xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คยันคุ้มครองสิทธิปชช. ใช้พ.ร.บ.มั่นคงป้องกันเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (14 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ"รัฐบาลกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ในมหกรรมงานสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม 2552 ณ ลานอเนกประสงค์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และองค์กรเครือข่ายว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชน ถือว่ามีอยู่โดยธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นโดยกฎหมาย หรือมีคนมากำหนดกติกา ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญโดยลำดับกับเรื่องสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 และ2550 ที่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิของคนไทยที่เขียนครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมของเรายังมีการละเมิดสิทธิอยู่หลายรูปแบบที่เข้ามากระทบสิทธิของประชาชน แต่เป็นเรื่องที่วิเคราะห์ที่มา หรือปัจจัยของสภาพปัญหาได้ ต้องยอมรับว่า ประเทศที่มีคนหลากหลายก็มีความขัดแย้งพื้นฐานก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน องค์กรจะต้องดูแลไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิ ต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน สิ่งที่คิดว่าเราจำเป็นต้องตระหนักมากขึ้นและรณรงค์ให้ตื่นตัว คือการละเมิดสิทธิจากการดำเนินงานในหัวข้อใหญ่ คือ
1. เรื่องการเมืองและการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการละเมิดสิทธิที่เกิดจากเอกชนทำกับประชาชน ก็มีกฎหมายดูแล แต่เมื่อเป็นหน่วยงานรัฐทำกับประชาชน คือความท้าทายที่ต้องมีระบบกลไกที่ดี เพื่อถ่วงดุลเพื่อป้องกันและเยียวยาการละเมิดจากหน่วยงานของรัฐ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เรามีปัญหาการละเมิดสิทธิที่เป็นผลมาจากความแตกต่าง หรือความไม่เข้าใจ หรือความผิดพลาดของนโยบายในอดีต เช่น ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเรื่องสัญชาติฯ ทั้งนี้ขอเรียนว่า การทำงานของรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิทุกด้าน
"และประเด็นที่ท้าทายสังคมอย่างมากคือ การละเมิดชุมชนที่เกิดจากการพัฒนา โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงขอเรียนว่าทุกด้านที่กล่าวมารัฐบาลพยายามจะเดินหน้าวางกลไก สร้างความเข้าใจ สร้างค่านิยม และคุ้มครองสิทธิให้มากยิ่งขึ้น"นายกฯกล่าว
สำหรับกรณีของพัฒนาที่ละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐบาลพยายามหาความสมดุล เช่น พื้นที่มาบตาพุด รัฐบาลมีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ และเร่งดำเนินการวางแนวทางตามมาตรา 67 วรรคสอง แต่ดุลพินิจเรื่องผลกระทบของรัฐบาลไม่ตรงกับศาล แต่เมื่อศาลมีการวินิจฉัยออกมาชัดเจน รัฐบาลก็พร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อหากรอบที่เป็นมาตรฐานในการดำเนินการต่อไป
จากนั้นนายกฯ นายกฯ กล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางการเมืองในประเทศไทยว่า การละเมิดสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย อยู่ในภาวะที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิที่ไม่มีขอบเขตตามรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มเติมได้ 1 ปีของรัฐบาลนี้ ตนให้แนวทางชัดเจนว่า ความแตกต่างทางความคิดในเรื่องของทางการเมืองเป็นเรื่องความแตกต่างโดยธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย และคนที่มีความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ หรือรัฐบาลย่อมมีสิทธิแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลก็ไม่ไปละเมิดสิทธิในการจะแสดงออกเคลื่อนไหวใดใดทั้งสิ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เราก็มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลายเรื่อง บางครั้งถูกหยิบมาเป็นปมความขัดแย้ง ซึ่งกฎหมายที่ถูกวิจารณ์รัฐบาลก็พยายามจะหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เป็นเครื่องทางการเมือง เช่น เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลก็ตั้งกลไกล และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้กฎหมายนี้ เพราะปัจจุบันบทบัญญัตินี้ถูกยกไปเป็นเครื่องมือให้คนทั่วไป ใช้แจ้งความร้องทุกข์อย่างกว้างขวาง ตรงนี้ก็เริ่มต้นศึกษาและมีคณะกรรมการช่วยกลั่นกรอง เพื่อให้การใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมของกฎหมาย
นอกจากนี้ส่วนเรื่องพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ การบังคับใช้ก็มีปัญหา ซึ่งรัฐบาลได้ระมัดระวัง และทบทวนเพื่อหาความสมดุลในเรื่องนี้
"แต่โดยสรุปขอยืนยันว่า จะไม่มีการใช้กฎมายใดใดเพื่อประโยชน์ในการทำลายล้างทางการเมือง และการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ"
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนการเคลื่อนไหวชุมนุม แม้มีการวิจารณ์ในเรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษ ตนขอยืนยันว่า เหตุผลที่รัฐบาลต้องใช้กฎหมายพิเศษ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนส่วนรวม เพราะบทเรียนจากเหตุการณ์เดือนเมษายน ที่มีการชุมนุมเกินเลยขอบเขต ไม่ใช่เรื่องของการแสดงออกทางการเมือง เพราะมีการประกาศชัดเจนที่จะขัดขวาง และก่อจลาจล ทำร้าย หรือมุ่งร้ายบุคคลอย่างชัดแจ้ง กรณีเชนนี้ไม่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รัฐบาลจึงจำเป็นในการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว มีเพียงผู้เสียชีวิต 2 คน ที่เกิดขึ้นช่วงที่มีการปะทะกันในชุมชนเท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามเหมือนเดือนเม.ย. แต่ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ หรือห้ามชุมนุมทางการเมืองเพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจรัฐบาลตรงนั้น เพียงแต่สามารถทำให้รัฐบาลบูรณการ การใช้บุคลากรเพื่อดูแลการุชุมนุม และให้อำนาจพิเศษกับรัฐบาลตามความจำเป็น เช่นเรื่องการตรวจตราการใช้เส้นทาง หรือ ตรวจอาวุธ
"อยากทำความเข้าใจตรงนี้ว่า การประกาศหรือยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร แต่เพื่อป้องกันความวุ่นวาย เพราะการชุมนุมเรียกร้องทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ผมย้ำว่า ที่สุดแล้วสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือ การที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่หลายประเทศที่มีประชาธิปไตยมีอยู่ ถ้าสามารถออกมาได้โดยไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การใช้กฎหมายพิเศษลดน้อยลงไปด้วย" นายกฯกล่าว
ส่วนกรณีของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหา เพราะจากนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต และการที่ต้องใช้เจ้าหน้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงไปในพื้นที่และใช้กฎหมายพิเศษ ต้องไม่นำไปสู่การใช้อำนาจทางที่ผิด หรือละเมิดสิทธิ รัฐบาลจึงเปลี่ยนระบบติดตามการร้องเรียน เพื่อช่วยติดตามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในส่วนของการเรียกตัว ควบคุมตัว จะมีการบันทึกชัดเจนว่า ใครสั่ง ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบเมื่อเกิดปัญหาในภายหลัง
"หวังว่าสิ่งที่เริ่มนำร่องใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทนกฎอัยการศึก ที่เปิดให้มีกระบวนการให้ผู้หลงผิดเข้ามาขอมอบตัวโดยสมัครใจ และจะยกเว้นในการรับผิดโทษทางอาญา ที่รัฐบาลเร่งศึกษาว่า จะมีวิธีการขั้นตอนอย่างไร ถ้าสำเร็จ ก็จะนำไปใช้ใน 3 จังหวัดและยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น