาก

เมื่อมี DD คนใหม่คือ คุณปิยสวัสดิ์ ผมหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะคุณปิยสวัสดิ์ ฉลาดและซื่อสัตย์ เป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง ไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องมีคนมาแห่แหนต้อนรับ เท่าที่ฟังพนักงานพูดกัน ต่างก็มีศรัทธาในตัวคุณปิยสวัสดิ์ทั้งสิ้น

อีกคนหนึ่งที่ทำงานปิดทองหลังพระก็คือ กรรมการบริษัทที่ชื่อ พิชัย ชุณหวชิร คุณพิชัยเก่งด้านการเงิน และเป็นผู้เสนอวิธีการลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย คุณพิชัยเห็นว่าการบินไทยจะไปรอดได้ รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายในการรวมการบินไทยกับการท่าอากาศยานฯ ให้เป็นองค์กรเดียวกัน จะได้ช่วยให้การบินไทยที่เป็นสายการบินของชาติสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะการท่าอากาศยานฯ เป็นองค์กรที่มีแต่รายได้มากกว่ารายจ่าย จะได้ประคับประคองกันไปได้ ข้อเสนอนี้น่าจะมีการพิจารณากันอย่างจริงๆ จังๆ เพราะอีกไม่นานการบินไทยก็จะต้องซื้อเครื่องบินฝูงใหม่มาทดแทนเครื่องเก่าแล้ว

การลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้เป็นประเด็นสำคัญ แต่เรื่องพฤติกรรมของบอร์ด และผู้บริหารระดับสูงก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะเกี่ยวกับขวัญและกำลังใจของคนในองค์กร โดยเฉพาะในยามที่บริษัทต้องเผชิญกับวิกฤต

การบินไทยมีคนเก่งๆ แยะ ผมเองได้พบและเห็นความสามารถของคนหลายคน โดยเฉพาะพนักงานระดับกลางที่มีคุณภาพสูงมาก ผมยังมีศรัทธากับบริษัทการบินไทยอยู่ และยินดีด้วยที่ปีนี้จะเป็นปีที่มีกำไร ขอให้จ่ายโบนัสเป็นกำลังใจสัก 1 เดือนนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น