xs
xsm
sm
md
lg

วิฑูรย์มอบอุตฯจังหวัดทั่วประเทศ ใช้อำนาจสั่งหยุดรง.อันตรายทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “วิฑูรย์”สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดใช้อำนาจสั่งหยุดดำเนินกิจการส่วนที่เกิดอุบัติ จนเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนเป็นการชั่วคราวได้ทันที เหตุที่ผ่านมามีอำนาจแต่ไม่กล้าใช้ต้องผ่านกระบวนการเข้าไปตรวจสอบก่อนหวังแก้ไขเร็วขึ้น

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศให้ดำเนินนโยบายการสั่งหยุดดำเนินกิจการของโรงงานเฉพาะส่วนที่เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดปัญหาจนมีผลกระทบต่อชีวิตคนทันทีเพื่อทำให้การเข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมปัญหาให้เกิดความชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

“ หลังจากเกิดปัญหาก๊าซรั่วที่จ.สระบุรี ก็ได้มีนโยบายดังกล่าวเลยเพื่อไม่ให้การแก้ไขล่าช้าเพราะอุตสาหกรรมจังหวัดไม่กล้าที่จะดำเนินการแม้ว่าตามมาตรา 39 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน ปี 2535 จะให้อำนาจสั่งปิดได้ทันทีให้โรงงานใดเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจะทำให้มีผู้เสียชีวิต”นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ตามกระบวนการกฏหมายหรือพ.ร.บ.โรงงานปี 2535 มาตรา 37 กำหนดไว้ว่าหากมีการร้องเรียนหรือการเข้าไปตรวจพบว่าโรงงานมีอันตรายหรือเข้าข่ายอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนก็จะสั่งแก้ไขและปรับปรุงตามกำหนด ส่วนมาตรา 39 คือการสั่งหยุดและปิดโรงงาน โดยมีดุลพินิจจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1.กิจการนั้นเห็นว่าส่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงมีอันตรายต่อทรัพย์และชีวิตประชาชน 2. เมื่อมีการดำเนินงานตามมาตรา 37 แล้วแต่ไม่ทำตามคำสั่งแหล่งข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีที่เกิดเหตุก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์รั่วในโรงงานของบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม SIL จังหวัดสระบุรี นั้นเป็นตัวอย่างของการใช้กฏหมายให้ทันกับเหตุการณ์คือการสั่งหยุดดำเนินการตามมาตรา 39 เพราะหากใช้มาตรา 37 คือการลงไปตรวจสอบแล้วจึงสั่งหยุดอาจเกิดอันตรายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากมีการสั่งหยุดซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรค 1 แล้วกำหนดระยะเวลาให้แก้ไขเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรอ.ไปตรวจแล้วยังไม่พบการแก้ไขให้สอดคล้องกับคำสั่งก็สามารถใช้มาตรา 39 วรรค 3 คือการสั่งปิดดำเนินการโดยหากเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรอ.ก็ถือว่าถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันทีแต่กรณีมีการปรับปรุงตามกำหนดก็ใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรค 2 คือเปิดดำเนินการได้ตามปกติ

“มาตรา 37 จะมีทั้งจำและปรับหากไม่ปรับปรุง ซึ่งอำนาจในการสั่งปรับปรุงในเขตกทม.จะเป็นกรอ.และที่เหลือก็จะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนการสั่งปิดนั้นจะเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือปลัดมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดำเนินการ”แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น