xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นลดฮวบตัวเลขGDPไตรมาส3-จาก4.8เหลือ1.3%เหตุเงินเยนแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตขยายตัวด้วยอัตราที่เชื่องช้ากว่าที่เคยคิดกันเอาไว้มาก โดยตามตัวเลขปรับปรุงล่าสุดที่สำนักนายกรัฐมนตรีนำออกเผยแพร่วานนี้(9) ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จีดีพีญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วยระดับเท่ากับปีละ 1.3% เท่านั้น หลังจากที่เคยคาดการณ์ขั้นต้นก่อนหน้านี้ว่าทำได้ถึง 4.8% ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าการฟื้นตัวอย่างอ่อนแรงของเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัย กำลังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยน
การปรับปรุงตัวเลขล่าสุดคราวนี้ยังหมายความว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งสามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งร้ายแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ในรอบเดือนกรกฎาคม-กันยายนปีนี้ทำอัตราเติบโตได้สูงกว่าช่วงไตรมาสก่อนหน้าเพียงแค่ 0.3% จากที่เคยคาดการณ์เบื้องต้นทำได้ 1.2%
สำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า เหตุผลหลักที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์เบื้องต้นเป็นอย่างมากเช่นนี้ มาจากตัวเลขยอดเงินลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งคือยอดรวมค่าใช้จ่ายที่บริษัทต่างๆ ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ กล่าวคือ มีการปรับลดตัวเลขนี้ลงมากลายเป็นว่ายอดเงินลงทุนได้หดตัวติดลบ 2.8% จากที่ตอนคาดการณ์เบื้องต้นให้ไว้ว่าขยายตัว 1.6%
ส่วนสาเหตุที่การลงทุนของภาคธุรกิจลดลงนั้น ปัจจัยประการสำคัญคือเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จึงกระทบต่อรายได้และกำไรของพวกผู้ส่งออก ทำให้บริษัทญี่ปุ่นชะลอการใช้จ่ายไว้ก่อนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังดูผันผวนไม่แน่นอน
นายกรัฐมนตรียูคิโอะ ฮาโตยามะ ยอมรับว่าการนำเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียให้พ้นจากภาวะชะงักงันเซื่องซึมยาวนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เขาก็กล่าวย้ำถึงผลดีของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศออกมาในวันอังคาร (8)
“ดังที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นกำลังรู้สึกกันอยู่แล้ว เศรษฐกิจไม่ใช่ว่ากำลังไปได้ดี” เขาบอกกับผู้สื่อข่าว “ผมจึงปรารถนาที่จะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมให้เดินหน้าต่อไป”
ทั้งนี้เมื่อวันอังคาร รัฐบาลของเขาประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวม 274,000 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรงกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งพวกโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อม การช่วยเหลือคุ้มครองไม่ให้มีการปลดพนักงาน และเงินช่วยเหลือชุมชนระดับท้องถิ่น
ก่อนหน้านั้นในสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ระบุว่าจะอัดฉีดเงินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปในตลาดการเงิน โดยการปล่อยกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ
ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับปรุงล่าสุดนี้ เลวร้ายกว่าที่พวกนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ ว่าน่าจะทำได้ ณ ระดับเท่ากับปีละ 2.7%
อันที่จริงในไตรมาส 3 นี้มีปัจจัยด้านบวก ได้แก่ตลาดต่างประเทศมีการฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น จึงช่วยให้ภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นดีขึ้น หลังจากที่ล้มฟุบไปในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว จนดีมานด์ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และสินค้าอื่นๆ ของแดนอาทิตย์อุทัยทรุดฮวบลงด้วย
ทว่าปัจจัยลบดังเช่น การที่ดีมานด์ในประเทศอ่อนตัว เงินเยนแข็งค่า และภาวะเงินฝืด ก็ทำให้การฟื้นตัวของญี่ปุ่นยังดำเนินไปด้วยความลำบาก
“ความรู้สึกต่อเรื่องเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในภาวะที่แย่มาก” มาซามิชิ อาดาชิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งเจพี มอร์แกนในโตเกียวกล่าว
“เหตุผลสามประการที่ทำให้ความรู้สึกของประชาชนย่ำแย่ก็คือเงินเยนแข็งค่า ภาวะเงินฝืด และความไม่ไว้วางใจต่อนโยบายของรัฐบาล”
ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว เงินเยนได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยอยู่ที่ 84 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีต้นทุนสูงขึ้นและผลกำไรน้อยลงเมื่อขายในตลาดต่างประเทศ หากคำนวณกลับมาเป็นเงินเยน
ในอีกด้านหนึ่ง ระดับราคาในญี่ปุ่นเองก็กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ จนทำให้ในเดือนที่แล้วรัฐบาลประกาศว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งแล้ว ภาวะเงินฝืดจะทำให้ผลกำไรของบริษัทลดลง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพราะหวังว่าราคาสินคาจะลดลงอีก
“หากภาวะเงินฝืดยังคงต่อเนื่องไปเป็นระยะยาว ก็จะกระทบถึงกำไรของบริษัทต่างๆ และเพิ่มภาระหนี้สินแท้จริงของบริษัทเหล่านี้” ฮิโรคาตะ คูซาบะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัยมิซูโฮ กล่าว
“หลายบริษัทอาจลดพนักงานลงไปอีก และจะลังเลยิ่งขึ้นกับการลงทุนเพิ่ม ความเป็นไปได้ประการหนึ่งที่อาจจะบังเกิดขึ้นก็คือว่าภาวะเงินฝืดจะยิ่งไปกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทรุดต่ำย่ำแย่ลง”
กำลังโหลดความคิดเห็น