xs
xsm
sm
md
lg

แด่ “น้าหมัก : สมัคร สุนทรเวช”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ผ่านมาแล้วประมาณสองสัปดาห์กว่าๆ ที่ยังมี “การกล่าวถึง-เขียนถึง” อดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ด้วยโรคมะเร็งที่ขั้วตับ อย่างต่อเนื่องแต่คงไม่มากเท่ากับช่วงที่เพิ่งสิ้นไปตอนปลายเดือนพฤศจิกายน

เหตุผลสำคัญที่มีการเขียนถึงท่านอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช อย่างมากมาย โดยเฉพาะสื่อแขนงหนังสือพิมพ์แทบจะทุกคอลัมน์ เนื่องด้วยความเป็น “นักการเมืองยิ่งใหญ่” และอยู่ใน “สนามการเมือง” ยาวนานประมาณถึง 41 ปี

คอลัมน์ “พระอาทิตย์สาดส่อง” ที่ “แสงแดด” เขียนนั้นมีเพียงสัปดาห์ละครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ดังนั้นในสัปดาห์นี้จึงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านเขียนถึง ท่านสมัคร สุนทรเวช ซึ่งอาจจะเป็น “ข่าวจาง” ลงไปแล้วไม่มากก็น้อย แต่ถ้า “แสงแดด” ไม่เขียนถึงเลยก็จะดูกระไรอยู่ และไม่สำคัญเท่ากับว่า “แสงแดด” เคยสบโอกาสสัมภาษณ์สนทนาพูดคุยกับท่านสมัคร สุนทรเวช หลายครั้งหลายครา ช่วงปี 2537-2540 และหลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้พบเจอกับท่านมากมายนัก เนื่องด้วยภารกิจของแต่ละฝ่าย

ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ยังเคยร่วมเป่าเค้กวันเกิดให้กับ “แสงแดด” เมื่อจบการอัดเทปรายการโทรทัศน์ สัมภาษณ์ท่านช่วงปี 2538 ถ้าจำไม่ผิดเกี่ยวกับเรื่องบ้านเมือง ซึ่งออกอรรถรสทุกครั้งที่ได้มีโอกาสสนทนาพูดคุยกับท่าน

และท่านยังเคยมีบัตรเชิญให้ไปร่วมงานวันเกิด “แซยิด” ของท่านแต่บังเอิญงานต้องล้มเลิกไปเพราะสาเหตุจากปัญหาของบ้านเมืองในขณะนั้น น่าจะเป็นช่วงปี 2540

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เป็น “นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่” ท่านหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตลอดจน “สร้างสีสัน” อย่างมากของท่านต่อสนามการเมืองไทย เริ่มตั้งแต่การเป็นสื่อสารมวลชนและเดินเข้าสู่สนามการเมือง เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว

บุคคลิกและอุปนิสัยใจคอของท่านสมัครเป็นคนโอภาปราศัย โผงผาง พูดจาตรงไปตรงมา ไม่กลัวใคร จนสามารถเอ่ยได้ว่าเป็น “คนปากจัด” และไม่เกรงกลัวที่จะตอบโต้อย่างทันควัน ทั้งนี้ บุคลิกแบบนี้ต้องเรียกว่าเป็น “คนปากร้ายใจดี!” และ “โกรธง่ายหายเร็ว!”

ชื่อเสียงของท่านสมัคร สุนทรเวช ตลอดจนบุคลิกภาพนั้นทุกคนจะเรียกขานท่านสมัครว่า “น้าหมัก” บ้าง “ลุงหมัก” บ้าง หรือ “ออหมัก” แต่ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของท่านคือ “จมูก” ที่สื่อมวลชนจะเรียกว่า “ชมพู่” หรือ “ชมพู่ผ่าซีก!”

ความที่ไม่เกรงกลัวใคร ท่านสมัครจะมีวิวาทะจนถึงขั้นทะเลาะกับนักการเมืองด้วยกันเอง แต่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับ “สื่อมวลชน” ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน เก่าเก๋าหรือใหม่ เมื่อสัมภาษณ์แบบไม่ถูกหู ท่านจะโต้ตอบกลับและบริภาษอย่างรุนแรง หรือพูดภาษาชาวบ้านก็หมายความว่า “ด่ากลับ!” ทันควัน

จะเรียกว่า “ปากจัด!” ก็ว่าได้ โดยเราคงเคยได้ยินการปะทะคารมของท่านสมัคร สุนทรเวช กับนักข่าวและนักการเมืองด้วยกันเองบ่อยครั้ง จนถึงขั้น “ชี้หน้า-หน้าดำหน้าแดง” กันเลยทีเดียว

จริงๆ แล้ว ท่านอดีตนายกฯ สมัครนั้น เป็นนักการเมืองที่อาวุโสมากๆ “แสงแดด” ลองมาคิดดูเล่นๆ พร้อมกันในวงสนทนาของพี่น้องสื่อมวลชน แล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าวงการการเมืองไทย ไม่มีท่านสมัคร ซักคนหนึ่ง การเมืองไทยอาจจะกร่อยไปเลย!”

การจากไปของ “นักการเมืองรุ่นเก๋า” นี้ถือว่า “ปิดตำนาน” กันไปเลยทีเดียว เนื่องด้วยตลอดระยะเวลา 41 ปี ของนักการเมืองรุ่นเก๋าท่านนี้ ได้เผชิญ “มรสุม-พายุการเมือง” มาอย่างโชกโชน

ในอดีตเท่าที่ “แสงแดด” ได้ยินได้ฟังเขาเล่าว่า มีหมอดูรายหนึ่งเคยทำนายทายทักท่านสมัคร ว่า วันหนึ่งจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนท่านสมัครเองถึงกับหัวเราะว่า มันจะเป็นไปได้ยังไง แต่น่าเชื่อว่าลึกๆ ในความคิดนั้น ก็คงมีความหวังว่า “น่าจะเป็นไปได้!”

แต่วันเวลาผ่านไป ท่านสมัคร สุนทรเวช น่าจะค่อยๆ ถอดใจเพราะว่า วันเวลาผ่านไปยาวนานถึงเกือบ 35-38 ปี จนในที่สุด หลังจากผ่านตำแหน่งทั้ง รัฐมนตรีช่วยฯ รัฐมนตรีว่าการฯ รองนายกรัฐมนตรีมาหลายครั้งหลายครา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในที่สุด

และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เมื่อ พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 1 ล้านกว่าเสียง จากแฟนๆ ชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านสมัครคงคิดว่า “นี่แหละคือ สิ่งที่หมอดูทำนายทายทักไว้” เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นั้นเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ว่าได้

ประมาณ 2-3 ปีหลังจากก้าวลงจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ท่านสมัคร โบกมือลาเวทีการเมืองไทยเหมือนกับ “เกือบล้างมือในอ่างทองคำ” ไปทำรายการโทรทัศน์สนทนาวิเคราะห์ข่าวกับคุณดุสิต ศิริวรรณ และโดยเฉพาะรายการอาหาร “ชิมไป บ่นไป”

ในที่สุด ปี 2550 ได้รับเทียบเชิญจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้มาดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคพลังประชาชน” หลังจากที่ “พรรคไทยรักไทย” ถูกยุบไปเพื่อนำธงพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และก็ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนชนะแบบขาดลอยได้ที่นั่งทั้งระบบ ส.ส.เขต และระบบสัดส่วนมากถึง 233 ที่นั่งจนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทย สมดังคำทำนายของซินแส ซึ่งท่านสมัคร ไม่ได้คิดไขว่คว้าอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า “ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้” หลังจากวันเวลาผ่านมาเกือบ 40 ปี

จริงๆ แล้ว ถ้าตรวจสอบชีวประวัติทางสนามการเมืองของท่านสมัครแล้ว ต้องบอกว่าเป็น “ขวาจัด” จนถึงขั้น “ขวาตกขอบ” เลยก็เป็นได้ จะก้าวล่วงเป็นถึง “อำมาตย์” ก็น่าจะได้เช่นเดียวกัน เพราะโจมตีขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงช่วงปี 2516-2519 สมัย 6 ตุลาคม 2519 และไม่สำคัญเท่ากับว่าเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 41 ปี สมัยท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับฉายาว่า “รัฐบาลหอย” เนื่องด้วยกองทัพเปรียบเสมือนเปลือกหอยที่ต้องคอยคุ้มกันรัฐบาลจากการปฏิวัติยึดอำนาจ และเพียรพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองที่ตั้งใจไว้ 12 ปี และก็ถูกยึดอำนาจในที่สุดอีกครั้งจากกองทัพในยุคนั้น ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ

ท่านสมัคร สุนทรเวช โลดแล่นอยู่บนสนามการเมืองมาโดยตลอดนับแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ปี 2511 และลาออกมาตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาก่อตั้งพรรคประชากรไทยในปี 2522 เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตัวจริงเสียงจริง

พรรคประชากรไทยและท่านสมัคร สุนทรเวชนั้น ได้รับคะแนนนิยมอย่างสูงจากชาวกรุงเทพมหานคร จนการเลือกตั้งทุกครั้ง ชาวกรุงเทพฯ จะเทคะแนนให้กับพรรคประชากรไทยอย่างท่วมท้น สาเหตุสำคัญเพราะชอบลีลา โวหาร ของเขา เรียกว่า มีแฟนๆ จำนวนหนึ่งที่คลั่งไคล้เขาอย่างมาก นับจนถึงปัจจุบัน

การที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่างได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าเป็น “นอมินีทักษิณ” ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่า “ความเป็นตัวของตัวเอง” ของท่านสมัคร สุนทรเวช จึงได้พยายามที่จะนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย “สติปัญญา-ความคิด” และ “บริหารบ้านเมือง” ของตนเอง จนมีการรวบรวมกลุ่มบุคคลใกล้ชิดเพียง 3-4 คน จนเป็นที่มาของคำว่า “แก๊งออฟโฟว์ (Gang of Four)”

จากการก่อตั้ง “แก๊ง 4 สหาย” ขึ้นมา จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มแกนนำต่างไม่พอใจ ในการไม่อยู่ใน “อาณัติ-บัญชาการ” ของ “นายใหญ่” จึงมีความพยายามที่จะกำจัดท่านสมัครให้หลุดจากตำแหน่ง

และในที่สุด “สมัคร” ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2551 จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวินิจฉัยให้สิ้นสุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะจากการเป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ไปรับค่าตอบแทนในการเป็นพิธีกรเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551

การหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ท่านสมัครสามารถกลับสู่ตำแหน่งได้อีก เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกกลับเข้ามาใหม่ เพียงแต่ว่า “โดนหักหลัง” เนื่องด้วยมี “ใบสั่ง” ให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนไม่โหวตให้กลับมาและคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ถูกโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี เราคงจำกันได้ที่ท่านสมัคร ถึงกับทรุดนั่งที่บันไดรัฐสภา

ปิดฉากนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 จาก “ใบสั่ง” ให้ทั้งเป็นและทั้งหลุด จนเครียดและเสียใจจนโรคร้ายรุม และถึงแก่อสัญกรรมในที่สุด สิริรวมอายุได้ 74 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น