xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าแดงครองเมืองจะไม่หยุดแค่รัฐธรรมนูญ 2540 ! แต่จะแก้หมวดพระมหากษัตริย์ ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ชัดเจนแล้วนะว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรตัดสินใจเลือกที่จะไม่เดินตามแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เบื้องต้น 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอมาและรัฐบาลรับลูกโดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงประชามติก่อน พรรคเพื่อไทยจึงถอนตัวออกจากการประชุมวิป 3 ฝ่าย และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2552 อดีตนายกฯคนนี้ก็ประกาศชัดแล้วว่าจะไม่หยุดแค่นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้เท่านั้น แต่จะเดินหน้าแก้ไขหลักการสำคัญให้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475

“อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

จะเป็นเพียงการพูดแค่ให้เท่ ๆ หรือประสงค์จะให้มีวาทกรรมของระบอบใหม่แฝงเร้นเป็นสัญลักษณ์อยู่ดังที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ ท่านผู้อ่านต้องเรียงร้อยข้อมูลเก่า ๆ ประกอบวิจารณญาณด้วยตัวเอง

แต่ก่อนหน้านี้ เครือข่ายแดงหลายคนก็เคยพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่ล้วนอยู่ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 แทบทุกตัวอักษร

รูปธรรมชัดเจนที่สุดก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับคปพร. ของนพ.เหวง โตจิราการและนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ล่ารายชื่อประชาชนเสนอต่อประธานรัฐสภา และบรรจุคาอยู่ในระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภามากว่า 1 ปีเต็ม ซึ่งลอกรัฐธรรมนูญ 2540 มาทั้งหมด ยกเว้นบทเฉพาะกาลมาตรา 314 (รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ในมาตรา 292) ที่รับรองการคงอยู่ของคณะองคมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งก็ไปตรงกับหลักการที่นักวิชาการฝ่ายต่อต้านระบอบอมาตยาธิปไตยสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรเคยเสนอไว้ในรูปบทความทางวิชาการว่าไม่จำเป็นต้องมีคณะองคมนตรี และต้องทบทวนองค์กรและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กันใหม่หมด โดยเฉพาะหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่บัญญัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475

“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้...”

ซึ่งรวมไปถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ

นี่เป็นประเด็นที่ผมเขียนบอกเล่าและอภิปรายมาต่อเนื่องมากกว่า 2 ปีมาแล้ว

ล่าสุดไม่นานมานี้เอง คณะสามเกลอก็เปิดประเด็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 24 วรรคสองที่กำหนดให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ณ สถานการณ์หนึ่งที่เป็นรอยต่อ ซึ่งก็เป็นบทบัญญัติเดียวกับที่รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้

แสดงว่ามีความคิดในหมู่คนเสื้อแดงบางส่วนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์จริง !

หากท่านผู้อ่านติดตามวงสนทนาของคนเสื้อแดง และทัศนะของนักวิชาการที่แตะคนเสื้อแดงอยู่ ก็จะพบว่ามีข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อยู่อย่างน้อย 2 – 3 ประเด็น ที่เห็นว่าเป็นการขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย คนเสื้อแดงและนักวิชาการที่แตะคนเสื้อแดงอยู่กลุ่มนี้เสนอให้ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาอภิปรายเป็นประเด็นสาธารณะ และถือเป็นเป้าหมายที่ต้อง....

ลดพระราชอำนาจให้เหลือในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย !

ข้อเสนอ 2 – 3 ประเด็นที่ว่านี้ก็คือ....

หนึ่ง – ไม่ต้องมีองคมนตรี หรืออย่างน้อยถ้าจะมีองคมนตรี ก็ต้องไม่ใช่โดยการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์

“....ถ้าไม่เลิกองคมนตรีไปเลย ก็ต้องลดพระราชอำนาจเกี่ยวกับเรื่ององคมนตรีนี้ให้เหลืออยู่ในระดับที่เช่นเดียวกับอำนาจสาธารณะอื่น ๆ องคมนตรีถ้าจะมีก็ต้องไม่มีอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของสังคมหรือกระบวนการประชาธิปไตยโดยรวม”

ในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นคือคำของนักวิชาการคนหนึ่งที่แตะคนเสื้อแดงอยู่

สอง – การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ใช่แค่แจ้งให้รัฐสภารับทราบ

ในประเด็นนี้ธงที่พวกเขาชูคือ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่การเข้าสู่ตำแหน่งของประมุขของรัฐต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน

สาม – การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ต้องไม่ใช่พระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยต้องเป็นอำนาจของรัฐสภาเหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ธงที่พวกเขาชูในประเด็นนี้คือ กฎมณเฑียรบาลต้องไม่สูงกว่ารัฐธรรมนูญ

มีประเด็นสำคัญที่อาจถือเป็นประเด็นที่ 4 ได้เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมาย “ลดพระราชอำนาจให้เหลือในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย” เพียงแต่ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ

สี่ – พระมหากษัตริย์ไม่อาจมีพระราชดำรัสสด ๆ โดยพระองค์เองต่อสาธารณะได้

เมื่อครบทั้ง 4 ประเด็นนี้ ซึ่งอาจจะมีประเด็นเชื่อมโยงอีก จะนำมาสู่ประเด็นสำคัญสุดท้าย

ห้า – ทบทวนหลักการในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้...” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ในมาตรา 8

ในประเด็นที่ 2 นั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทยตั้งแต่ฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 มาจนถึงฉบับปี 2521 บัญญัติให้การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งแต่ฉบับ 2489 เป็นต้นมาเปลี่ยนจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐสภา เพิ่งมาเปลี่ยนหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534

แต่ควรทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงในปี 2534 ก็เพียงแยกเฉพาะกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว ให้แจ้งรัฐสภาเพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ต้องขอความเห็นชอบ แต่ในกรณีไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ยังต้องมีกระบวนการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบอยู่ด้วยเหมือนเดิม

ส่วนในประเด็นที่ 3 นั้น ก็เพิ่งแก้ไขหลักการถวายเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2534 เช่นกัน โดยก่อนหน้านั้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2489 เป็นต้นมา การแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ฉบับนี้ให้กระทำโดยวิธีการอย่างเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือเป็นอำนาจของรัฐสภา

แม้ประเด็นเหล่านี้จะยังไม่ได้เป็นฉันทมติของคนเสื้อแดงทั้งหมด และไม่อาจสรุปได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคิดไปไกลขนาดนี้เลยหรือไม่

แต่หากคนเสื้อแดงครองเมือง ไม่ว่าจะโดยวิธีใด จะเกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ขึ้น

รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ตามประเด็นเหล่านี้จะถูกจุดให้เป็น “ประเด็นสาธารณะ” แน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น