xs
xsm
sm
md
lg

คนSCIBต้านแบงก์นอกซื้อ หนุนกลุ่มทุนไทยรักษาเอกราชทางการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้สถาบันการเงินไทยเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ช่วงเวลานั้นมีบริษัทเงินทุนปิดตัวไปหลายสิบแห่ง ธนาคารพาณิชย์ไทยก็มีการควบรวมกัน รวมถึงมีหลายธนาคารที่เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น หลังเกิดวิกฤติครั้งนั้นทางการได้มีการแก้กฏหมายเพื่อเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในสถาบันการเงินไทย โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ไทยได้เกิน49% และยังสามารถให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้เต็ม 100% ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขสถานะและการดำเนินธุรกิจของธนาคารนั้นๆ

การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยหรือแม้กระทั่งธุรกิจอื่นๆ ของคนไทย ที่มีต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีอยู่ก็ได้พัฒนาตนเองมากขึ้น เมื่อมีข้อดี ทุกอย่างก็มีข้อเสีย ผลพวงจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทย หรือเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ ของคนไทย เงินกำไรที่ได้จากการลงทุนก็ต้องส่งกลับไปยังประเทศต้นทางของชาตินั้นๆ ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อระบบการเงินของประเทศ ในด้านการแข่งขันระหว่างธุรกิจที่เป็นของคนไทย กับธุรกิจของต่างชาติ ต่างชาติย่อมได้เปรียบกว่าในแง่มีฐานเงินทุนที่หนากว่าและเทคโนโลยีที่ดีกว่า ส่งผลให้ธุรกิจไทยไปแข่งด้วยได้ลำบาก หรือแม้กระทั่งการถูกผูกขาดธุรกิจนั้นๆ โดยต่างชาติ

เช่น กรณีสถาบันการเงินของต่างชาติบางชาติ เข้ามาซื้อหุ้นสถาบันการเงินไทยหลายๆ แห่ง พร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มไอเอ็นจี จากฮอลแลนด์ที่มีข่าวเสนอตัวเข้ามาซื้อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) SCIBอีก ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สัญชาติอังกฤษ ถือหุ้นในธนาคารนครธน(เดิม) อยู่เกือบร้อย 100% เอชเอสบีซี และธนาคารบาร์เคลย์ ธนาคารใหญ่อันดับ 3 ของอังกฤษ ต่างก็มีชื่อที่จะเข้ามาซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยอีก เช่นกัน แม้กระทั่งธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (ICBC) จากจีน ที่กำลังเสนอตัวซื้อธนาคารสินเอซีย ก็มีข่าวว่าสนใจที่จะซื้อ SCIB อยู่ด้วยเช่นกัน

การที่ธนาคารต่างชาติ สัญชาติเดียวกัน ต่างเข้ามาซื้อธนาคารไทย จะส่งผลให้ระบบการเงินไทยถูกครอบงำโดยชาตินั้นๆ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือแม้กระทั่งการเสียศักดิ์ศรีความเป็นชาติไทย ที่ต้องขายธนาคารให้กับบางประเทศที่ดูยังไงก็ไม่ได้ดีไปกว่าประเทศไทยซักเท่าไหร่ เช่น กรณี กลุ่มทุนจากมาเลเซีย คือ CIMB เข้ามาถือหุ้น ในธนาคารไทยธนาคารอยู่ประมาณ 93% แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบีไทย นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบของพนักงานธนาคารของไทยที่อาจต้องออกจากงานเมื่อธนาคารที่ตนเคยทำงานต้องกลายไปเป็นของต่างชาติ

ตอนนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กำลังเร่งขายธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ที่ กองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ประมาณ 47% ซึ่งมีข่าวกลุ่มนักลงทุนต่างชาติหลายแห่งดังได้กล่าวข้างต้นสนใจที่จะมาประมูล รวมถึงมีกลุ่มนักลงทุนไทย อย่างธนาคารธนชาต ก็ได้แสดงความสนที่จะเข้าไปประมูลซื้อหุ้น SCIB ด้วยเช่นกัน

นายสัณฑพงศ์  โสไกร “ชมรมประชาอาสา สังคมเข้มแข็งด้วยจิตอาสา” ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นในธนาคารไทยเกินร้อยละ 49 ว่า ธนาคารที่มีต่างชาติถือหุ้นใหญ่ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ใช้บริการชาวไทย ซึ่งเท่ากับไม่สนับสนุนธุรกิจของคนไทย หากภาครัฐขายกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยให้ต่างชาติอีก ถือว่ารัฐไม่สนับสนุนกิจการของคนไทย

การขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจะทำให้ธนาคารของไทยตกไปอยู่ในเงื้อมมือของต่างชาติอีก 1 ราย ผลเสียคงตกสู่คนไทยในหลายๆ ระดับ ทั้งระดับชาติที่เริ่มตั้งแต่ เม็ดเงินที่ได้จากการลงทุนของต่างชาติก็ถูกดูดซับส่งกลับไปยังต่างประเทศในทุกๆ ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทีละน้อย หรือ ในระดับของพนักงานคนไทยที่อาจตกระกำลำบากต้องหางานใหม่ หรืออาชีพอื่นที่ดูมั่งคงกว่า จริงอยู่ว่า ประเทศไทย ยังคงต้องการการลงทุนจากต่างชาติ หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขายธนาคารนครหลวงไทยให้ต่างชาติ ก็ไม่สมควรที่ธนาคารนครหลวงไทยจะตกไปเป็นของนักลงทุนต่างชาติสัญชาติเดียวกันกับที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารธนาคารไทยแห่งอื่นๆ อยู่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือครอบงำระบบการเงินของไทยโดยชาตินั้นๆ

หากเป็นไปได้ ภาครัฐน่าจะนึกถึง ศักยภาพของกลุ่มทุนไทย ที่เสนอตัวเข้าไปร่วมประมูลธนาคารนครหลวงไทยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ยังทำให้คนไทยรักษาธนาคารไทยได้อีก 1 แห่ง หรือถ้าคิดไปถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นแสดงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นชาติไทย ที่กลุ่มทุนไทย สามารถเข้าไปปกปักรักษาให้ธนาคารนครหลวงไทยยังมีกลุ่มคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น