xs
xsm
sm
md
lg

ดันรัฐสวัสดิการในรธน.สกัดผู้มีอำนาจใช้ประชานิยมซื้อชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวระหว่าง เป็นวิทยากรบรรยายให้ผู้บริหารในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เข้าสัมมนาโครงการเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทาง การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐสภา ในหัวข้อ โรงเรียนกับการส่งเสริมประชาธิปไตยและสังคมสันติสุข ตอนหนึ่งว่า ความขัดแย้งการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นคู่ขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 ที่ได้สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
อีกทั้งยังลดความน่าเชื่อถือกับสถาบันหลักของชาติ ที่ต้องถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สั่นคลอนนิติรัฐที่ใครก็ได้สามารถลุกขึ้นท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายโดยในความแตกแยก ของชาติที่ร้าวลึกนี้ เกิดคำถามว่า ชาติไทยจะดำรงอยู่ได้นานเพียงใด
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของชาติอย่างไม่เป็นธรรม ในสังคมมีคนรวยร้อยละ 20 ได้ถือครองทรัพยากรชาติ 55 % ขณะที่คนจนร้อยละ 60 ถือครองทรัพยากรชาติเพียง 4 % เท่านั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมของสังคม
ความขัดแย้งที่มาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเพียงส่วนน้อยส่วนเดียว เท่านั้น ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นคนที่ค่อนข้างพ้นวัยทำงานหรือพ้นวัยทำงานแล้ว และเป็นคนที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ซึ่ง 14 ตุลานั้นนักศึกษาเป็นผู้นำขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการและไม่มีทุนไม่มีสื่อ ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีวิทยุ อาศัยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการประชาธิไตยในการเคลื่อนไหว แต่วันนี้ไม่มีนักศึกษาเป็นผู้นำ ผู้นำที่ในกระบวนการที่ก่อให้เกิดวิกฤตมีอายุ 50 ขึ้นไป ใกล้พ้นวัยทำงาน แต่ละฝ่ายมีทุนมหาศาล มีสื่อเป็นเครื่องมือทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และเรื่องที่นำมาพูดกันคือเรื่องการเล่นงานคนบางคนบางกลุ่ม หรือ เรียกร้องความเป็นธรรมให้บางคนบางกลุ่ม แต่ทุกฝ่ายมีประชาชนจำนวนมหาศาลขึ้นมาบังหน้า
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่าคำถามคือเมื่อครั้ง 14 ตุลา หรือ พฤษภา 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณฯ เสด็จลงมาดับร้อนผ่อน เย็นได้ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และผู้รักประชาธิปไตยกับรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อเกิดความขัดแย้งปราบปรามกันขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแน่พระทัยว่ารัฐบาลจะฟังพระองค์ท่าน ฉะนั้นการเสด็จ ลงมาดับร้อนผ่อนเย็น จึงให้วิกฤติยุติ
แต่วันนี้สถานการณ์ต่างกันภาพที่ออกมา คือประชาชนขัดแย้งกับประชาชน โดยมีผู้นำ 2 กลุ่มที่ใกล้วัยเกษียณหรือพ้นวัยเกษียณแล้ว เป็นผู้นำ คำถามคือว่า ถ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณฯลงมาดับร้อนผ่อนเย็นอีกแล้วคนเหล่านั้นไม่ฟังพระราชกระแสอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราไม่สมควรที่จะนึกไปดึงขอพระมหากรุณาธิคุณฯ ลงมาเหมือนเมื่อก่อน ต้องแก้กันเอง ต้องป้องกันกันเองว่าไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ สุภาษิตไทยบอกว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยากใครจะหวังดัดไม้แก่นอกจากจะหักหรือคนดัดก็คงจะเจ็บตัว ต้องคิดถึงไม้อ่อนคือเด็กและเยาวชนทั้งหลายในวันนี้ที่จะเป็นคนที่ สร้างสังคมและชาติในอนาคต
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข ทุกคนต้องมีศักดิ์ศรี ความเป็นคนต้องเท่าเทียม ในกฎหมายและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรสิ่งจำเป็น ในชีวิตทุกอย่าง
คนมั่งมีมหาศาลต้องพร้อมเฉลี่ยสุขช่วยคนที่ยากจน ต้องใช้ประชาธิปไตย ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสันติ เพราะเผด็จการนั้นผู้นำที่มีอำนาจ จะเป็นผู้ตัดสินใจแทนราษฎรที่มีฐานะเป็นผู้ตามเท่านั้น ไร้เสรีภาพ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างแต่ไร้ทางเลือก เพราะผู้บริหารระบอบเผด็จการจะเป็นความลับ ความดำมืด การทุจริตจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นอกจากนั้น อยู่เหนือกฎหมายใช้อำนาจ ตามอำเภอใจ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านเราสองสามประเทศบัญชาการอย่างไรศาลก็ฟัง ทุกคนต้องฟังเป็นระบบอธรรมภิบาลและมันสร้างปัญหาให้กับราษฎรตาดำๆ ที่อาจจะอดอยากและอดตาย แต่จากการศึกษาพบข้อเท็จจริงมีหลักฐานประจักษ์พิสูจน์ได้ว่าประเทศ ประชาธิปไตยไม่เคยมีคนอดตาย เพราะในประเทศเผด็จการไม่มีเสรีภาพ เสนอข่าวสารให้ผู้นำและประชาชนรู้ว่ามี ความอดอยาก ข่าวจะถูกกรองจนเหลือแต่ข่าวที่ผู้นำอยากจะฟัง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งแต่หากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีคุณภาพ เพราะผู้ได้รับเลือกตั้งสามารถคุมผู้เลือกตั้งด้วยเงินหรือสินบนอื่น เช่นนั้นก็จะเข้ามาถอนทุนก็กลับไปสู่ระบบอธรรมภิบาล เวลานี้พัฒนาแนบเนียม ขึ้นอาจจะไม่ใช่ซื้อเสียงในเวลาเลือกตั้งแต่ซื้อตอนที่เป็นรัฐบาลก่อนเลือกตั้ง ลด แลก แจก แถมสารพัด แต่จะใช้เงินขณะเลือกตั้งหรือใช้เงินวันนี้วัตถุประสงค์อันเดียวคือ สร้างการพึ่งพาพึ่งพิงให้ประชาชนผู้รับต่อนักการเมืองผู้ให้เป็นความสัมพันธ์แนวตั้ง แบบเดิม เพราะต้องให้ผู้นำการเมืองที่สูงกว่าและตัดสินใจ เป็นประชาธิปไตยอุปถัมภ์ ที่ผู้มีอำนาจการเมืองอยู่เหนือราษฎรที่เป็นผู้ตาม เป็นประชานิยมที่ราษฎรส่วนใหญ่จะเป็นราษฎรไม่ได้เป็นพลเมืองที่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ที่ไม่เห็นเรื่องของ บ้านเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นเรื่องของตัวเอง
ผมและเพื่อนนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าเราต้องแปลงประชานิยมของแต่ละรัฐบาล เป็นรัฐสวัสดิการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องนึกไปถึงการจัดระบบภาษี ที่ให้คนมั่งมีเฉลี่ยสุขให้คนจน ทั้งภาษีเงินได้ที่ต้องให้ฐานกว้างขึ้น ภาษีมรดก ภาษีจาการซื้อขายหุ้น เป็นต้นไม่ต้องรอให้รัฐบาลลดแลกหรือแจกแถม ประชานิยมไม่ดี เพราะเป็นการเอาเงินอนาคตมาใช้วันนี้แต่ผลักภาระหนี้ให้อนุชนรุ่นหลัง ถ้าประชานิยมรุ่งเรืองจริงดีจริงประเทศละตินอเมริกาคงไม่ล่มสลายไปหลายประเทศเพราะทำมาก่อนเราเป็นสิบปี ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา ชิลี และเปรู เป็นต้น หากทำให้ราษฎร ประชาชนเป็นพลเมืองมีจิตสำนึกมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งหมดจะนำมาซึ่งความโปร่งใส สุจริต ความรับผิดรับชอบในการเมืองในทุกระดับ จะเป็นต้นทางของธรรมาภิบาลของสังคมคุณภาพได้
กำลังโหลดความคิดเห็น