xs
xsm
sm
md
lg

5 ปีสึนามิเอเชีย กับก้าวย่างที่ยังอยู่กับที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุแผ่นดินไหวใหญ่บริเวณนอกชายฝั่งทางด้านตะวันตกเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ซึ่งวัดระดับความรุนแรงได้ถึง 9.3 ริกเตอร์ ที่ได้ก่อให้เกิดมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิอันมีความสูงกว่า 30 เมตรซัดเข้าถล่มชายฝั่งประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่รายรอบมหาสมุทรอินเดียกันโดยทั่วหน้า 14 ประเทศจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายราว 230,000 คน ถือเป็นภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และยังเป็นโศกนาฏกรรมที่ทุกคนยากจะลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 4 ประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น
หลังเกิดเหตุได้ไม่นาน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรูปแบบต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 233,200 ล้านบาท ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับหายนะครั้งนี้ พร้อมๆกับเกิด “กระแสตื่นตัว” เรื่องการหามาตรการรับมือภัยธรรมชาติในลักษณะนี้ร่วมกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างแข็งขัน โดยมีการพูดถึง “โครงการอันสวยหรู” เช่น โครงการจัดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย หรือ “Indian Ocean Tsunami Warning System” ที่จะมีการนำไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการสื่อสารอันล้ำสมัยซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนของประเทศต่างๆในภูมิภาคได้ภายในเวลาเพียง 2 นาทีนับจากเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หรือโครงการของทางการอินเดียและศรีลังกาที่ระบุว่า จะพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณมหาสมุทรอินเดียที่มีความรุนแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์ขึ้นไปได้ทุกครั้งภายในเวลาไม่เกิน 20 นาที
อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านมาจนกำลังจะครบขวบปีที่5 ของการเกิดพิบัติภัยในครั้งนั้นกลับดูเหมือนว่า กระแสความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย ขณะที่โครงการเพื่อการเตือนภัยทั้งหลายก็ยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่างและหลายโครงการของหลายประเทศก็มีอันต้องล้มเลิกไป จนทำให้เกิดคำถามว่าประเทศเหล่านี้มีความพร้อมมากน้อยเพียงใดที่จะรับมือหากเกิดมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นในภูมิภาคอีกในอนาคต
ดร. คอนราด ซี. เลาเทนแบเชอร์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารกิจการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ซึ่งเคยเป็นผู้กำกับดูแลศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกที่ เอวา บีช ในมลรัฐฮาวาย สมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ระบุว่า แม้เวลาจะผ่านมาถึง 5 ปีแล้ว แต่ความพร้อมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในการรับมือกับการเกิดสึนามิครั้งใหม่ยังคงอยู่ในระดับที่ “ต่ำมาก” ขณะที่ในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา มัลดีฟส์ พม่า และที่รัฐทมิฬนาฑู ของอินเดียนั้น ยังแทบไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหายนะครั้งใหม่แต่อย่างใด
ขณะที่แดนนี ฮิลมาน นาตาวิดจาจา ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซียระบุว่า แม้ผู้คนจะยังคงจดจำภาพความเสียหายจากภัยพิบัติเมื่อเดือนธันวาคมปี 2004 ได้เป็นอย่างดี แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้กลับระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 80 ในทั้งสามประเทศกลับยอมรับว่า ไม่ทราบว่าตนเองจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างหากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ หรือคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมัวแต่ให้ความสำคัญกับการบริจาคเงินช่วยเหลือ สิ่งของบรรเทาทุกข์ และการสร้างบ้านพักหลังใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็น “เรื่องทางวัตถุ” ให้กับเหล่าผู้ประสบภัยเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือหายนะที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
นอกจากนั้น รายงานของกาชาดสากลที่ออกเมื่อปีที่แล้วยังระบุว่า สถานการณ์ในหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา ที่มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 38,940 รายจากภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กลับเลวร้ายลงยิ่งกว่าก่อนเกิดสึนามิเสียอีก เนื่องจากผู้คนจำนวนมากยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล หลายครอบครัวยังไม่ได้รับบ้านพักหลังใหม่ ขณะที่รัฐบาลศรีลังกาก็ยังคงไม่สามารถไขข้อข้องใจของนานาชาติ เกี่ยวกับการหายไป “อย่างไร้ร่องรอย” ของเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับจากญี่ปุ่น ธนาคารโลก และหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติจำนวนเกือบ1,100 ล้านจากทั้งหมด 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เปอร์ซี มหินทรา ราชปักษา ซึ่งก้าวขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 จะออกมายืนยันหลายครั้งว่า เงินบริจาคทั้งหมดได้ถูกแจกจ่ายไปถึงมือผู้ประสบภัยทุกรายหลายปีแล้วก็ตาม ทั้งๆ ที่ข้อมูลล่าสุดของ “ กระทรวงก่อสร้าง” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเองยืนยันว่า ยังคงมีผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2004 อีกนับหมื่นที่ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ใน “เพิงพักชั่วคราวที่ไม่คุ้มแดดคุ้มฝน” ตามข้างถนน หรือริมชายหาด ขณะที่มีชาวศรีลังกาอย่างน้อย 31,000 คนต้องเสียชีวิตเนื่องจากถูกทิ้งให้กลายเป็นคนไร้บ้านหลังหายนะเมื่อ 5 ปีก่อน
ดังนั้น จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 5 ปีแล้ว แต่หลายประเทศในภูมิภาคแถบนี้ยังคงไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะรับมือกับหายนะครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หลายประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้ “บทเรียนอันมีค่า” จากความสูญเสียและคราบน้ำตาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่กลับยังคง “ย่ำอยู่กับที่”และไม่ยอมก้าวไปสู่การเตรียมพร้อมที่ดีกว่า ขณะที่พวกนักวิทยาศาสตร์และบรรดา “นักวิชาเกิน” ในบางประเทศกลับยังคงนั่งอยู่แต่บน “หอคอยงาช้าง” ด้วยการยืนยันแต่สถิติเก่าๆ ว่า “ อีกเป็นร้อยปีกว่าที่สึนามิจะเกิดขึ้นอีก” โดยไม่ฉุกคิดเลยสักนิดว่า “สถิติมักมีไว้ทำลาย” และ “ความแน่นอน ก็คือ ความไม่แน่นอน ”
กำลังโหลดความคิดเห็น