แม้“สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรี จะถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านด้วยโรคมะเร็งตับ แต่ผลงานที่ทำไว้ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในทำเนียบรัฐบาล และนอกทำเนียบรัฐบาล(ร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย) แม้จะมีผลงานให้เห็นไม่มากเท่ากับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ เนื่องจากทำงานได้เพียง 7 เดือน (29 ม.ค.2551 - 9 ก.ย.2551)
จะเห็นจากผลงานและแนวคิดของนายสมัคร จากทางหน้าสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เท่านั้น
“นอมินีทักษิณ”
วันแรกในการเขารับตำแหน่งที่พรรคพลังประชาชน ขณะนั้น นายสมัครยอมรับว่า เขามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เพราะได้รับการขอร้องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ตั้ง 4 ข้อหาแรงผิดปกติ คือ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น สร้างความแตกแยกในสังคม และแทรกแซงองค์กรอิสระ
การเป็นนอมินีไม่ใช่คำที่เลวทรามต่ำช้า
“สมัคร” ย้ำว่า นอมินีเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจบ้านเมืองของไทย ทำให้เจริญจากที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยผ่านการเป็นนอมินี และตัวผมก็ยอมรับว่าเป็นนอมินีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ผมจะทำพรรคนี้ให้แข็งแรง เพื่อนำประเทศไทยกลับคืนมา และขอเป็นตัวเลือกของประชาชนในการรับอาสาเข้ามาซ่อมหลังคาประเทศไทยที่ทำไว้ดีเมื่อช่วง 5 ปีที่แล้ว
อุโมงค์ผันน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
"สมัคร"หลุดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก อัด “คุณพ่อเอ็นจีโอ” กลางเวที ที่ขวางเขื่อนแก่งเสือเต้น-ขุดแร่โพแทส โดยนายสมัคร ประกาศหนุนสร้างเขื่อน
ขณะที่หลายฝ่าย ค้านแนวคิด ที่จะขุดอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา เพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคอีสาน
กรณีนี้ เอ็นจีโอโต้กลับนายสมัครอย่างเผ็ดมัน โดยระบุว่า “ไม่มีหน้าที่ไปหาน้ำให้ใครใช้ และ ไม่รับเป็นพ่อใครด้วย แต่เอ็นจีโอ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นคนหนึ่งที่รักประเทศชาติ อยากเห็นรัฐบาลใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่า”
ถูกยกเป็น “แก๊งออฟโฟร์”
“สมัคร” และพรรคพวกถูกเรียกว่า “แก๊งออฟโฟร์” ที่ใช้เรียกในทางการเมืองไทยครั้งแรก ที่หมายถึง บุคคลสี่คนในพรรคพลังประชาชน ที่กล่าวกันว่า มีความพยายามจะยึดกุมอำนาจภายในพรรค หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย สมัคร สุนทรเวช ธีรพล นพรัมภาเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร) เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน และ หมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น
แต่หากจะมาดูที่ผลงานของนายสมัครซึ่งโพลล์สำนักต่างๆ ชี้ว่า “กรุงเทพโพลล์” ตลอด 3 เดือนการทำงานของ สมัคร สุนทรเวช พบว่า คนกรุงเห็นว่า “สมัคร” ความชั่วมีความดีปรากฎ ดังนี้
ไม่มีข้อดี...........................ร้อยละ 27.7
ไม่มีข้อเสีย........................ร้อยละ 5.6
กรุงเทพโพลล์พบว่า ข้อดีของ สมัคร ที่ประชาชนชอบมากที่สุด คือ เป็นคนตรงไปตรงมา กล้าพูด ร้อยละ 38.9ทำอาหารเก่ง รอบรู้เรื่องอาหาร ร้อยละ 9.8 มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ ตั้งใจทำงาน ร้อยละ 5.3มีความเป็นกันเอง ร้อยละ 1.8 ไม่มีข้อดี ร้อยละ 27.7 อื่นๆ เช่น รักสัตว์ แต่งกายดี ร้อยละ 2.9 และไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 13.6
ส่วนข้อเสียของ “สมัคร” ที่ควรปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด คือ พูดขวานผ่าซาก ปากไว ร้อยละ 59.9 อารมณ์ร้อน ขาดความสุขุมรอบคอบ ร้อยละ 9.5 ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาไม่ได้ ร้อยละ 5.1 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าส่วนรวม ร้อยละ 4.0 ไม่มีข้อเสีย ร้อยละ 5.6 และอื่นๆ เช่น ขาดมารยาทสังคม ร้อยละ 5.6
ขณะที่ผลสำรวจของ เอแบคโพลล์ พบว่า ประชาชนยังคงให้การสนับสนุน "สมัคร สุนทรเวช" มากกว่ากลุ่มที่ไม่สนับสนุน โดยพบว่า ร้อย ละ 45.4 สนับสนุน ร้อยละ 36.8 ไม่สนับสนุน และที่เหลือร้อยละ 17.8 ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือขออยู่ตรงกลาง
ทั้งนี้ “สมัคร สุนทรเวช” ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551
แต่เมื่อมาดูประวัติ ความประพฤติ พฤติกรรมและผลงานของนายสมัครในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
-ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตในการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาทในสมัยเป็นผู้ว่า กทม. ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติว่า มีมูล นายสมัครอาจต้องตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ถูกกล่าวหาว่า ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นบิดเบือนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า มีคนตายเพียงคนเดียว
- รวมถึงมติ ครม.ฉาว ที่ให้นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ หนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหารมรดกโลก
แต่ระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้นายสมัคร “ลาออก”
ทำให้นายสมัครไม่ได้เข้าทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไม่ได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล จนหมดหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐนตรีในขณะนั้น