xs
xsm
sm
md
lg

วินาศกรรมมาบตาพุด…กระทบทั่วไทย!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลายแสนล้านที่มาบตาพุดได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วงที่สุดเปรียบประหนึ่งเป็นวินาศกรรมต่อการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนไทยและนักลงทุนทั่วโลก

และแม้เวลาล่วงเลยมาร่วม 3 เดือนแล้ว นับแต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจนถึงบัดนี้ ก็ไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

อย่างเร็วที่สุดผู้คนที่เกี่ยวข้องก็พูดว่าจะใช้เวลาอีกราว 4-5 เดือน ก็จะได้ข้อยุติว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเมื่อถึงเวลานั้นโครงการที่ค้างคาอยู่คงจะฉิบหายวายวอดเพิ่มขึ้นเป็นอเนกอนันต์ และโครงการลงทุนใหม่ก็คงไม่มีใครกล้าเข้ามายุ่งเกี่ยวอีก

ทำไมจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น? และเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่? รวมทั้งจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร? ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และในทางความเป็นจริงนั้นก็ไม่แน่ว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้จะเข้าใจและรู้จริงในเรื่องนี้หรือไม่

เพราะถ้าเข้าใจและรู้จริงคงจะแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นไปนานแล้ว ไม่ต้องมางมโข่งเหมือนตาบอดคลำช้าง และยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกกันอย่างไร โดยปล่อยให้นักลงทุนพังพินาศฉิบหายวายวอดไปต่อหน้าต่อตา

ดังนั้นแม้จะได้พูดเรื่องนี้ผ่านสื่อไปบ้างแล้ว แต่ไม่มีคำตอบหรือเสียงขานรับใดๆ ก็ยังเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องว่ากล่าวเรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและอาจเป็นทางออกให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในทางที่ถูกที่ควรด้วย

ก่อนอื่นก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในบ้านเรานั้น ได้ถืออำนาจบาทใหญ่ไม่ยำเกรงกฎหมายและไม่กลัวใครมานานนักหนาแล้ว เพราะเข้าใจกันว่าการลงทุนอุตสาหกรรมนั้นจะทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นเจ้าบุญนายคุณที่ล้นเหลือของประเทศนี้

ดังนั้นการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งผืนดิน ผืนน้ำและอากาศ ตลอดจนผลกระทบต่อสังคมไทยจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเพิ่มความรุนแรงมาโดยลำดับ จนกระทั่งกลายเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของประเทศไปแล้ว

การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและดำเนินไปภายใต้ความเป็นจริงอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยมีที่ดินราคาถูก แรงงานราคาถูก ข้าราชการ นักการเมืองและรัฐบาลราคาถูก จึงเป็นช่องทางสร้างกำไรมหาศาลให้แก่นักลงทุนขี้โกงที่ไม่เห็นชีวิตและสุขภาพอนามัย ตลอดจนสภาพแวดล้อมอยู่ในสายตาเลย

มหันตภัยคุกคามประเทศชาติและประชาชนมากขึ้น จนต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ให้การประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องได้รับการตรวจสอบและใบรับรองจากหน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น

แม้กระนั้นแล้ว ด้วยอำนาจบาทใหญ่และพลังอำนาจของทุนอุตสาหกรรม บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในด้านสภาพแวดล้อมจึงเป็นได้แค่ตัวกระดาษในหนังสือเป็นส่วนใหญ่ จะมีผลบังคับบ้างก็น้อยนัก

ในขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ชีวิตผู้คนล้มหายตายจากและป่วยเจ็บร่วงโรยลงเป็นเบือ โดยไม่มีใครใส่ใจแก้ไขปัญหา

ดังนั้นจึงมีการตราบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้มีการคุ้มครองสุขภาพและอนามัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ในพลันที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ใช้บังคับ จึงเกิดผลคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของการลงทุนอุตสาหกรรมเป็น 2 อย่าง คือ การคุ้มครองด้านสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง และการคุ้มครองด้านสุขภาพอนามัยอีกอย่างหนึ่ง

การคุ้มครองด้านสภาพแวดล้อมนั้นมีกฎหมายและหน่วยงานดูแลมาแต่เดิมแล้ว ส่วนการคุ้มครองด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนจะต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและออกใบรับรองว่าการลงทุนอุตสาหกรรมนั้นไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

หมายความว่าภายในปี 2551 จะต้องตรากฎหมายให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและออกใบรับรองผลการตรวจสอบโครงการลงทุนอุตสาหกรรมว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการ กระทั่งมาถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ นี่คือต้นเหตุต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น

ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนร้องเรียนแล้วร้องเรียนเล่า ก็ไม่มีใครใส่ใจแก้ไขปัญหา มีแต่หาทางหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยอำนาจบาทใหญ่และผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ชั่วช้าสารเลวที่ท้าทายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และความยุติธรรมในบ้านเมือง

มีการสมคบกันให้มีการตีความจากหน่วยงานอันมีเกียรติเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กระทั่งสมคบกันออกประกาศบางฉบับเพื่อคุ้มครองการลงทุนอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพียงใดก็ตาม

ทว่าศาลปกครองได้สำแดงความยุติธรรมให้ปรากฏ ให้การคุ้มครองประชาชนผู้ทุกข์ยาก โดยมีคำสั่งให้ 76 โครงการที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและใบรับรองด้านสุขภาพอนามัยหยุดโครงการไว้ชั่วคราว

โดยศาลได้ประกาศความยุติธรรมอย่างแจ้งชัดว่าศาลไม่ได้สั่งห้ามการลงทุนอุตสาหกรรม แต่ศาลได้ให้ความคุ้มครองประชาชนจากการลงทุนอุตสาหกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่คำนึงถึงชีวิต สุขภาพอนามัยของประชาชนเท่านั้น

อา! อำนาจแห่งความยุติธรรมเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีแรงกดดันมหาศาลด้วยอำนาจแห่งทุนก็ตาม แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ได้อุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด

ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า มี 11 โครงการที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงให้ดำเนินการต่อไปได้ แต่อีก 65 โครงการจะต้องหยุดโครงการไว้ต่อไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตที่ถูกต้อง ซึ่งศาลได้ประกาศในคำวินิจฉัยว่าการคุ้มครองชีวิตและอนามัยของประชาชนจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตด้วย

ถึงกระนั้นแล้วก็มิได้มีการดำเนินโครงการที่ถูกต้อง กลับมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นถึง 4 คณะเพื่อพิจารณาศึกษาหาข้อยุติ และยังไม่รู้ว่าจะมีข้อยุติประการใด ทั้งกว่าจะถึงเวลานั้นการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งที่ลงทุนแล้วและที่จะลงทุนต่อไปคงพินาศฉิบหายวายวอดหมดสิ้น

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเงื้อมมือของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นอื่น นอกจากความคิดเห็นของผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องเท่านั้น

แล้วถามว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร? และใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น?

คำตอบแรกคือ การแก้ไขปัญหานี้ต้องกระทำอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือทั้งฝ่ายผู้ลงทุนและประชาชน

นั่นคือจะต้องรีบออกพระราชกำหนดจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนอุตสาหกรรม

และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมเนื่องจากช่วงนี้กำลังปิดสมัยประชุมสภา รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ภายใน 3 วัน 5 วันเท่านั้น แล้วให้บรรดาโครงการทั้งหลายรีบขอรับการตรวจสอบและขอรับใบรับรองผลกระทบด้านสุขภาพ โครงการใดไม่มีผลกระทบก็ดำเนินการไปได้ โครงการใดมีผลกระทบก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องก่อน เมื่อแก้ไขแล้วก็ดำเนินการไปได้

อย่างนี้ผู้ลงทุนก็ไม่เสียหาย หรือถ้าเสียหายบ้างก็เกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตนเอง ในขณะเดียวกันประชาชนก็ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพอนามัย

คำตอบที่สอง สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ?

ก็ต้องบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่มีหน่วยงานดำเนินการในเรื่องนี้ จึงทำให้โครงการทั้งหลายไม่ได้รับการตรวจสอบและไม่ได้รับใบรับรองให้ดำเนินการได้ตามกฎหมาย จึงเกิดความเสียหายขึ้น

ความเสียหายนี้บรรดาผู้ลงทุนอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจึงสามารถเรียกร้องหรือฟ้องคดีเอากับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ตามกฎหมายภายในกำหนดเวลาแห่งอายุความ

ก็ต้องเตรียมใจว่าในเรื่องนี้รัฐอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินนับแสนล้านบาทก็ได้ และพึงเป็นบทเรียนให้แก่บรรดาผู้อหังการ์ที่ทะนงตนในอำนาจทุนและอำนาจวาสนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายได้ตามอำเภอใจด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น